ใบความรู้ที่ 6

เรื่อง  ระบบ ICT , ประวัติอินเทอร์เน็ต

ความหมาย ความสำคัญ  ลักษณะพิเศษ  วัตถุประสงค์และประโยชน์

รูปแบบ ประเภทของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 



ICT (Information & Communication Technology)


         I   =   Information       (ระบบสารสนเทศ)

         C  =  Communication (การสื่อสาร)

         T  =  Technology)   (เทคโนโลยี)


ป็นการใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร ที่รวมเอาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี (คอมพิวเตอร์)  มาช่วยในการประมวลผลข้อมูลให้มีความแม่นยำ รวดเร็ว ถูกต้อง และกลายเป็นสารสนเทศที่มีประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยใช้อุปกรณ์ทางการสื่อสารช่วยโยงใยไปยังคอมพิวเตอร์ที่อยู่ไกล การนำระบบ  ICT มาใช้ จะทำให้องค์กรได้รับความสะดวกรวดเร็วในระหว่างการดำเนินงาน ลดปริมาณผู้ดำเนินงาน ระบบการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีระเบียบ ลดข้อผิดพลาดของเอกสาร และลดปริมาณของเอกสารในระหว่างการดำเนินงานได้ (โดยเฉพาะกระดาษ) ในปัจจุบันมีการนำเอาระบบ ICT 

มาใช้อย่างกว้างขวาง เช่น ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์  (e–Library) การตลาดอิเล็กทรอนิกส์

(e-Marketing)  ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์   (e-Bank) ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์  (e-Mail) 

เงินอิเล็กทรอนิกส์  (e-Money) รวมถึงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  (e-Commerce)


 ประวัติความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต



อินเทอร์เน็ตมีพัฒนามาจากอาร์พาเน็ต  (ARPANET)  ซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายใต้การรับผิดชอบของ

อาร์พา (Advanced Research Project Agency)  ในสังกัดกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา  อาร์พาเน็ตในขั้นต้น

เป็นเพียงเครือข่ายทดลองที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนงานวิจัยด้านการทหาร ทำหน้าที่สนับสนุนงานวิจัยพื้นฐาน

ทั้งด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์โดยการกำหนดหัวข้องานวิจัยและให้ทุนแก่หน่วยงานอื่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนที่ทำงานวิจัยและพัฒนา อาร์พาได้จัดสรรทุนวิจัยเพื่อทดลองสร้างเครือข่ายให้คอมพิวเตอร์สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ในชื่อโครงการ “อาร์พาเน็ต”  (ARPANET)  วันที่ 2 กันยายน  พ.ศ. 2512  

ได้มีการทดลองเชื่อมโยง IMP ระหว่างมหาวิทยาลัย 4 แห่ง โดยมีโฮสต์ (Host) ต่างชนิดกันที่ใช้ในระบบปฏิบัติการ

ต่างกัน  เครือข่ายที่เชื่อมโยงมหาวิทยาลัย ทั้ง 4 แห่ง นับเป็นจุดกำเนิดของอาร์พาเน็ตก่อนที่จะพัฒนาจนกระทั่งกลายเป็นอินเทอร์เน็ตในเวลาต่อมา  เดือนตุลาคม  พ.ศ. 2525   ยุคของโพรโทคอล   ทีซีพี/ไอพี  หนึ่งปีให้หลังจากงาน ICCC  

อาร์พาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น  “ดาร์พา” (Defense Advance Project Agency) และได้เริ่มงานวิจัยโครงการใหม่เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ซึ่งจะรับส่งข้อมูลถึงกันได้ย่อมต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่กำหนดวิธีการสื่อสารถึงกัน ข้อตกลงระหว่างกันนี้เรียกตามศัพท์เทคนิคว่า   “โพรโทคอล” (Protocol)  Protocol  เป็นข้อกำหนด

ที่อธิบายวิธีสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการออกแบบโปรแกรมไม่ว่าคอมพิวเตอร์

ในเครือข่ายจะมีฮาร์ดแวร์แตกต่างกันหรือไม่  ก็ตาม หากว่าทำงานตาม Protocol  ที่กำหนดแล้วก็สามารถสื่อสารถึงกัน

ได้เสมอ Protocol ที่ใช้ในระยะต้นของอาร์พาเน็ตเป็น Protocol  ที่เรียกว่า Network Control Protocol ซึ่ง Protocol นี้   

มีข้อจำกัดด้านรูปแบบของการใช้สายสื่อสารและจำนวน Host  ที่จะเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน


ความหมายของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

e-Commerce หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบที่เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าและบริการ หรือธุรกรรมต่างๆ ที่ผ่านคอมพิวเตอร์ และระบบสื่อสารโทรคมนาคม (อินเทอร์เน็ต)  มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่ม ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า หรือบริการ ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 


ความสำคัญของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์



ปัจจุบันเทคโนโลยีได้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การติดต่อค้าขายมีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

เพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลา  ตลอดจนช่วยเพิ่มมูลค่าและปริมาณในทางการค้า  ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสเข้าสู่ตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น  และขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้บริโภค ได้มีทางเลือกมากขึ้น เช่นกัน  พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) มีส่วนผลักดันให้สินค้าไทยสามารถขายได้ในระดับโลก  นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย  การนำเอาผลิตภัณฑ์สินค้าในชุมชนและวัฒนธรรมพื้นบ้านมาสู่ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  และพยายามต่อยอดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอินเทอร์เน็ต จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างมาก


 

ลักษณะพิเศษของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์


1)  เป็นธุรกิจที่ไม่มีพรมแดน  ผู้ทำการซื้อขายบนอินเทอร์เน็ตไม่มีเขตแดนภูมิประเทศไม่มีข้อจำกัดในเรื่อง

ระยะทาง  การค้าบนอินเทอร์เน็ตจะมีลูกค้ากระจายอยู่ทั่วโลก จึงมีตลาดขนาดใหญ่ที่หลากหลาย  มีลูกค้าหลายระดับ

รายได้หลายกลุ่ม

2)  เป็นธุรกิจที่เปิดทำการตลอด  24  ชั่วโมง  ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่าย ที่ทำงานด้วยตัวเองตลอดเวลา  

จึงจำหน่ายสินค้าและบริการให้ผู้คนทั่วโลกในเวลาต่างๆ กันได้

3)  สามารถโต้ตอบได้ทันทีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อประเภทปฏิสัมพันธ์ซึ่งติดต่อกันได้ ผู้ขายสามารถตอบข้อสงสัย

ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับลูกค้าได้ทันที หรือให้บริการข้อมูลภายหลังการขายแก่ลูกค้าได้รวดเร็ว เช่น การยืนยันการสั่งซื้อ  

การแจ้งการรับชำระเงิน เป็นต้น

4)   เป็นการใช้สื่อผสม (Multi-media)   มีทั้งเสียง ภาพ ข้อความ ข้อมูลข่าวสาร  Video เพื่อสร้างความสนใจ

แก่ลูกค้า  สร้างความสัมพันธ์ต่างๆ กับลูกค้า  ใช้เว็บไซต์ทำหน้าที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็น Showroom  เป็นบูธ

แสดงสินค้า  เป็นแค็ตตาล็อกที่ให้ข้อมูลข่าวสาร  เป็นพนักงานงานขายด้วย  รวมทั้งเป็นสื่อในการส่งมอบสินค้าได้ 

โดยการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ เช่น การซื้อขายข้อมูล โปรแกรมคอมพิวเตอร์  การให้คำปรึกษา  ดนตรี  เป็นต้น

5)  มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ  เนื่องจากการประหยัดค่าเช่าสถานที่  ประหยัด  ค่าจ้างบุคลากร  ประหยัดเงินลงทุน

ในสินค้าคงคลัง  ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดำเนินงานได้มาก  ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่เปิดร้านค้าบนอินเทอร์เน็ต

อาจไม่ต้องเสีย  มีเว็บไซต์บางแห่งให้บริการฟรีในการเปิดบริการร้านค้า  หรือ  ติดป้ายชื่อร้านค้าโฆษณาอยู่ในขณะนี้  หรือเสียค่าบริการต่ำมาก 


วัตถุประสงค์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์


วัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์   มีดังนี้

1.  เพื่อเพิ่มช่องทางในการทำการตลาดและขยายช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะลูกค้าในต่างประเทศ

2.  เป็นการประชาสัมพันธ์สินค้า หรือบริการให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

3.  เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคโดยไม่ต้องเสียเวลา หรือเดินทางมาซื้อสินค้าหรือบริการด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตามพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่สามารถสรุปได้ดังนี้



ข้อดีและข้อเสียของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

ข้อดี


1.  สามารถดำเนินการได้  24  ชั่วโมง

2.  ดำเนินการค้าอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ไร้พรมแดน

3.  สามารถประชาสัมพันธ์สินค้า หรือบริการได้ทั่วโลกโดยใช้งบประมาณลงทุนน้อย

4.  ตัดปัญหาการเดินทาง


ข้อเสีย


1.  ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต 

2.  ประเทศของผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีกฎหมายรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ

3.  ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ

4.  การดำเนินการด้านภาษีจะต้องชัดเจน

 

 

ประโยชน์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์


ประโยชน์ของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์


ประกอบด้วยประโยชน์ต่อผู้บริโภค ต่อผู้ผลิต  และประโยชน์ต่อผู้จัดจำหน่าย  คือ

1.   ประโยชน์ต่อผู้บริโภค

1)   ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการซื้อสินค้า

2)   มีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น

3)   มีสินค้าและบริการให้เลือกซื้อมากขึ้น

4)   ทำให้ราคาสินค้าและบริการถูกลง เพราะไม่ต้องผ่านคนกลาง

5)   มีข้อมูลเพื่อใช้เปรียบเทียบราคาและคุณภาพก่อนการตัดสินใจซื้อ


2.  ประโยชน์ต่อผู้ผลิต

1)   สามารถเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายได้มากขึ้น

2)   สามารถขยายตลาดใหม่ได้มากขึ้น

3)   สร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้มากขึ้น

4)   ลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บเอกสาร


3.  ประโยชน์ต่อผู้จัดจำหน่าย

     1)   สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วโลกและเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น

2)   ลดต้นทุนและเวลาในการจัดจำหน่าย

3)   สร้างความเท่าเทียมกันในผู้จำหน่ายรายย่อยและรายใหญ่

4)   ลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้า  เพราะสามารถลดจำนวนสินค้าคงคลังลง

    5)  สามารถโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าได้กว้างขวางขึ้น

    6)  สามารถทำตลาดและให้บริการกับลูกค้าเป็นรายบุคคลได้



รูปแบบของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

รูปแบบของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

การประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีช่องทางการจัดจำหน่ายได้หลายรูปแบบดังนี้

1)     การขายตรงไปยังผู้ค้าส่ง  ผู้ค้าปลีก  หรือธุรกิจกับธุรกิจ   (Business to Business : B-to-B)

เป็นการค้าขนาดใหญ่ระหว่างองค์การกับองค์การ  ผู้ผลิตกับผู้ผลิต ผู้ผลิตกับผู้ส่งออก เป็นต้น จะมีการสั่งซื้อสินค้า

จำนวนมาก มีมูลค่าสูงในการซื้อขายแต่ละครั้ง การชำระเงินจะผ่านระบบธนาคาร เช่น T/T  L/C  ฯลฯ

2)     การขายตรงไปยังผู้บริโภค หรือธุรกิจกับผู้บริโภค  (Business  to  Consumer : B-to-C)

เป็นการค้าปลีกจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค จากพ่อค้าขายส่งไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งปริมาณการขายจะมีปริมาณ

ปานกลาง หรือการค้าแบบล็อตใหญ่ หรือเหมาโหล หรือการค้าส่ง ขนาดย่อยไว้ด้วย  ส่วนใหญ่จะชำระผ่านบัตรเครดิต และการค้าแบบ B-to-C นี้ก็มักทำให้เกิดการค้าแบบ B-to-B ในอนาคตได้ และหลายบริษัทมักทำกิจกรรมสองอย่างนี้

ในคราวเดียวกัน

3)     การขายตรงสู่ผู้บริโภคด้วยกันเอง หรือผู้บริโภคกับผู้บริโภค (Consumer to Consumer :

C-to-C)  เป็นการค้าปลีกระหว่างบุคคลทั่วไป  หรือระหว่างผู้ใช้อินเทอร์เน็ตด้วยกัน  อาจจะเป็นการขายสินค้าหรือ

เครื่องใช้ที่ใช้งานแล้ว รวมทั้งปัจจุบันมีการเปิดเว็บไซต์มาเพื่อขายซอฟต์แวร์ที่ตนเองพัฒนาขึ้นด้วย

4)     การขายตรงให้หน่วยงานราชการ หรือธุรกิจกับรัฐบาล (Business to Government : B-to-G)

เป็นการค้าระหว่างธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐบาล  เช่น กระทรวง  กรม กอง  ซึ่งเป็นการค้าที่มีมูลค่าสูง

5)     การขายตรงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (Government to Government :G-to-G) เป็นการค้า

ที่เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน เช่นการค้าระหว่างการไฟฟ้านครหลวงกับกระทรวง ทบวง กรม หรือการค้าระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล  เช่น รัฐบาลไทยส่งข้าวไปขายให้รัฐบาลของประเทศอิหร่าน  เป็นต้น

 

 ประเภทของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์





ประเภทของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1)     ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตโดยตรง  ได้แก่การรับจดทะเบียนโดเมนเนมตั้งเว็บไซต์อีเมล

บริการเคาน์เตอร์ หรือซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตโดยตรง 

2)     ธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์  ได้แก่  การขายซอฟต์แวร์ต่างๆ รวมทั้งฮาร์ดแวร์ด้วยโดยเฉพาะด้านการขาย

ซอฟต์แวร์สามารถดาวน์โหลดผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง

3)     ธุรกิจทางด้านการท่องเที่ยว  เป็นธุรกิจแรกที่เติบโตอย่างรวดเร็วบนระบบอินเทอร์เน็ต ได้แก่ 

การจองโรงแรม จองตั๋วเครื่องบิน  จองแพ็กเกจทัวร์ต่างๆ เป็นต้น

4)     ธุรกิจด้านการส่งออก  เป็นการเปลี่ยนวิธีการค้าแบบเดิมซึ่งเคยต้องส่งแค็ตตาล็อกสินค้าไปให้คู่ค้า

ทั่วโลก  ก็หันมาใช้การทำเว็บเพจ หรือการโฆษณาผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

5)     ธุรกิจค้าปลีกสินค้าทั่วไป  ผู้บริโภคในซีกโลกตะวันตกสามารถปรับตัวเข้าสู่ระบบการค้าปลีก

บนเว็บได้โดยไม่ยากนัก  เพราะจะคุ้นเคยกับการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางระบบไปรษณีย์ หรือแค็ตตาล็อกอยู่แล้ว แต่คราวนี้

มีความตื่นตาตื่นใจมากกว่าแต่ก่อนด้วยเพราะเป็นสินค้าที่มีการเสนอขายมาจากทั่วโลก  เพียงแต่ผู้ขายผ่านเว็บจะต้อง

ปรับตัวสินค้าและราคา  ให้สอดคล้องกับความต้องการเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว