ชุมชนบ้านท่างาม หมู่ 2 ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก

ภูมิปัญญาท้องถิ่น การสานแห


ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการสานแห เริ่มมาจากสมัยก่อนนั้น ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวภาคเกษตรกรรม มีการทำมาหากินตามธรรมชาติ จับปลาโดยใช้เป็ด ยกยอ และใช้แหเป็นเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำ เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารการกิน เลี้ยงดูครอบครัว ซึ่ง นายเจริญ สุมพุ่ม บ้านเลขที่ 338 หมู่ 2 บ้านท่างาม ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ได้สืบทอดภูมิปัญญาการสานแห หรือที่เรียกว่าถักแห ก็ได้ มาจากบิดา โดยเริ่มมีความสนใจการสานแห มาตั้งแต่วัยเด็ก และได้ลองผิดลองถูกเรื่อยมา รวมทั้งได้ศึกษาหาความรู้และเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมามีความแข็งแรง และทนทานอีกด้วย


แห เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ถักเป็นตาข่ายใช้ทอดแผ่ลงในน้ำ แล้วต้องดึงขึ้นมา เพื่อการยังชีพ หรือเพื่อประกอบอาชีพของคนชั้นล่างของสังคมที่กล่าวเช่นนี้ เพราะยังไม่เคยเห็นคนชั้นสูงหรือคนชั้นกลางใช้แหเพื่อหาปลาเป็นอาหาร หรือหาปลาเพื่อการจำหน่ายเป็นประจำ แต่จะเป็นครั้งคราวของบุคคลชั้นดังกล่าว เพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลินในยามว่างหรืออาจจะมีบ้างที่บางคน อดีตเคยเป็นชาวบ้านธรรมดาอยู่ตามชนบท ตอนหลังอพยพเข้าสู่ตัวเมืองและเปลี่ยนอาชีพในสังคมเมือง ฐานะดีขึ้น จึงอยากระลึกถึงอดีตของตัวเองเท่านั้นเอง ดังนั้น แหจึงถือเป็นเครื่องมือเพื่อการยังชีพ หมายถึงใช้จับปลาเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวันและใช้ประกอบอาชีพ คือใช้จับปลาเพื่อการจำหน่าย ของชาวบ้านในชนบทซึ่งเป็นฐานะทางสังคม แหถือเป็น ภูมิปัญญา ของชาวบ้านที่แท้จริง เพราะมันคือส่วนหนึ่งของชีวิต ให้ชีวิตมีห่วงโซ่เรื่องอาหาร และรายได้ในชีวิตประจำวัน แหจึงได้รับการพัฒนาและเอาใจใส่ เริ่มจากการได้รับการถ่ายทอดเบื้องต้นจากบรรพบุรุษ แล้วลองผิดลิงถูกจนเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์เฉพาะตัวของบุคคล ความแตกต่างของความเชื่อ เรื่องแห ทั้งโครงสร้าง ขนาด วิธีทอด วิธีย้อม และวิธีต่างๆ ที่ดีแล้วคล้ายๆกัน แต่ลึกๆแล้วมีหลายอย่างที่แตกต่างกัน ซึ่งก็แล้วแต่ความเชื่อจากวิธีปฏิบัติจริงๆ และได้ผลที่ต่างกันของบุคคล จนกลายเป็นประสบการณ์และภูมิปัญญาของตนเองในที่สุด นี่เองที่นักวิชาการเพิ่งเห็นความจำเป็น เข้าใจและเลือกใช้คำว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ความจริง แห เขาใช้ทอด เหวี่ยง (ภาคกลาง) หรือตึก (ภาคอิสาน) เพื่อหาปลาในนาเท่านั้น บ่อยครั้งที่แหใช้ทอดบนบก ก็มีในบางกรณี บางโอกาส เช่น ใช้ทอดหรือตึกเพื่อจับไก่ เพื่อจับงู เพื่อจับหมา จับกบ ต่างกรรมต่างวาระ ดังกล่าว มาจากการไล่จับจนหมดแรงแล้ว จึงต้องทุนแรงโดยการพึ่งแห ซึ่งเป็นวิธีสุดท้ายอย่างไรก็ตาม บทความนี้ ก็คงให้รายละเอียดในบางเรื่อง บางประเด็นที่ที่เกี่ยวกับแหเป็นมุมมองเชิงมนุษย์วิทยาวัฒนธรรม ให้ผู้อ่านที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่า แห คืออะไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร มีความยาก ง่าย เกี่ยวกับวิธีสาน ความเชื่อที่เกี่ยวกับแห และหน้าที่เฉพาะของแห เพื่อเสริมแต่งความรู้ แก่ผู้สนใจให้เข้าใจและบันทึกองค์ความรู้หนังสือ แม้จะไม่สมบูรณ์นัก

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1) ด้าย

2) ไม้ปา (ทำจากไม้ไผ่)

3) คัดชุน (ทำจากไม้ไผ่/พลาสติก)

4) ไฟแชค/ธูป

5) โซ่ (ลูกแห)

ขั้นตอนการผลิต

1) ขึ้นจอมแห โดยใช้เชือกด้ายเบอร์ 4 เบอร์ 6 หรือเบอร์ 9 ก็ได้

2) ถักแหขนาด 16 เสา (หรืออาจจะเรียกว่า 16 ขา) โดยในขั้นตอนนี้การถักจะใช้วิธีถักไปเรื่อยๆ โดยเวียนให้ครบ 2 รอบแล้วจึงขยายเพิ่มเสาละ 1 ช่อง หรือที่เรียกว่า 1 ตา ทำไปเรื่อยๆจนครบ 16 ขา โดยการถักแหนี้มีหลายขนาด ถ้าต้องการแหขนาด 8 ศอก จะต้องหยุดขยายตาเมื่อถักไปจนถุง 8 ศอก ถ้าต้องการแหขนาด 9 ศอก จะต้องหยุดขยายตาเมื่อถักไปจนถุง 7 ศอก

3) เทคนิคการเย็บจะขึ้นอยู่การดึงและการพันด้าย

4) เมื่อได้ขนาดที่ต้องการแล้ว ให้ตัดลูกแห (โซ่ เบอร์ 13 ) ทั้งนี้การใส่ลูกแหจะขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าต้องการความหนัก เบา เท่าใด โดยลูกค้าสามารถกำหนดน้ำหนักเองได้


ผู้ให้ข้อมูล นายเจริญ สุ่มพุ่ม

ผู้เขียน/ผู้เรียบเรียง สงกรานต์ ชื่นใจชน ครู กศน.ตำบล

ผู้ถ่ายภาพ สงกรานต์ ชื่นใจชน ครู กศน.ตำบล