“กาดผี” หรือ "ครกผี" 

ถอดลายแทง “ถ้วยวงแหวน”
(ครกหลุม) และ “ลายม้วนก้นหอย”

แหล่งโบราณคดีที่ชาวบ้านเรียกว่า “กาดผี” ตั้งอยู่ในบริเวณป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พื้นที่นี้ถือว่าเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์ป่าชุมชนตัวอย่างในระดับชาติ

ที่มา   มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 สิงหาคม 2563

คอลัมน์  ปริศนาโบราณคดี

ผู้เขียน  เพ็ญสุภา สุขคตะ

เผยแพร่  วันพฤหัสที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2563

จาก “กาดผี” สู่กองทหารญี่ปุ่น

             กาด ภาษาล้านนาหมายถึงตลาด คำว่ากาดผี หมายถึงสถานที่ที่คนทั่วไปกลัว เพราะในคืนเดือนมืดหากใครผ่านไปแถวนั้น มักได้ยินเสียงผู้คนพูดคุยกันดังสนั่นหวั่นไหวโหวกเหวกโวยวาย คล้ายกับบรรยากาศของการจับจ่ายซื้อของรวมตัวกันของผู้คนในตลาด

แต่มองไปรอบๆ กลับไม่เห็นใครแม้แต่คนเดียว มีแต่เสียงที่อื้ออึง ซ้ำสำเนียงภาษาที่ได้ยินนั้นก็ไม่ใช่ภาษาที่คุ้นหูใช้พูดกันในปัจจุบัน ซึ่งประชากรบริเวณบ้านทุ่งยาวนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวยอง  ทั้งยังไม่ใช่ภาษามอญหรือลัวะกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่คนเมืองล้านนาพอจะรู้จักฟังออกอยู่บ้าง   ชาวบ้านจึงอุปมาอุปไมยว่าที่นี่น่าจะเป็น “กาดผี” คือเป็นจุดสิงสถิตหรือแหล่งชุมนุมดวงวิญญาณของคนในอดีตที่เกิดขึ้นก่อนชาวลัวะชาวเม็ง ทำให้ไม่มีใครกล้าเฉียดกรายเข้าไปบริเวณนี้บ่อยนักหากไม่จำเป็นจริงๆ เว้นแต่จะมีการนำเครื่องเซ่นไปบวงสรวงดวงวิญญาณเหล่านั้นปีละ 1-2 ครั้ง  แล้วทำไมพื้นดินบริเวณกาดผีต้องเป็นหลุมกลมคล้ายขนมครกขนาดใหญ่ด้วยเล่า เรื่องนี้ “แม่หลวงวิ” แห่งป่าชุมชนบ้านทุ่งยาวเล่าว่า  “ที่แห่งนี้ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นเข้ามาใช้เป็นที่ตั้งกองทัพ ทั้งๆ ที่เป็นจุดที่ชาวบ้านกลัว แต่คนญี่ปุ่นไม่กลัว เห็นรกร้างว่างเปล่าจึงเข้าไปยึด คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ป้าวิฟังตั้งแต่ยังเด็กๆ ว่า ทหารญี่ปุ่นใช้พื้นที่นี้ผลิตกระสุนดินปืน ทำให้เกิดรอยเป็นหลุมๆ”  เมื่อพิจารณาจากคำบอกเล่าของคนในชุมชน พบว่ามีเรื่องราวของทหารญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากเชื่อตามนี้ รอยหลุมต่างๆ ก็ต้องมีอายุการขุดหรือทำให้กลมเพียง 80 ปีเท่านั้น (สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2484-2487) ซึ่งในความเป็นจริง ร่องรอยนี้ดูเก่าเกิน 80 ปี