แข่งเรือยาว ประเพณีออกพรรษา

นิราศเดือนกรมหมื่นพรหมสมพัตสร (ศิษย์สุนทรภู่) กวีในสมัยรัชกาลที่ ๓

                              “..เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระพรรษา         ชาวพาราเซ็งแซ่แห่กฐิน

                                  ลงเรือเพียบพายยกเหมือนนกบิน         กระแสสินธุ์สาดปรายกระจายฟอง

                                            สนุกสนานขานยาวสาวสนั่น               บ้างแข่งขันต่อสู้เป็นคู่สอง

                                            แพ้ชนะปะตาพูดจาลอง                ตามทำนองเล่นกฐินสิ้นทุกปี ..” 

บทกลอนจาก : http://article.cultcre.go.th 

การแข่งขันเรือยาว ภาพถ่ายโดย : นายชัยพร  วรรณเรือน 

 ย้อนอดีตไปประมาณ 50 – 60 ปี เมื่อถึงเดือน 12 เป็ง (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12) เป็นประเพณีที่ชาวบ้านมาทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ล่วงลับ (บรรพบุรุษ) ซึ่งเป็นประเพณีตามความเชื่อของชาวไทยพุทธ เล่าต่อกันมาว่า “ท่านพยายม” จะเปิดประตูผีหรือประตูนรกวันปล่อยผีให้ดวงวิญญาณมารับเอาส่วนบุญส่วนกุศลที่ทางญาติทำบุญให้ เทศกาล 12 เป็ง ของทุกๆ ปี           พื้นที่ชุมชนตำบลปากบ่อง มีทั้งหมดจำนวน 5 ชุมชน (หมู่บ้าน) คือ ชุมชนบ้านสบทา ชุมชนบ้านท่าต้นงิ้ว ชุมชนบ้านหนองสะลีก ชุมชนบ้านหนองผำ และชุมชนบ้านปากบ่อง ชุมชนบ้านก้องหรือบ้านปากบ่อง ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลปากบ่อง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน และชุมชนใกล้เคียงเข้าวัดทำบุญตักบาตรกันแล้ว จะชวนกันไปชมการแข่งเรือยาวประจำปี บริเวณท่าน้ำปิงซึ่งอยู่หลังวัดบ้านก้องนั่นเอง   

นายชัยพร  วรรณเรือน อดีตกำนันตำบลปากบ่อง ภูมิปัญญาในด้านเรือพายพื้นบ้าน ได้ให้ข้อมูลว่า เรือยาวที่ใช้ในการแข่งขันในสมัยนั้น มีอยู่หลายประเภท คือเรือยาวตั้งแต่ขนาดฝีพายเดียว ,    2 ฝีพาย ,  3 ฝีพายและเรือยาวขนาด 5 ฝีพาย สมัยนั้นบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียงมักจะนำเรือของตนมาแข่งขันด้วยเสมอ รวมถึงทีมที่มาจากฝั่งจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำปิง อีกทั้งยังมีการแข่งขันดำน้ำ   ว่ายน้ำข้ามฝั่งอีกด้วย สร้างความสนุกสนาน ทั้งตื่นเต้น รวมไปถึงเสียงไชโยโห่ร้องส่งเสียงให้กำลังใจทีมของตน 

การแข่งขันเรือยาว ภาพถ่ายโดย : นายชัยพร  วรรณเรือน 

เรือที่ใช้ในการแข่งขันส่วนใหญ่จะทำมาจากไม้ตะเคียนทอง โดยวิธีการขุดเป็นลำเรือ เนื่องจากไม้ตะเคียนมีลักษณะเฉพาะ คือเป็นไม้เนื้อแข็ง มีความทนทานสูง มีสีน้ำตาลอมส้ม ทนต่อปลวกได้ดี สามารถตกแต่งทำสีได้สวยงามและที่สำคัญคือ การยืดหดของเนื้อไม้ต่ำ เมื่อต้องอยู่ในน้ำ คุณสมบัติเหล่านี้เหมาะกับการนำมาทำเป็นเรือพายเป็นอย่างมาก 

การแข่งขันเรือยาว ภาพถ่ายโดย : นายชัยพร  วรรณเรือน 

 ต้นตะเคียนเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านหรือคนไทยสมัยก่อนนิยมสักการบูชา เพื่อขอโชคลาภ โดยเฉพาะเรื่องของการเสี่ยงโชค คนโบราณมีความเชื่อว่า มีภูตผีสิงอยู่ในไม้ตะเคียนหรือเรียกว่า    “นางตะเคียน” แต่บางคนก็มีความเชื่อว่าเจ้าแม่ตะเคียนคือ ผู้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และจะให้โชคกับคนที่สักการบูชา จึงมักมีการเซ่นไหว้หัวเรือ ก่อนลงแข่งขันเสมอ

       ขนาดของเรือ 12 ฝีพายจะมีความยาวประมาณ 12 เมตร กว้าง 75 เซนติเมตร และลึก 28 เซนติเมตร ชาวบ้านมักเรียกว่า “เรือจิ๋ว” อาจเป็นเพราะเรือมีขนาดเล็ก มีฝีพายตั้งแต่ 5 – 12 ฝีพายเท่านั้น และก่อนการลงแข่งขันเรือพายแต่ละประเภท ผู้แข่งขันจะต้องส่งตัวแทนจับฉลาก พื่อเลือกฝั่งแม่น้ำ ว่าจะอยู่ฝั่งตะวันออกหรือฝั่งตะวันตก

การแข่งขันเรือยาว ภาพถ่ายโดย : นายชัยพร  วรรณเรือน

ปัจจุบันการแข่งขันเรือยาวประเพณีวัดบ้านก้อง ตรงกับเทศกาลออกพรรษาของทุกปี  มีการกำหนดประเภทของเรือที่  จะแข่งขันออกเป็น ประเภท 5 ฝีพาย และประเภท 12 ฝีพาย ประเพณีการแข่งขันเรือยาวมักจัดคู่ไปกับการเข้าวัดทำบุญตักบาตร มุ่งเน้นการสร้างความสามัคคี รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเนื่องในเทศกาลออกพรรษา โดยกิจกรรมดังกล่าวนั้นจัดเป็นประจำทุกปี

การแข่งขันเรือยาว ภาพถ่ายโดย : นายชัยพร  วรรณเรือน

ในการจัดงานประเพณีแข่งเรือแต่ละปีนั้น ผู้จัดยังมุ่งหวังให้การกีฬาพื้นบ้าน ประเภทแข่งเรือพายนี้เกิดประโยชน์สูงสุด  ให้เยาวชนชนรุ่นหลังได้สืบทอด อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี    การแข่งเรือพายของจังหวัดลำพูน อีกทั้งยังสร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ความอดทน มีน้ำใจให้แก่กัน ความเพรียร  พยายาม ความเป็นนักกีฬาที่ดี และสร้างรอยยิ้มเสียงหัวเราะสร้างความสุขให้กับผู้คนมากมายโดยเฉพาะตำบลปากบ่อง อำเภอป่าซาง ให้จดจำตลอดไป

ข้อมูล เนื้อหา โดย :   นายชัยพร  วรรณเรือน  ภูมิปัญญาเรื่องเรือพายพื้นบ้าน

เรียบเรียงเนื้อหาโดย : นายศุภกานต์  แก้วทิพย์  ครูกศน.ตำบลปากบ่อง

ภาพถ่าย โดย : นายชัยพร  วรรณเรือน