ปลาร้าดีต้องปลาร้าบ้านบางเตย

ประวัติความเป็นมา ชุมชนบางปลาร้า อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การทำเกษตรกรรม การทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง โดยมีอาชีพรอง หรือ อาชีพเสริมในชุมชน ที่น่าสนใจคือ การแปรรูปปลา เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของชาวบ้านบางปลาร้า ที่ขึ้นชื่อเป็นอย่างมาก เนื่องจากในชุมชนนั้นมีชาวบ้านที่เลี้ยงปลาเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านในชุมชนจึงคิดหาอาชีพเสริมคือการนำปลามาแปรรูปในรูปแบบต่างๆเพื่อที่จะหารรายได้เสริมให้กับครอบครัวและชุมชน ปลาที่จะนำมาแปรรูปนั้นก็จะเป็นปลาเบญจพรรณที่ชาวบ้านนั้นเลี้ยงไว้

ปลาร้า หรือ ปลาแดก ถือเป็นภูมิปัญญาอาหารที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุของคนอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย) ทั้งรูปลักษณ์ รสชาติและกลิ่น เป็นอาหารท้องถิ่นภาคอีสานของไทย และ ลาว รวมถึง บางส่วนของเวียดนาม โดยมักทำจากปลาน้ำจืดขาดเล็ก เช่น ปลาสร้อยขาว ปลากระดี่

มาหมักกับรำข้าวและเกลือ แล้วบรรจุใส่ไห โดยทั่วไปจะหมักไว้ประมาณ 7-8 เดือนแล้วนำมารับประทานได้ โดยในบางที่มีค่านิยมว่า หมักให้เกิดหนอนจะยิ่งเพิ่มรสชาติดียิ่งขึ้น ปัจจุบันการทำปลาร้าได้พัฒนาขึ้นไปสู่ระดับสากลมากขึ้น มีปลาร้าพาสเจอร์ไรซ์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนด้วย หรือ ปลาร้าอนามัย แต่ส่วนใหญ่ ปลาร้าก็นิยมทำแบบเดิม โดยตักขายตามน้ำหนักตามตลาดสดต่างๆ

ปลาร้านำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด ตั้งแต่ น้ำพริกหลน จนถึงนำไปทอด นึ่ง เผา แล้วแต่ขนาดของปลาร้า นำปลาร้าไปต้มกับน้ำแล้วกรองเอาแต่น้ำเป็นนำปลาร้าเป็นเครื่องปรุงรสที่สำคัญของอาหารอีสาน อาหารที่ปรุงด้วยปลาร้าที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคือส้มตำโดยส้มตำที่ใส่ปลาร้านั้นจะเรียกว่า ส้มตำลาว หรือ ส้มตำปลาร้า เพื่อให้ต่างจากส้มตำที่ใส่กุ้งแห้งที่เรียกส้มตำไทย ปลาร้าที่นิยมใส่ในส้มตำมี 3แบบ

- ปลาร้าต่วงหรือปลาแดกน้อย ทำจากปลาตัวเล็ก หมักกับเกลือ รสเค็มกลมกล่อม

- ปลาร้าโหน่ง รสจืดกว่าปลาร้าต่วง โดยหมักปลากับเกลือและรำข้าว รำข้าวจะช่วยเร่งให้ปลาร้าเป็นเร็ว สีออกแดงและหอม

- ปลาร้าขี้ปลาทู ทำจากไส้ปลาทู มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ นิยมนำมาทำเป็นน้ำปลาร้าไว้ปรุงส้มตำ

ขั้นตอนการทำปลาร้า เริ่มตั้งแต่การเตรียมปลาที่จะมาทำหลังจากเราเลือกปลาที่จะทำได้แล้ว นำมาทำความสะอาดถ้าปลาที่มีเกล็ดก็นำเกล็ดออกให้เรียบร้อย โดยวิธีการนำปลาลงไปโขรกในครก จากนั้นนำไปล้างให้สะอาด ควักไส้ปลาออก จากนั้นนำไปล้างอีกครั้ง หลังจากนั้นนำปลาที่ได้จากการทำความสะอาดแล้ว ไปคลุกคล้ากับเกลือในอัตราส่วน ปลา 3 ส่วน ต่อเกลือ 1 ส่วนโขรกให้ปลาและเกลือเข้ากัน นำรำและข้าวคั่วใส่ในปลาที่โขรกกับเกลือจนไว้ แล้วโขรกต่อให้รำละข้าวคั่วเข้ากันกับตัวปลา ประมาณครึ่งชั่วโมงเตรียมภาชนะที่จะใช้หมักปลาร้าซึ่งส่วนมากจะใช้ไห เนื่องจากระบายอากาศได้ดี หรือโอ่งก็ได้ ล้างทำความสะอาดไหให้สะอาดผึ่งให้แห้ง จากนั้นผสม น้ำเกลือ ใส่ลงไปในไห ในอัตราส่วน 1 : 2 ประมาณ หนึ่งใน สี่ ส่วนของไห (น้ำที่ใช้ทำน้ำเกลือส่วนมากจะใช้น้ำบาดาล หรือน้ำประปา ไม่นิยมใช้น้ำฝน สาเหตุเนื่องจากจะทำให้ปลาร้าเน่าได้) นำปลาที่ได้อัดลงในไหที่เตรียมไว้ที่ละน้อย โดยต้องอัดให้แน่น ๆ เราจะปิดปากไหด้วยตาข่ายหรือไม้ไผ่สานขัดปิดปากไหไว้ จากนั้นเทน้ำเกลือที่เข้มข้นลงไปเพื่อเป็นป้องกันแมลงวันใส่พอท่วมปลาร้า เล็กน้อย จากนั้นก็นำไหที่บรรจุปลาร้าเรียบร้อยแล้วไว้ในที่ร่มอากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งเราจะหมักไว้ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ก็สามารถนำมา รับประทานได้ แต่ก่อนที่จะนำมารับประทานก็ควรที่จะทำให้สุกทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยและปลอดจากพยาธิ

การทำปลาร้า นั้นถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับ ชาวบ้านบางปลาร้าเป็นอย่างมากและนำส่งออกสู่ตลาดสร้างรายได้แก่ชาวบ้านบางปลาร้าได้ เพราะปลาร้าเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อลือเรื่องมานานและยังเป็นอาหารหลักของคนในบางพื้นที่อีกด้วย

ผู้ให้ข้อมูล นางวันละ คงลอย ผู้เรียบเรียง นายวิสูทธ์ สังข์สี แหล่งที่มา http://www.maeparlum.net/,https://workpointtoday.com/,ป้าเล็กฟาร์ม