พิพิธภัณฑ์เมืองพังงา

พิพิธภัณฑ์เมืองพังงา

พิพิธภัณฑ์เมืองพังงา พิพิธภัณฑ์เมืองพังงา ตั้งอยู่ในตำบลท้ายช้าง ริมถนนเพชรเกษม อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา พิพิธภัณฑ์เมืองพังงาใช้ศาลากลางหลังเก่าเป็นที่จัดแสดงงาน ลักษณะตัวอาคารมีจุดเด่นที่มีความสวยงามในแบบเฉพาะของสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมหรือโคโลเนียล มีลักษณะเป็นชั้นเดียว ขนาดใหญ่ โดยมีการประดับตาครุฑไว้หน้าอาคาร ภายในจัดแสดงนิทรรศกาลเกี่ยวกับประวัติเมืองพังงา แบ่งเป็น 6 ห้องด้วยกันคือ ห้องรู้เรื่องเมืองพังงา ห้องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ห้องการเมืองการปกครองและการค้า ห้องคนพังงา ห้องมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และห้องเอกลักษณ์สถาปัตยกรรม นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชม และศึกษาประวัติความเป็นมาของจังหวัดพังงาได้เป็นอย่างดี เปิดทุกวันทำการ 08:30-16:30 น.

พิพิธภัณฑ์เมืองพังงา เล่าเรื่องราวรากเหง้าประวัติศาสตร์ของชาวพังงา พิพิธภัณฑ์เมืองพังงา ตั้งอยู่ในอาคารศาลากลางจังหวัดพังงา (หลังเก่า) ตำบลท้ายช้าง อำเภอเมืองพังงา อาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2473 (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7) เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดพังงา เนื่องจากอาคารหลังดังกล่าวมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองพังงา จึงได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ พ.ศ.2530 และต่อมาจังหวัดพังงาก็ได้ปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองพังงา โดยเปิดให้เข้าชมในวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 น.-16.00 น. อาคารพิพิธภัณฑ์เมืองพังงา เป็นสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม หรือโคโลเนียล ซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากยุโรป ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่ชั้นเดียว ทาด้วยสีเหลือง และประดับตราครุฑไว้หน้าอาคาร ภายในอาคารแห่งนี้ถูกแบ่งเป็นห้องต่างๆ เพื่อจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองพังงา ซึ่งมีทั้งหมด 6 ห้อง ดังนี้ ห้องจัดแสดงที่ 1 รู้เรื่องเมืองพังงา : ห้องแรกนี้ จะให้ความรู้พื้นฐานทางภูมิศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดพังงา โดยแบ่งการจัดแสดงเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนจัดแสดงที่ 1 รู้เรื่องเมืองพังงา นำเสนอเรื่องที่ตั้ง อาณาเขต ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ดิน แร่ธาตุ และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

ส่วนจัดแสดงที่ 2 มรดกทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยว นำเสนอเรื่องทรัพยากรป่าไม้ เขาหินปูน พืชพรรณ และโลกใต้ทะเล รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ทั่วทุกอำเภอ บางแห่งมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น เขาตะปู หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน ฯลฯ ห้องจัดแสดงที่ 2 พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ : ห้องนี้ให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีและ พัฒนาการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในเมืองพังงา โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน คือ

- ส่วนจัดแสดงที่ 1 พังงายุคก่อนประวัติศาสตร์ นำเสนอเรื่องราวการค้นพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่บริเวณชายฝั่งและเกาะต่างๆ ในอ่างพังงา และมีหุ่นจำลองการเขียนภาพสีบนเพิงผาของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์

- ส่วนจัดแสดงที่ 2 พังงายุคประวัติศาสตร์ นำเสนอเรื่องราวความเป็นเมืองท่านานาชาติอายุนับพันปี มีการแสดงเส้นทางสายไหมทางทะเลของโลกยุคโบราณ และแบบจำลองเมืองโบราณทุ่งตึก ซึ่งเป็นสถานีการค้าโบราณที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งบนชายฝั่งอันดามัน นอกจากนี้ ยังมีห้องฉายวิดีทัศน์ ชุดย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองพังงา ให้นักท่องเที่ยวได้ชมกันอีกด้วย

ห้องจัดแสดงที่ 3 การเมืองการปกครองและการค้า : แสดงพัฒนาการทางด้านการเมืองการปกครองและการค้าในอดีต โดยแบ่งการจัดแสดงเป็น 2 ส่วน คือ

- ส่วนจัดแสดงที่ 1 การเมืองการปกครอง นำเสนอเรื่องราวพัฒนาการของเมืองสำคัญ 3 เมือง ในจังหวัดพังงา ได้แก่ เมืองพังงา เมืองตะกั่วป่า และเมืองตะกั่วทุ่ง

- ส่วนจัดแสดงที่ 2 การค้า นำเสนอเรื่องราวความเป็นตลาดการค้านานาชาติที่เจริญรุ่งเรืองในอดีตของจังหวัดพังงา โดยมีสินค้าสำคัญหลายอย่าง เช่น ของป่า เครื่องเทศ ลูกปัดแก้ว-หินสี และแร่ธาตุ เป็นต้น และมีการจัดแสดงพระแสงราชศัสตราประจำเมืองพังงา (จำลอง) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานแก่เจ้าเมืองพังงา ซึ่งเป็นพระแสงราชศัสตราองค์สุดท้ายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ห้องจัดแสดงที่ 4 คนพังงา : ห้องนี้จัดแสดงเรื่องราวของผู้คนในจังหวัดพังงา ซึ่งประกอบด้วยคนกลุ่มหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน (บาบ๋า-ย่าหยา) และชาวเล นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงภาษา ตำนานพื้นบ้าน ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มคนต่างๆ ตั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงมีการแสดงเครื่องแต่งกายของชนกลุ่มต่างๆ ด้วย

ห้องจัดแสดงที่ 5 มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น : ห้องนี้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวพังงาที่สืบทอดมาแต่ครั้งอดีต ได้แก่ การประกอบอาชีพประมง การเกษตรกรรม การทำเหมืองแร่ วัฒนธรรม ประเพณี เทศกาล ศิลปะการแสดง และการละเล่นที่สำคัญ เช่น หนังตะลุง โนรา ลิเกป่า รวมถึงมีการจำลองสำรับอาหารพื้นเมืองทั้งคาวและหวานของท้องถิ่นพังงาด้วย

ห้องจัดแสดงที่ 6 เอกลักษณ์สถาปัตยกรรม : ห้องนี้นำเสนอเกี่ยวกับมรดกทางสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่และทรงคุณค่าของจังหวัดพังงา ได้แก่ ศาลากลาง จังหวัดพังงา (หลัง เก่า) จวนผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า (หลังเก่า) วัดเสนานุชรังสรรค์ นอกจากนี้ยังแสดงเรื่องราวของชุมชนเก่าแก่ในเมืองพังงา ได้แก่ เมืองตะกั่วป่าเก่า และบ้านเรือนแบบดั้งเดิมของชาวพังงา สถาปัตยกรรมเหล่านี้ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่จะแสดงให้เห็นพัฒนาการของบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัย และแสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสถาปัตยกรรมของชาวพังงาเป็นอย่างดี

พิพิธภัณฑ์เมืองพังงา เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมคู่เมืองพังงาที่เต็มไปด้วยความรู้เกี่ยวกับจังหวัดพังงาอย่างครอบคลุมรอบด้าน ทั้งด้านสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นมรดกท้องถิ่นที่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีสัมผัสถึงร่อยรอยความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของเมืองแห่งนี้ และแสดงให้คนทั่วโลกได้เห็นถึงอารยธรรมที่งดงามของแผ่นดินไทย


ข้อมูลจาก http://www.phangngapao.go.th/travel/detail/87

https://www.phangngasmarttravel.com/th/places-detail/8255