ภาพผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมือ
(ภาพผลิตภัณฑ์ในอดีตของกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือประตูป่า)
ในตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อฝึกอาชีพที่สามารถมีรายได้ รายได้เสริม นั่นก็คือ การทำผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมือ เป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้คนในครอบครัว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถหาวัสดุได้จากท้องถิ่น เมื่อผลิตแล้วมีผู้สนใจซื้อไปเพื่อเป็นของใช้ หรือซื้อเพื่อใช้เป็นของฝากของที่ระลึกให้กับเพื่อน ญาติผู้ใหญ่
ต่อมา ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองลำพูน ได้เห็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมือของกลุ่มผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมือตำบลประตูป่า ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ จังหวัดลำพูน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน เป็นต้น ได้ส่งเสริม สนับสนุน การศึกษาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือเพื่อการค้า ได้แก่ การโปรโมทผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางการขายออนไลน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น สนับสนุนความรู้เรื่องการทำรองเท้าจากผ้าย้อมสีธรรมชาติ การปักลายสลากย้อม การย้อมผ้าสีธรรมชาติและการทอผ้า การทำถุงย่าม หมอน จากผ้าย้อมสีธรรมชาติ เป็นต้น
ภาพกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือประตูป่า และกลุ่ม ไทยอง ประตูป่า
เรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน
จาก ผ้าด้นมือ สู่ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือผลิตภัณฑ์ลายสลากย้อม ในร้านภูฟ้า
กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือประตูป่า และกลุ่ม ไทยอง ประตูป่า ได้มองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวบ้านตำบลประตูป่า และมีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อย่าง “ประเพณีสลากย้อม” นำเอาจุดเด่นนี้เข้ามาผสมผสานในงานผ้าหรือผลิตภัณฑ์ผ้า กลุ่มผ้าทอมือตำบลประตูป่ามีแนวคิดในการนำลายสลากย้อมมาสร้างสรรค์ในงานผ้าหรือผลิตภัณฑ์ผ้า โดยการผสมผสานสลากย้อมมาประยุกต์เป็นลายปัก และต่อยอดในผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการปักผ้า 9 ลาย ซึ่งความหมายแต่ละลายมีความหมายแตกต่างกันไป ได้แก่
1. ลายปักต้นสลากย้อม หมายถึง การถวายทานเป็นพุทธบูชาของหญิงสาว อณิสงฆ์ผลบุญเท่ากับการบวชพระ
2. ลายปักจ้อง (ร่ม) หมายถึง ความร่มเย็นเป็นสุข
3. ลายปักตุงใยแมงมุม หมายถึง การปกป้องคุ้มครอง ปัดเป่าสิ่งเลวร้าย ความสามัคคีกัน ความเหนียวแน่น
4. ลายปักตุง (ตุงไชย) หมายถึง ช่วยดลบันดาลให้มีความสุข หลุดพ้นจากความทุกข์
5. ลายปักก๋วยขี้ปุ๋ม (ชะลอม) หมายถึง การถวายอุทิศส่วนบุญให้กับผู้ล่วงลับ หรือ การถวายทานไว้ภายหน้า
6. ลายปักผ้าห่อก่ำปี (ผ้าห่อคัมภีร์) หมายถึง รักษา ปกป้องพระธรรมคำสอน
7. ลายปักปลาตะเพียนสาน หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
8. ลายปักจ๋ำ (ยอตกปลา) หมายถึง การฮอมเงิน ฮอมบุญ
9. ลายปักแปบูรี่ แปเมี่ยง (แพบุหรี่และแพเมี่ยง) หมายถึง เครื่องสักการะบูชา
รูปแบบลายปักผ้าของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือประตูป่า และกลุ่ม ไทยอง ประตูป่า ยังได้มีการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม และมีจุดเด่น มีการสร้างตราสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์อีกด้วย และในปัจจุบันสินค้าของกลุ่มผ้าทอมือตำบลประตูป่าได้รับคัดเลือกให้นำไปวางจำหน่าย ณ ร้านภูฟ้า โครงการส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการการันตีคุณภาพสินค้าของกลุ่มผ้าทอมือตำบลประตูป่าได้เป็นอย่างดี
ภาพผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผ้าทอมือตำบลประตูป่า
นับว่าอาชีพการทำผลิตภัณฑ์ผ้าด้นมือของชาวบ้านตำบลประตูป่า ที่มีการพัฒนา หาจุดเด่น จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือปักลายอัตลักษณ์ ซึ่งมีลวดลายเฉพาะและมีเอกลักษณ์ เป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้และสามารถสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีไปพร้อมกัน
ข้อมูลเนื้อหา : 1. กลุ่มผ้าทอมือตำบลประตูป่า
2. ครู กศน.ตำบลประตูป่า
3. ปณิตา สระวาสี. (2559). สลากย้อม. ค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2561 ค้นจาก https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=2&fbclid=IwAR2znDX8aCzrTYHYcodBa884BT6Idx3d94KuH9vEjhmZJGz-cUWe3V5XwTc
เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : นางสาวจุฑาทิพย์ วิจิตร์ ครู กศน.ตำบล/ นางสาวชนัตถธร สาธรรม บรรณารักษ์ปฏิบัติการ
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นางสาวจุฑาทิพย์ วิจิตร์ ครู กศน.ตำบล