กิจกรรมอาชีพผลิตภัณฑ์จากกล้วย

ประวัติความเป็นมา

กล้วยเป็นไม้ล้มลุก ที่มีอยู่ทั่วไปตามท้องถิ่น นิยมปลูกกันมากในทุกบ้านสำหรับความเป็นมาของกล้วยในประเทศไทย จากหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุด คือ จดหมายเหตุของลาลูแบร์ ที่เขียนขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จดหมายเหตุกล่าวถึงกล้วยงวงช้าง () และกล้วยงาช้าง น่าจะหมายถึง กล้วยยักษ์ และกล้วยร้อยหวี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อกล้วยมีกำเนิดอยู่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังที่กล่าวแล้วนั้น จึงย่อมเชื่อได้ว่ามีการปลูกกล้วยในเมืองไทยมานานก่อนสมัยอาณาจักรศรีวิชัย (พ.ศ.1200 โดยประมาณ) ส่วนในอินเดียได้รู้จักกล้วยกันมานานกว่าสามพันปีมาแล้ว โดยมีข้อความปรากฏตอนหนึ่งในมหากาพย์รามายณะกล่าวว่า “ เมื่อนางเกาสุริยาได้ฟังว่า พระรามมิได้มีการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์แล้ว พระนางถึงกับล้มราวกับต้นกล้วยถูกฟันด้วยคมมีด ” ปัจจุบันพันธุ์กล้วยที่สำคัญของไทย ได้แก่ กล้วยน้ำว้า ปลูกกันมากที่สุดในจังหวัดเลย หนองคาย และระนอง ตามลำดับ รองลงมาได้แก่กล้วยไข่ ซึ่งปลูกกันมากที่สุดที่จังหวัดกำแพงเพชร ตาก และนครสวรรค์ ทุกส่วนของกล้วยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะผลสามารถใช้ประโยชน์ทางอาหารได้สูงสุด รับประทานได้ทั้งผลดิบและสุก กล้วยสุกนำไปเผาทั้งเปลือก ขูดเอาแต่เนื้อไปบดกับข้าว เป็นอาหารชนิดแรกของคนไทยนอกจากนมแม่ กล้วยดิบสามารถนำไปแปรรูปเป็น แป้งกล้วย ไว้ผสมกับอาหารอื่นๆ หรือไปทำเป็นกล้วยฉาบ กล้วยกวน กล้วยตาก ข้าวเกรียบกล้วย ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน นอกจากผลแล้ว ปลีกล้วย ใช้เป็นผักเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญของแกงเลียง อาหารเพิ่มน้ำนมให้แก่แม่ที่เพิ่งคลอดบุตร กาบใน (ไส้) ใช้ทำอาหาร เช่น แกง เราจึงเริ่มได้ความคิดว่าในเมื่อมีกล้วยอยู่มากมาย ทำไมเราไม่ดัดแปลงนำมาทำเป็นอาหารที่ทำรายได้ให้กับเราได้ จึงมีความคิดว่าเอากล้วยมาปิ้งแบบง่าย ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่า

กศน.ตำบลนาชุมแสง ได้จัดกิจกรรมตามนโยบายจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในการดำเนินงานศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน “สู่วิสาหกิจชุมชน : ชุมชนพึ่งตนเอง ทำได้ ขายเป็น” ที่ส่งเสริมการจัดการศึกษาอาชีพที่สอดคล้องกับศักยภาพของชุมชนและความต้องการของตลาด รวมทั้งสร้างเครือข่ายการรวมกลุ่มในลักษณะวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ให้ชุมชนพึ่งตนเองได้รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า การทำช่องทางเผยแพร่และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนให้เป็นระบบครบวงจร

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากกล้วย

๒. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้มาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพได้

เป้าหมาย เชิงปริมาณ : ประชาชนในพื้นที่ตำบลนาชุมแสงกลุ่มสนใจจำนวน ๒๐ คน

เชิงคุณภาพ : ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำขนมผลิตภัณฑ์จากกล้วย และสามารถนำความรู้มาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการประกอบอาชีพได้