ประเภทโครงาน

และที่ปรึกษา

ประเภทของโครงงาน

โครงงาน PBL สำหรับช่วงชั้นมัธยม แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆคือ


โครงงานสำรวจ (What it is)

เป็นการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วนำข้อมูลมาจำแนกเป็นหมวดหมู่ และนำเสนอแบบต่างๆ อย่างมีแบบแผน เพื่อให้เห็นถึงลักษณะหรือความสัมพันธ์ของเรื่องดังกล่าวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดย “ต้อง” มีการสำรวจข้อมูลที่กว้างขวางและเชื่อถือได้ และ "ต้อง"มีการวิเคราะห์ข้อมูลให้มีความน่าเชื่อถือและเป็นสากล ไม่ใช่แค่ลอกข้อมูลมาให้ดู หรือแค่ดูข้อมูลเพียงเล็กน้อย แล้วคิดสรุปเอาเอง

โครงงานทดลอง (What it will be)

เป็นการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าจะเกิดอะไรโดยต้องมีการออกแบบการทดลองที่เป็นสากลและเชื่อถือได้ มีการกำหนดจำนวนข้อมูล และตัวแปรต่างๆ อย่างเหมาะสมเพื่อศึกษาผลที่ได้จากการปรับเปลี่ยนตัวแปร และสรุปผลด้วยกราฟ หรือการพรรณา

โครงงานแก้ปัญหา / นวัตกรรม / สิ่งประดิษฐ์

เป็นการนำความรู้ ทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิด หรือความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา โดยการคิดกระบวนการจัดการใหม่ หรือประดิษฐ์เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ โดยไม่ซ้ำกับสิ่งที่คนอื่นทำไว้มากมายแล้ว หรือเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากของเดิมที่มีอยู่ แล้วทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หรือแก้ไขปัญหาบางอย่างให้ดีขึ้น รวมทั้งการสร้างแบบจำลองต่างๆ

ลักษณะการให้โจทย์โครงงาน

โครงงาน PBL ของมัธยม ลักษณะการให้โจทย์จะเป็นแบบ Less-guided project และ Unguided project ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ลักษณะการให้โจทย์โครงงานมักจะมี 3 ลักษณะ คือ

Guided Project

- ครูกำหนดปัญหา และออกแบบกระบวนการทำงานในรายละเอียดให้

Less-guided Project

- ครูกำหนดปัญหาหรือเงื่อนไขให้ แต่ให้นักเรียนออกแบบกระบวนการทำงานในรายละเอียดเอง

Unguided Project

- นักเรียนกำหนดปัญหาตามความสนใจ และออกแบบกระบวนการทำงานในรายละเอียดเอง


ที่ปรึกษาและการให้คำปรึกษา

ที่ปรึกษามี 3 ประเภท แต่ละท่านจะให้คำปรึกษาแตกต่างกันดังนี้

ครูที่ปรึกษาเพื่อพาสู่เป้าหมาย (Coaching)

“ครูที่ปรึกษา” คือครูมัธยมที่ช่วยติดตามให้นักเรียนดำเนินงานตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ให้ได้

วัตถุประสงค์ เพื่อให้นักเรียนมีลำดับขั้นตอนการทำงานและแก้ไขอุปสรรค จนทำโครงงานเสร็จ

ที่ปรึกษาด้าน“กระบวนการวิจัย” (Research Method) หรือ ด้านกระบวนการ

ผู้ที่แม่นยำในกระบวนการวิจัย” คือผู้ที่มีประสบการณ์ในการควบคุมงานวิจัยหรือโครงการและไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาโครงงานของนักเรียน

วัตถุประสงค์ เพื่อแนะนำ “กระบวนการวิจัย” ในการหาคำตอบหรือทางออกที่เชื่อถือได้

ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญด้าน “เนื้อหา” ในเรื่องที่ทำโครงงาน

ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา” ที่ปรึกษานี้เป็นเงื่อนไขปัจจัยที่นักเรียนต้องประเมินความเป็นไปได้ เพราะอาจหาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่จะทำไม่ได้ นักเรียนจึงต้องเตรียมแผนสำรองในหาทางเลือกอื่นๆ ในการหาข้อมูล

วัตถุประสงค์ เพื่อให้นักเรียนได้ข้อมูลที่ถูกต้องมาทำโครงงานฯ