หมู่บ้านแกะสลักไม้บ้านหนองยางฟ้า

แหล่งเรียนรู้ชุมชนท่องเที่ยว OTOP 

 หมู่บ้านนวัติวิถี บ้านหนองยางฟ้า

"แกะสลักเลื่องลือ ฝีมือชั้นครู แวะเยี่ยมชมดูที่หนองยางฟ้า"


ประวัติการแกะสลักไม้บ้านหนองยางฟ้า 

ปี พ.ศ. 2500 พ่อหลวงน้อยเสาร์ พุทธวงค์ เป็นคนบ้านหนองยางฟ้า หมู่ที่ 5 ก็เริ่ม เห็นว่าการแกะสลักเป็นการสร้างรายได้ที่ดี จึงไปเอาแบบจาก พ่อหลวงน้อยซอน จินะปัญโญ นำมา ฝึกหัดเอง ลองผิดลองถูก เนื่องจากคนสมัยนั้นหวงวิชากันอยู่จึงต้องฝึกหัดเอง และต่อมาพ่อน้อยแปง คุ้ยกาศ และพ่อหลวงข่าย นันตากาศ เป็นคนบ้านท้องฝาย หมู่ที่ 3 ก็เริ่มนำมาฝึกหัดบ้าง สมัย นั้นก็ยังคงเป็นรูปช้างไม้สักยืนบนคอย (ภูเขาเล็ก ๆ) นำไปขายให้กับร้านค้าในอำเภอหางคงด้วยคนเองไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ และเมื่อคนในชุมชนเห็นว่าอาชีพแกะไม้เป็นอาชีพที่ทำให้มีรายได้เสริมจากการทำเกษตรก็สนใจฝึกหัดแกะสลักไม้จนกลายเป็นอาชีพที่แพร่หลายทั่วทั้งในหมู่บ้านและตำบลทาทุ่งหลวงมาจนถึงปัจจุบัน 

ปี พ.ศ. 2505 การแกะสลักได้ประสบปัญหาไม่สามารถนำไม้สักมาแกะสลักได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมายการตัดไม้ จึงเกิดการรวมกลุ่ม ชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มสหกรณ์ผลิตไม้แม่ทา" เพื่อแก้ไขปัญหาไม้สักคลาดแคลนโดยการนำของพ่อหลวงสิงห์ชัย ปะระดี กำนันสงัด เดคำกาศ และ พ่อหลวงสำราญ วรรณตุง เริ่มแรกมีสมาชิก จำนวน 25 คน เพื่อซื้อไม้สักที่ถูกกฎหมายจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ มาทำการแกะสลักไม้นำมาให้สมาชิกกลุ่มสหกรณ์ผลิตไม้แม่ทาแกะสลัก สมาชิกส่วนใหญ่จะมารับไม้สักแล้วนำไปแกะที่บ้านของตนเอง ทำให้ทางกลุ่มสหกรณ์ผลิตไม้แม่ทามีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

  จนกระทั่งไม้สัก จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จังหวัดเชียงใหม่ หมดลงก็เลย ต้องคิดหาวิธีการนำไม้ต้นจามจุรี (ไม้ฉำฉา) มาแกะสลักแทนไม้สัก ซึ่งมีคุณภาพ ความสวยงามและความคงทน ไม่ต่างกัน และไม้จามจุรี (ไม้ฉำฉา) ที่นำมาแกะก็ตัดมาจากภายในตำบล ในจังหวัดลำพูน และไม่นานก็หมดลงอีก คราวนี้เลยมีการสั่งไปทางจังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ จังหวัดน่านฯลฯ ให้นำมาส่งให้มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ปะปนกันไป 

ปีพ.ศ. 2512 จากการแกะสลักรูปช้างก็เริ่มเปลี่ยนมาแกะสัตว์นางไหว้ พระพุทธรูป ภาชนะ สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งก็ได้นำด้นแบบมาจากเชียงใหม่ มีแต่การลงน้ำมันแล็กเกอร์เงา ยังไม่มีการทำสี แล้วก็นำส่งขายให้ ร้านบ้านถวาย อำเภอหางคง จ.เชียงใหม่ 

เมื่อวันที่ 8 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 กลุ่มสหกรณ์ผลิตไม้แม่ทา ยังคงอยู่ แต่ เปลี่ยนชื่อมาเป็น "สหกรณ์บริการแกะสลักไม้แม่ทาจำกัด" และมีการสับเปลี่ยนประธานและคณะกรรมการมาโดยตลอด และสมาชิกก็มีจำนวนที่มากขึ้น ทั่วทั้งอำเภอแม่ทา หลังจากนั้นชาวบ้านก็หันไปเอาไม้จากโรงงาน และเป็นคนงานรับจ้างแกะสลักไม้ในโรงงานแทน เนื่องจากไม่ต้องซื้อไม้ด้วยตนเอง ใช้ไม้ที่ทางโรงงานซื้อมาในการแกะสลัก แล้วแกะสลักให้เจ้าของโรงงานนำส่งขายในจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป 

ปัจจุบันการแกะสลักไม้ของคนในหมู่บ้านหนองยางฟ้า ส่วนใหญ่รับจ้างแกะสลักไม้ให้กับโรงงานเป็นชิ้นงานที่เจ้าของโรงงานเป็นผู้รับแบบผลิตภัณฑ์มาแล้วนำรูปแบบมาจ้างให้แกะสลักตามรูปแบบแล้วรับค่าจ้างจากเจ้าของโรงงานและก็มีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่ทำอาชีพแกะสลักไม้ด้วยตนเองคือรับแบบผลิตภัณฑ์มาแกะสลักและส่งขายเองจะเป็นการทำให้มีรายได้มาก ขึ้นเพราะสินค้าจำหน่ายไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ก็มีปัญหาเรื่องการที่จะต้องออกไปหาดลาดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สถานที่ส่งขายส่วนใหญ่จะส่งไปขายที่บ้านถวาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่


ข้อมูลเนื้อหา :งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เรื่อง การจัดการความรู้การแกะสลักพระพุทธรูปไม้ บ้านหนองยางฟ้า ตำบลทาทุ่งหลวง อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน โดย นายไพศาล คำกาศ ปี 2555 ออนไลน์. http://webpac.library.mju.ac.th:8080/mm/fulltext/thesis/2557/paisan_khamkad/chapter4.pdf
เรียบเรียงเนื้อหา : นางสาวกรนิการ์  แสงกาศ

วิดีโอยูทูป :  Therdsak Sirisit  เรื่อง ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัติวิถีบ้านหนองยางฟ้า
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ :  เทศบาลทาทุ่งหลวง https://www.facebook.com/search/top?q=%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด : 15 กุมภาพันธ์ 2567

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ lpn.amt_nfedc@nfe.go.th หรือโทร 053-976-291