ประเพณีสงกรานต์
วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณก่อนที่จะมีการประกาศวันขึ้นปีใหม่แบบสากล ในขณะที่ชาวต่างชาติต่างรู้จักวันสงกรานต์ในฐานะของการละเล่นสาดน้ำคลายร้อนที่โด่งดังไปทั่วโลก
คำว่าสงกรานต์นั้น แปลว่า ก้าวขึ้น เปลี่ยนผ่าน หรือย่างขึ้น ซึ่งตรงกับทางโหราศาสตร์ที่ว่า วันสงกรานต์จะเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 , 14, 15 เมษายนของทุกปี ในบางจังหวัดก็จะมีการเฉลิมฉลองยาวนานกว่า 3 วัน เช่น ประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ หรือประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประเพณีสงกรานต์(วันไหล)พัทยา และนอกจากไทยแล้ว ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ก็มีประเพณีวันสงกรานต์เช่นเดียวกัน
สงกรานต์ภาคใต้
สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดา ผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เมษายน) เป็น "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" หรือ "วันเจ้าเมืองเก่า" โดยเชื่อกันว่าในวันนี้ เจ้าเมืองหรือเทพยดาประจำปีผู้ทำหน้าที่รักษาดวงชะตาของบ้านเมือง จำเป็นต้องละทิ้งบ้านเมืองที่ตนรักษาไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ในวันนี้ชาวบ้านจึงทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและร่างกาย บางทีก็ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยทำพิธีลอยเคราะห์ลงในแม่น้ำ เพื่อฝากเคราะห์กรรมซึ่งตนประสบไปกับเจ้าเมืองเก่า และอธิษฐานขอให้ประสบโชคดีตลอดปีใหม่
ส่วนวันที่ 14 เมษายน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วันว่าง" จะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป ทั้งนี้ ที่เรียกว่า "วันว่าง" เพราะเชื่อกันว่าวันนี้เจ้าเมืองก็ยังสถิตอยู่บนสวรรค์ ในเมืองจึงไม่มีเจ้าเมืองประจำอยู่ กิจการงานอาชีพทุกอย่างจึงต้องหยุด เพราะเกรงว่าหากประกอบกิจการจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น เนื่องจากไม่มีเจ้าเมืองคุ้มครองรักษา สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ จึงถูกเก็บไว้ มิได้นำมาใช้เป็นการชั่วคราวประมาณสามวัน ประชาชนส่วนใหญ่พากันไปทำบุญ เมื่อทำบุญแล้วก็นำอาหารและเครื่องบูชา ไปเคารพผู้อาวุโส และพระสงฆ์ที่เคารพ โดยถือโอกาสขอพรรดน้ำ เพื่อแสดงออกถึงความเคารพความกตัญญูด้วย
จากนั้นเมื่อทำบุญที่วัดและรดน้ำผู้อาวุโสแล้ว ต่างก็มาชุมนุมกัน โดยในการนี้ได้จัดให้มีการละเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน ซึ่งมหรสพและการละเล่นที่นิยมกันมากคือ มโนห์รา, หนังตะลุง, มอญซ่อนผ้า, อุบลูกไก่, ชักเยิ่อ, สะบ้า, จระเข้ฟากหาง (หรือบางแห่งเรียกว่าฟาดทิง), ยับสาก, เตย, ปิดตา, ลักซ่อน, วัวชนและเชื้อยาหงส์ ฯลฯ โดยการละเล่นทั้งหลายนี้ร่วมเรียกว่า "เล่นว่าง"
และวันสุดท้ายเป็นวัน "เจ้าเมืองใหม่" หรือ "วันรับเจ้าเมืองใหม่" (15 เมษายน) เชื่อว่าวันนี้เจ้าเมือง ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้คุ้มครองเมืองต่าง ๆ อันอาจจะไม่ใช่เมืองที่ตนเคยประจำอยู่แต่เดิมในปีที่แล้ว จะลงมาประจำเมือง ซึ่งตนต้องรับหน้าที่คุ้มครองตลอดปีใหม่ ชาวเมืองจึงเตรียมการต้อนรับเทวดาเจ้าเมืองคนใหม่ด้วยความยินดี โดยในวันนี้ผู้คนก็จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ เพื่อนำอาหาไปถวายพระที่วัด จากนั้นก็ไปรดน้ำผู้อาวุโสที่ยังตกค้างไม่ได้ไปรดน้ำใน "วันว่าง" สำหรับในบางตระกูลที่มีวงศาคณาญาติมากมาย ก็จะจัดพิธีเบญจาในวันนี้ด้วย
"พิธีเบญจา" หรือ "พิธีบิญจา" เป็นประเพณีรดน้ำผู้อาวุโส โดยจัดโรงพิธีแบบจตุรมุข (คือมีมุขสี่ด้านตรงกลางมียอดแหลม) ตั้งแท่นกลางโรงพิธี ครั้นถึงเวลารดน้ำก็เชิญผู้อาวุโสนั่งบนแท่น ลูกหลานก็เข้ามารดน้ำพระพุทธมนต์ที่ผสมกับเครื่องหอมหลายชนิด ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็จะสวดชยันโตให้พรไปด้วย รดน้ำแล้วประพรมเครื่องหอม และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้แก่ผู้อาวุโส เป็นเสร็จพิธีขึ้นเบญจา
อย่างไรก็ตาม หากปีใดเป็นปีที่มีเดือนแปด 2 ครั้ง ให้ถือว่าวันว่าง (วันเนา) มีสองวัน ดังนั้น วันที่ 13 เมษายน จึงเป็นวันมหาสงกรานต์หรือวันส่งเจ้าเมืองเก่า วันที่ 14 - 15 เมษายน เป็นวันว่าง และวันที่ 16 เมษายน เป็นวันเถลิงศกหรือวันรับเจ้าเมืองใหม่