ประเพณียี่เป็ง

ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ เป็นประพณีเก่าแก่ของล้านนาที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ ในสมัยอาณาจักรหริภุญชัยได้มีประเพณีเดือนยี่และทำพิธีลอยโขมดแล้ว (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๗, หน้า ๒๓๕; สงวน โชติสุขรัตน์, ๒๕๑๑, หน้า ๑๑๕) ในเวลาค่ำคืนของวันเพ็ญเดือนยี่ มีการจัดแต่งเครื่องสักการบูชาใส่กระทง จุดธูปเทียนและนำปล่อยลงในน้ำ แสงไฟจะกระทบกับน้ำ เกิดเป็นเงาขึ้นวับๆ แวมๆ มองเห็นเป็นเสมือนแสงพะเนียงไฟผีโขมด ซึ่งผีโขมดนี้ เป็นชื่อเรียกผีป่า ที่ออกหากินในเวลากลางคืน มีพะเนียงไฟมองเห็นเป็นระยะอย่างผีกระสือ ชาวล้านนาจึงเรียกว่า ลอยโขมด

ตำนานความเป็นมาของประเพณียี่เป็ง

ตำนานประเพณียี่เป็งที่พบในคัมภีร์ใบลานที่ใช้เทศนาธัมม์ตามวัดต่างๆในล้านนา เช่น คัมภีร์อานิสงส์ประทีส คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส และคัมภีร์อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ เป็นคัมภีร์ที่มักใช้เทศนาธัมม์ในช่วงประเพณียี่เป็ง ในคัมภีร์เหล่านี้ ได้กล่าวถึงตำนานหรือมูลเหตุแห่งการบูชาและอานิสงส์ที่เกิดจากการบูชาผางประทีส ไว้ดังนี้

ธัมม์หรือคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ประทีส กล่าวไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมแล้วได้ประทับอยู่เมืองสาวัตถี และเสด็จไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จกลับลงมาโปรดพระพุทธบิดา เมื่อถึงเดือน ยี่เป็ง มีเทวบุตรตนหนึ่ง ชื่อ สยามาเทวบุตรพร้อมด้วยบริวารต้องการสักการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยประทีส จึงแปลงกายเป็นนก ใช้ปากและเท้าถือผางประทีสบินไปพร้อมนกแปลง ซึ่งเป็นบริวาร ประทักษิณรอบพระพุทธเจ้า ๓ รอบ ได้เกิดอัศจรรย์แสงประทีสสว่างไสวไปทั่วชมพูทวีป คนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงได้พากันมาทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงเทศนาธรรมถึงอานิสงส์การจุดประทีสเป็นพุทธบูชาว่า การสักการบูชาประทีสในเดือนยี่เป็ง ถือเป็นการบูชาพระรัตนตรัย นอกจากนั้น อานิสงส์การบูชาประทีสยังส่งผลทำให้ผู้ถวายทานมีรูปร่างและผิวพรรณงดงามไปทุกๆ ชาติ เป็นที่รักแก่คนและเทวดาทั้งหลาย

ที่มา (อุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๗๘๘๖)


ธัมม์หรือคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ ปรากฏในหนังสือ ธรรมเทศนาพื้นเมืองเรื่อง อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีปโคมไฟ (๒๕๓๐) กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวนาราม พระองค์ได้เทศนาชาดกเรื่อง อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ ว่า ในยุคของพระพุทธเจ้าชื่อโกนาคมนะ ครั้งหนึ่งพระสาวกชื่อ อุตตระ ได้เข้านิโรธสมาบัติในถ้ำสุตคูหาในดอยสิริทัตกะ และเมื่อออกจากนิโรธสมาบัติได้เกิดนิมิตว่า หากผู้ใดได้ถวายทานแก่พระองค์ในวันพรุ่งนี้จะได้อานิสงส์เป็นอย่างมาก และได้เล็งเห็นด้วยญาณว่า มีชายทุกข์ไร้เข็ญใจผู้หนึ่งจะรอถวายทานแก่พระองค์ รุ่งเช้าพระองค์จึงได้อุ้มบาตรไปโปรดยังบ้านชายผู้นั้น ชายผู้นั้นเกิดปิติศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ถวายข้าวกับแคบหมูแก่พระองค์ และอธิษฐานขอให้ได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระศรีอริยะเมตไตร ที่จะมาบังเกิดในภายภาคหน้า เมื่อพระอุตตระได้กล่าวอนุโมทนาแล้ว ก็เสด็จกลับนำเอาแคบหมูมาบีบเป็นน้ำมันลงในผางประทีส และจุดบูชาพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ ซึ่งวันนั้นเป็นวันเดือนยี่เป็งพอดี พอจุดประทีสบูชาแล้วนั้น แผ่นดินที่หนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ก็ไหวเป็นที่อัศจรรย์ พญาโสกราชาจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ว่า เป็นเพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า มีชายทุกข์ไร้เข็ญใจได้ถวายแคบหมูใส่บาตรแก่พระอุตตระเถรเจ้า และพระอุตตระเถรเจ้าได้นำมาใส่ผางประทีสจุดเป็นพุทธบูชา เมื่อจุดบูชาในวันเดือนยี่เป็งจะมีผลานิสงส์มากนัก

พระพุทธเจ้าได้เทศนาธัมม์อานิสงส์เดือนยี่เป็งลอยประทีสโคมไฟให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า หากได้บูชาประทีสโคมไฟในวันเดือนยี่เป็ง จะได้ผลานิสงส์ผิวพรรณงดงามเป็นที่รักแก่คนและเทวดา ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนและได้ไปเกิดบนสรวงสวรรค์ และในตอนท้ายของธัมม์กล่าวต่อไปว่า ในเดือนยี่เป็งบุคคลใดที่ทำประทีปโคมไฟ ไปลอยในแม่น้ำน้อยใหญ่ หนองวัง และโบกขรณี เพื่อบูชารอยพระพุทธบาตรริมฝั่งแม่น้ำเมืองนาคราชบาดาลก็ดี เมื่อเกิดมาในชาตินี้ จะได้เป็นพญาใหญ่โต

(มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๗, หน้า ๒๔๔)

กิจกรรมที่ทำในวันยี่เป็ง

กิจกรรมฟังเทศมหาชาติ