ป่าน้ำจำ

ป่าชุมชน (ป่าน้ำจำ)

ชุมชนบ้านทุ่งยาว ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนคนรักป่าที่นักสิ่งแวดล้อมต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชื่อของ “ป่าน้ำจำ” ซึ่งคำๆ นี้ได้แพร่หลายออกไปเมื่อหลายสิบปีโดยมีจุดเริ่มต้นจากจากการเริ่มทำเหมืองฝายเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจชุมชน ในปี 2466 ในขณะที่ชาวบ้านร่วมไม้ร่วมมือกันลงแรงทำเหมืองฝาย ก็ได้สังเกตเห็นว่ามีน้ำซับไหลออกมาจากต้นไม้ใหญ่ตลอดเวลา จึงเรียกผืนป่านี้ว่า “ป่าน้ำจำ” และได้ร่วมกันบำรุงรักษาป่าผืนนี้ตลอดจนเหมืองฝายที่มีระยะทางยาวกว่า 4 กิโลเมตร โดยใช้เวลาขุดกว่า 3 ปี นำลำน้ำแม่สารเข้าสู่ชุมชนและพื้นที่เรือกสวนไร่นาของชุมชน

ในความเชื่อของคนล้านนาภาคเหนือ ป่าแห่งใดมี “น้ำจำ” หรือ น้ำซับ หรือตาน้ำผุดขึ้นมา นั่นหมายความว่า ที่นั่นมีผีปกปักรักษาอยู่ ทุกๆ ปี ชาวบ้านจึงมีการเลี้ยงผี เพื่อแสดงความเคารพและตอบแทนบุญคุณ เรียกกันว่าประเพณี “เลี้ยงผีขุนน้ำ”

นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้สร้างกฎระเบียบในการดูแลเหมืองฝาย ดูแลป่าน้ำจำอย่างต่อเนื่อง โดยพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน)เครื่อง พยัคฆสัก ร่วมกันชาวบ้าน 30 ครัวเรือน ได้ประกาศให้พื้นที่ป่าน้ำจำ จำนวน 60 ไร่ เป็นเขตป่าต้นน้ำ ห้ามจับจองพื้นที่และห้ามตัดไม้ทุกชนิด อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “สัญญาประชาคมหรือสัญญาหน้าหมู่หรือธรรมนูญของชุมชน” นั่นเอง ต่อมาได้มีการให้สัมปทานไม้หมอนรถไฟ และไม้ฟืนรถไฟ (2469) ได้มีการตัดฟันไม้จากป่าบริเวณใกล้เคียงป่าน้ำจำเป็นจำนวนมากจนเหลือเพียงต้นไม้เล็กๆ เท่านั้น (ยกเว้นป่าน้ำจำ)

ปี พ.ศ. 2492 พ่อหลวงสม มูลสัก ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 ได้ตั้งกฎเกณฑ์ (โดยไม่ได้บันทึก) ให้มีการปรับผู้ลักลอบตัดต้นไม้ต้นละ 20 บาท

ปีพ.ศ. 2496 พ่อหลวง เขียว สมโชติ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ได้วางกฎเกณฑ์การรักษาป่า โดยมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษาไว้อย่างเป็นทางการ ที่เรียกว่า “สัญญารักษาป่า” ซึ่งจัดทำขึ้นในวันที่ 15 เมษายน 2496 ที่เปรียบเสมือนการออกกฎหมายหรือธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรโดยชุมชน ซึ่งมีการลงลายมือและปั๊มหัวแม่มือรับรองโดยประชาชนไว้เป็นหลักฐาน

หลังจากนั้นมา จึงได้มีการขยายพื้นที่การอนุรักษ์ป่าเป็น 2,500 ไร่ และมีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การรักษาป่าและการใช้ประโยชน์จากป่าให้สอดคล้องงกับสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัย มาจนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2542 ได้ก่อตั้ง เครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดลำพูน โดยมีพ่อหลวง จรัญ ขาสัก ผู้ใหญ่บ้านทุ่งยาวในขณะนั้น เป็นประธานคนแรกของเครือข่ายฯ

ความตระหนักถึงความสำคัญของป่า ของน้ำ ของชุมชนบ้านทุ่งยาว เพราะป่าคือชีวิต เป็นที่รู้จักของนักอนุรักษ์ นักสิ่งแวดล้อมในเมืองไทย ด้วยโครงสร้างของชุมชนที่มีออกแบบโดยชุมชนเพื่อรักษาป่า จนเกิดรายงานการวิจัยและเผยแพร่สู่สาธารณะและมีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง มีการศึกษาดูงานจากทั่วประเทศและทั่วโลกซึ่งทุกหน่วยงานที่ได้มาพบเห็นต่างยอมรับว่า ที่นี่เป็นชุมชนรักษาป่า เป็นต้นแบบชุมชนจัดการตนเองได้อย่างดียิ่งที่สังคมไทยควรจะเดินไปในทิศทางนี้ นั่นคือ ต้องให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมและมีอำนาจในการตัดสินใจต่อทิศทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตนเอง

ปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา บ้านทุ่งยาว ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน ได้จัดงาน “1 ศตวรรษ บ้านทุ่งยาว” หรือครบรอบ 100 ปีบ้านทุ่งยาว นั่นหมายความว่า ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ได้คงอยู่มายาวนานเพียงพอต่อการทบทวน ทำความเข้าใจและนำไปสู่การสรุปบทเรียนแล้ว

โดยขอย้อนรอยประวัติการก่อตั้งชุมชนสักนิด กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2458 ชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 6 ครอบครัวจากบ้านสันคะยอม ต.ป่าสัก ได้อพยพหนีความแห้งแล้งขึ้นไปตามลำน้ำแม่สารประมาณ 10 กม. พบกับพื้นที่ราบป่าเบญจพรรณระหว่างเขาที่กว้างใหญ่มีลำน้ำสารไหลผ่าน จึงได้บุกเบิกเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมีความตระหนักรู้ในปัญหาความแห้งแล้งเป็นพื้นฐานของชีวิตและประสบการณ์ ต่อมาได้มีญาติพี่น้องอพยพเข้ามาสมทบอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นประมาณ 30 ครัวเรือน จึงได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2468 ซึ่งมีพ่อหลวงเครื่อง พยัคฆสัก เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ในงานครบรอบ 1 ศตวรรษ บ้านทุ่งยาว นั้น (26-27 ธันวาคม 2558) กิจกรรมของงานดำเนินไปทั้งส่วนของเจ้าภาพ คือ ชาวบ้านชุมชนบ้านทุ่งยาว และแขกเหรื่อที่ให้ความสำคัญของกิจกรรมครั้งนี้ ทั้งมาร่วมรับชม ร่วมรับฟัง และมาร่วมเสวนาต่อบทเรียนบ้านทุ่งยาว อาทิ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งฯ ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC)นางสมหญิง มานะจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันลูกโลกสีเขียว นายณรงค์ อ่อนสะอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ดร.นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายก อบจ.ลำพูน นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน อีกทั้งส่วนงานราชการกรมป่าไม้ ทหาร และนักพัฒนาเอกชนอาวุโสอีกมากมายหลายท่าน

ซึ่งทุกส่วนต่างเห็นตรงกันว่า ชุมชนบ้านทุ่งยาวเป็นตัวอย่างที่ดีในการที่จะบอกว่าชุมชนสามารถดูแลจัดการรักษาป่าได้ดี โดยรัฐจะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีสิทธิ์ในการตัดสินใจให้มากขึ้นในการจัดการทรัพยากรชุมชน ซึ่งนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีบ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เสนอความเห็นว่า รัฐบาลและสังคมสามารถที่จะผลักดันเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดระบบการจัดการของชุมชน 3 ข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

1. มีระบบสนับสนุนป่าชุมชน

2. นโยบายประชารัฐ 1 บริษัท 1 ป่าชุมชน

3. กิจการธนาคารต้นไม้

ขณะที่ชาวบ้านชุมชนบ้านทุ่งยาวยังคงประกาศเจตนารมณ์ที่จะเดินหน้าในการรักษาป่าต่อไป ดังมีใจความสำคัญว่า

1. จะสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ ในการดูแลรักษาป่าชุมชนและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานประจารีตประเพณีความเชื่อของท้องถิ่นทั้งป่าชุมชนในเขตป่าสงวน ป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ และป่าชุมชนชาติพันธุ์บนที่สูง

2. จะสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้เกิดพื้นที่รูปธรรมและเพิ่มจำนวนป่าชุมชนที่สอดคล้องกับภูมินิเวศน์วัฒนธรรมท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นชุมชนแห่งอนาคตที่ปฏิบัติได้จริง

3. จะร่วมมือกับองค์กร/ เครือข่าย / ภาคประชาสังคม วิชาการ ราชการ ท้องที่ท้องถิ่นในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อยกระดับการจัดการป่าชุมชน

4. จะขับเคลื่อนป่าชุมชนโดยบูรณาการกับประเด็นอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนทั้งเกษตรกรรมยั่งยืน การอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น เพื่อใช้ประโยชน์ทางอาหารและยา พลังงานทางเลือก เศรษฐกิจฐานราก สังคมสุขภาวะ

5. เครือข่ายป่าชุมชนจะร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชน ในการลดภาวะโลกร้อนร่วมกับประชาคมโลกตามคำประกาศของรัฐบาลไทยที่กรุงปารีส

6. สนับสนุนให้มีคำว่า สิทธิชุมชน ปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยให้ได้เท่าในรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วยเหตุผลสิทธิชุมชนนั้นมีความหมายในตัวของมันเอง ไม่อาจหาคำอื่น เช่น “สิทธิพลเมือง” มาแทนได้ และคำว่า “สิทธิชุมชน” มีความหมายคล้ายกับคำว่า “สิทธิหน้าหมู่” ของชุมชนล้านนา ทำให้สิทธิหน้าหมู่ได้รับการรับรองจากกฎหมายสูงสุดของไทย

จากการประกาศเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของชุมชนบ้านทุ่งยาวในวาระครบรอบ 100 ปี ครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและมีความสำคัญต่อการยึดหมุดหมายความสำเร็จของชุมชนในการรักษาป่าไว้ได้แม้ว่าทุกขณะอาจมีความผันผวนทางการเมืองมากมายจนไม่แน่ใจว่าบางข้อของเจตนารมณ์นี้ ชาวบ้านจะสามารถบรรลุผลได้มากน้อยแค่ไหน แต่ตราบใดที่พวกเขายังเชื่อว่า ตนสามารถลงมือทำสิ่งดีๆ ให้กับชุมชนได้โดยไม่ต้องรอคอยใคร ชัยชนะก็นับว่าอยู่ในมือชุมชนแล้ว

ฤดูฝนที่เวียนมาอีกครั้งต่อการเริ่มต้นวิถีแห่งการเพาะปลูก ชุมชนบ้านทุ่งยาวยังคงดำเนินไปในวิถีแห่งการ “ได้กินจากน้ำ จึงรู้รักษาน้ำ ได้กินจากป่า จึงรู้รักษาป่า” ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่นับได้ว่าอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง ถ้าเทียบกับว่า รอบๆ พื้นที่เหล่านี้เคยเป็นป่าสัมปทานและต้นไม้ใหญ่ได้ถูกตัดไปเป็นจำนวนมาก แต่ที่นี่ยังคงรกครึ้ม มีต้นไม้ใหญ่ให้ชาวบ้านเคารพนับถือและอยู่ในรีตรอยอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างน่าชื่นชม