ขุมชนบ้านท่างาม หมู่ 2 ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก

ประเพณีบุญกลางบ้าน


เป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านานของชาวบ้าน ซึ่งจะจัดขึ้นในราวเดือน 3-6 โดยผู้เฒ่าหรือผู้นำชุมชนจะเป็นผู้กำหนดวันทำบุญและทำพิธีสะเดาะเคราะห์ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวบ้าน หลังพิธีสงฆ์จะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน และมีการละเล่นพื้นบ้านเก่าแก่มีชุมชนที่มาจากเชื้อชาติต่าง ๆ มาอยู่ร่วมกันทั้งคนไทย ซึ่งอพยพมาตั้งแต่คราวเสียกรุงศรีอยุธยาอยู่ที่วัดโบสถ์ นอกจากนี้ชุมชนเชื้อสายลาวซึ่งมาอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ปัจจุบัน คือ บริเวณหมู่บ้านท่างาม ดังนั้น ประเพณีบุญกลางบ้านในแต่ละแห่งจึงมีรายละเอียดแตกต่างกันเล็กน้อย อันเนื่องมาจากความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมของเชื้อชาตินั้น ๆ อย่างไรก็ดี งานบุญกลางบ้านนั้นมีมาแล้วนับร้อยปีและยังคงดำรงสืบทอดต่อ ๆ กันมาโดยตลอดในการทำบุญกลางบ้านนี้ ไม่ว่าชุมชนเชื้อชาติใดก็ตามมักถือคติการทำบุญที่คล้ายๆกัน คือ ลูกหลานญาติจะนำอัฐิบรรพบุรุษหรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วมาทำพิธี รำลึกถึงเจ้ากรรมนายเวร ภูตผี เทวดา เพื่อจะอยู่ดีมีแรง อยู่เย็นเป็นสุข สะเดาะเคราะห์ เสียเคราะห์ เป็นสิริมงคลและร่มเย็นเป็นสุขสิ่งที่ได้จากการทำบุญกลางบ้านทางอ้อม คือ ความสามัคคี การช่วยเหลือกัน มีการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ และปัญหาต่างๆ ปรึกษาหารือช่วยกันแก้ไข

วิธีการดำเนินงาน

1. ตั้งปะรำปูพื้น ขึงผ้าม่าน บางแห่งปูพื้นด้วยแผ่นไม้ บางแห่งใช้เสื่อโดยเลือกสถานที่ที่เป็นที่ว่าง กลางหมู่บ้านหรือกลางท้องนา

2. การกำหนดสถานที่อาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม เช่น บางปีนํ้าท่วมขังก็ย้ายที่ใหม่

3. จัดที่ตั้งพระพุทธ บางแห่งอาจมีการแห่พระพุทธรูปมาประดิษฐานด้วย ที่วางบาตรนํ้ามนต์ บางสถานที่จะจัดตั้งศาลเพียงตา บางแห่งจะใช้เพียงต้นเสา 1 ต้น วางไม้พาดเป็นตัวที เรียกว่า ศาลเทวดา ไว้สำหรับไหว้บรรพบุรุษ หรือเจ้าที่ โดยส่วนใหญ่จะทำนอกปะรำพิธีสงฆ์

4. ตอนเย็นนิมนต์พระ 9 รูป หรือมากกว่านี้มาสวดมนต์เย็นชาวบ้านจะมาฟังสวดมนต์ ในบางแห่งที่ชุมชนมีเชื้อสายไทย (วัดโบสถ์ วัดหลวงสวนตาล) จะมีการตีฆ้อง 3 ครั้ง หลังจากพระสวดจบ 1 บท แต่ในบางแห่ง เป็นการสวดมนต์ธรรมดาไม่มีการตีฆ้อง สำหรับการละเล่นนั้น หลังเลิกสวดมนต์แล้วบางแห่งก็มีบางแห่งก็ไม่มี การละเล่น ก็คือ หมอลำลิเก (ร้องกันเอง) รำวง

5. เช้าวันรุ่งขึ้น นิมนต์พระมาฉันเช้า ชาวบ้านจะนำอาหารมารวมกันตักแบ่งถวายพระ บางแห่งอาจมีการเผาข้าวหลามถวายพระด้วย การเตรียมอาหารแล้วศรัทธาของแต่ละบุคคลบางพื้นที่อาจตกลงกันว่าใครจะทำอะไรก็ได้

6. หลังเสร็จพิธี ชาวบ้านจะมานั่งรับประทานอาหารร่วมกัน โดยจะไต่ถามถึงสารทุกข์สุกดิบ ความเป็นอยู่ ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน บางพื้นที่มีความเชื่อจะต้องรับประทานให้หมด ไม่นำกลับบ้าน เช่น ที่ชุมชนบ้านท่างาม แต่โดยปกติเมื่อเหลือมักตักแบ่งกันไป หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันกลับบ้าน การใส่บาตร จะทำที่วางบาตรไว้โดยใช้ผ้าหรือทำที่ใส่บาตรเฉพาะ โดยนำมาวางเรียงกันไว้เมื่อพระสวดพาหุง 8 ทิศ ชาวบ้านจึงเริ่มใส่บาตรได้ การกำหนดวันจะกระทำกันในราวเดือน 3 - 6 โดยผู้เฒ่าผู้แก่หรือชาวบ้านจะเป็นผู้ร่วมกันกำหนดวันทำบุญ โดยถือเอาวันว่างและสะดวก ชาวชลบุรีมีความเชื่อซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่อธิบายว่า ข้าวดำ ข้าวแดง โบราณว่า เป็นอาหารของผีกิน ข้าวดำ ใช้ข้าวผสมรวมกับก้นกระทะ ข้าวแดง ใช้ข้าวผสมกับปูนกินหมาก หรือขมิ้น ผักพร่าปลายำ ใช้ นํ้าพริก อะไรก็ได้หั่นผักบุ้งละเอียด ๆ ผสมรวมกันลงไปใส่ปลาด้วย การหยาดนํ้าของพระสงฆ์ในกระทง หมายถึง เป็นการส่งผีปู่ ผีย่า ผีตา ผียาย ขึ้นสวรรค์ ในการกรวดนํ้าพระจะสวดบท ภุมมัสสิง ทิสา ภาเค... การที่กระทำบุญในเดือน 3 กลางเดือน โบราณว่าเป็นวัน "กบไม่มีปาก นาคไม่มีก้นขี้”หมายความว่า กบร้องที่ไหน คนก็จะตามเสียงร้องนั้นไปและไปจับมากิน พญานาคเมื่อกินอาหารแล้วไม่ถ่ายออกมาก็ไม่หิว อาหารก็จะเหลืออยู่ ซึ่งหมายความว่า บุคคลผู้ทำบุญเดือน 5 กลางเดือน จะเป็นผู้อยู่รอดปลอดภัยและอุดมสมบูรณ์เหลือกินเหลือใช้


ผู้ให้ข้อมูล นางทัศนีย์ โคกพุ่ม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2

ผู้เขียน/ผู้เรียบเรียง สงกรานต์ ชื่นใจชน ครู กศน.ตำบล

ผู้ถ่ายภาพ สงกรานต์ ชื่นใจชน ครู กศน.ตำบล