ประวัติความเป็นมา

ประวัติศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพิษณุโลก

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพิษณุโลก เป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งตามและประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556 สถานที่ตั้ง เลขที่ 666 หมู่ 6 ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก (อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง) โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) จัดและบริการการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมแก่นักเรียน นักศึกษา ทั้งในและนอกระบบโรงเรียนและประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

(2) ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนารูปแบบกิจกรรม หลักสูตร สื่อและกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม อาทิ ดาราศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา เทคโนโลยีที่เหมาะสม

(3) เผยแพร่และบริการกิจกรรม หลักสูตร สื่อและกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

(4) พัฒนาครู อาจารย์ วิทยากรและบุคลากรทางการศึกษา ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

(5) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

(6) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ปัจจุบันอาคารสำนักงานชั่วคราวศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพิษณุโลก เลขที่ 320 หมู่ 5 ตำบลหัวรออำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา

บทบาทของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพิษณุโลก

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษา จัดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ดาราศาสตร์และอวกาศ ธรรมชาติวิทยา และวิทยาศาสตร์การเกษตร สำหรับนักเรียน ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน นิสิตนักศึกษา เยาวชนและประชาชนทั่วไป ดังนี้

1. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ดาราศาสตร์และอวกาศ ธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม ที่มีการผสมผสานภูมิปัญญากับความรู้สมัยใหม่ สำหรับประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกและภาคเหนือ

2. เพื่อกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชาชนของประเทศได้หันมาให้ความสนใจและความสำคัญของการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

3. เพื่อส่งเสริมการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

4. เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิชาการ

มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการพัฒนาการศึกษา คุณภาพ ทรัพยากรมนุษย์และรับผิดชอบในการส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยการจัดนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย รูปแบบ เน้นสื่อนิทรรศการปฏิสัมพันธ์ เช่น ภาพยนตร์ วีดีทัศน์ สื่อคอมพิวเตอร์ ของจริง ของจำลอง การประกวดแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ โครงงาน การอบรม การจัดแสดงต่าง ๆ กิจกรรมค่าย กิจกรรมนิทรรศการ กิจกรรมบริการวิชาการ กิจกรรมการศึกษา เป็นต้น

โดยให้กลุ่มเป้าหมายได้เลือกชม เลือกแสวงหาความรู้ตามความสนใจโดยไม่จำกัดเวลา อายุ ระดับการศึกษา จึงนับว่าเป็นแหล่งการศึกษาแบบเปิดในลักษณะสถานศึกษาตลอดชีวิต ตามมาตราแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นไปตามสาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น