เรื่องที่ 3 เสรีภาพในการนับถือศาสนาของไทย
ศาสนาเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเป็นชาติเป็นประเทศ เพราะไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม ล้วนแต่มีลักษณะสำคัญ คือ สอนคนให้เป็นคนดี มีศีลธรรมประจำใจ อยู่ในสังคมได้อย่างสันติสุข และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ มีหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เมื่อศาสนิกชนเป็นคนดีแล้ว สังคมย่อมปราศจากความเดือดร้อน
สิ่งสำคัญ คือ ในประเทศไทยมีศาสนาเป็น เครื่องส่งเสริมความมั่นคงในการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ไทยทรงยึดมั่นและดำเนินนโยบายในการปกครองประเทศด้วยหลักทศพิธราชธรรม 10 ประการ ทรงนำหลักธรรมมาใช้ในการทรงงานและใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
ประเทศไทยได้บัญญัติเกี่ยวกับการรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้ใน รัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการรับรอง เสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้ในมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 หมวด 2 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม ความว่า
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาหรือลัทธิใด ๆ และย่อมมี เสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความนับถือของตน เมื่อไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติหลักการ เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวไทยไว้ในมาตรา 38 ความว่า “บุคคลย่อม มีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนาหรือลัทธินิยมในทางศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของตนเมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆอันเป็นการริดรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมิควรได้เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติ พิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น”
จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติหลักการ เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวไทยไว้ในมาตรา 31 ความว่า “บุคคลย่อม มีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อ ความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”