สถานตากอากาศบางปู
ประวัติสถานตากอากาศบางปู
กองสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก หรือสถานตากอากาศบางปู มีประวัติความเป็นมาพอสังเขป ดังนี้
พ.ศ. 2480 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปราชการที่จังหวัดชลบุรี ขณะที่ผ่านพื้นที่นี้ท่านได้ปรารภว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมจะทำเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และตากอากาศ เนื่องจากมีบรรยากาศดี และไม่ห่างพระนครมากนัก จึงได้ให้จัดซื้อที่นี้ไว้เป็นจำนวน 463–3-37 ไร่ เพื่อจัดทำเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจริมทะเล, ร้านค้าบริการอาหารและเครื่องดื่ม, ที่พักบังกะโล ตั้งชื่อว่า “สถานตากอากาศชายทะเลบางปู” อาคารสถานที่ที่สร้างในคราวนั้นได้แก่ บังกะโลที่พัก สะพานสุขตา ศาลาสุขใจ ซึ่งยื่นออกไปในทะเลถึง 500 เมตร
พ.ศ. 2482 การดำเนินการก่อสร้างสะพานสุขตาเสร็จเรียบร้อยเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้รับผิดชอบดูแล มีหน่วย งานต่างๆ รับผิดชอบผลัดเปลี่ยนกันไปหลายหน่วย เช่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นต้น ปัจจุบัน กรมพลาธิการทหารบก เป็นหน่วยรับผิดชอบ มีพื้นที่ 639-1-23 ไร่
เนื่องจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา สถานตากอากาศชายทะเลบางปู จึงต้องหยุดกิจการชั่วคราว จนกระทั่ง พ.ศ. 2491 เมื่อสถานการณ์สิ้นสุดลง สถานตากอากาศชายทะเลบางปู ก็ปรับปรุงพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก และกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง
พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภกับพลโท ประภาคาร กาญจนาคม เจ้ากรมแพทย์ทหารบก แสดงความห่วงใยต่อทหารที่บาดเจ็บ และทุพพลภาพจากราชการสนาม ทรงมีพระราชดำริว่ากองทัพบกควรมีหน่วยงานฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจทหารเหล่านี้ให้ดีที่สุด ให้กลับมารับราชการได้ดังเดิมและให้มีการฝึกอาชีพแก่ทหารเหล่านี้ด้วย
พ.ศ. 2512 กรมพลาธิการทหารบก รับโอนความรับผิดชอบการพักฟื้นจากกรมแพทย์ทหารบก เปลี่ยนชื่อหน่วยเป็น “กองอำนวยการสถานพักฟื้นและพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก” ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยราชการสนามที่ทุเลาการเจ็บป่วยจากโรงพยาบาลของกองทัพบก โดยฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ บำรุงขวัญ จัดให้มีการพักผ่อน การบันเทิง กีฬา จัดเลี้ยงอาหารและช่วยเหลือครอบครัวผู้ป่วย
พ.ศ. 2532 สถานการณ์การก่อการร้ายสิ้นสุด ไม่มีทหารป่วยมาพักฟื้นอีก จึงจัดให้เป็นสถานพยาบาลสำหรับกำลังพล และครอบครัว
พ.ศ. 2536 ร้านอาหารที่ปลายสะพานสุขตาถึงคราวต้องปิดตัวลง เนื่องจากความทรุดโทรมของฐานรากอาคารชำรุดมาก ไม่ปลอดภัยกับผู้มาใช้บริการ
พ.ศ. 2540 เริ่มดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมสะพานสุขตาและอาคารร้านอาหารปลายสะพานสุขตา โดยใช้งบประมาณจากกองทัพบกจำนวน 182 ล้านบาท
พ.ศ. 2542 เนื่องจากสถานการณ์ภายในบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปการสู้รบตามแนวชายแดนลดน้อยลงทำให้สถานพักฟื้นไม่มีทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบมาฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกายกองทัพบก จึงได้มีคำสั่งแก้อัตรากองทัพบกโดยยุบสถานพักฟื้นคงเหลือไว้เพียงสถานพักผ่อนเปลี่ยนชื่อหน่วยจากกองอำนวยการสถานพักฟื้นและพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบกเป็น “กองอำนวยการสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก”
พ.ศ. 2543 การปรับปรุงซ่อมแซมสะพานและร้านอาหารปลายสะพานสุขตาได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยพร้อมเปิดให้บริการแก่ข้าราชการลูกจ้างสังกัดกองทัพบกตลอดจนประชาชนทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2543 เปลี่ยนชื่อในส่วนของอาคารร้านอาหารใหม่เป็น "ศาลาสุขใจ"
พ.ศ. 2550 เปลี่ยนนามหน่วยอีกครั้ง จาก “กองอำนวยการสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก” เป็น “กองสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก” และกองทัพบกมีนโยบายให้หน่วยดูแลรักษาอาคารผู้ป่วยให้มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เนื่องจากมีเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ
พ.ศ. 2556 โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าร่วมกับกรมพลาธิการทหารบก จัดทำโครงการกองทัพบกฟื้นฟูศักยภาพทหารกล้า เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ และพัฒนาความสามารถของผู้ป่วยราชการสนาม ให้กลับมาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคมต่อไป
ในปัจจุบัน ร้านค้าศาลาสุขใจ เปิดบริการเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับกำลังพลของกองทัพบก, ข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม รวมถึงประชาชนทั่วไป ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ถึง 20.00 น. และมีลีลาศเพื่อสุขภาพทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 16.00 – 20.00 น.
บริการที่พัก ประกอบไปด้วย บังกะโลปรับอากาศหลังใหญ่ จำนวน 3 หลัง ปรับอากาศหลังเล็ก จำนวน 11 หลัง บังละโกพัดลม จำนวน 7 หลัง, โรงแรม (อาคารที่พัก) ประกอบไปด้วย ห้องพักแบบเตียงคู่ จำนวน 14 ห้อง ห้องพักแบบ 6 เตียง จำนวน 2 ห้อง ห้องพักแบบ 9 เตียง จำนวน 2 ห้อง นอกจากนี้ยังมีอาคารพักแรม จำนวน 2 หลัง ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ สามารถรองรับผู้ที่มาพักอาศัยได้หลังละ 30 คน
สถานตากอากาศบางปู เปิดพื้นที่ให้เป็นที่ออกกำลังกาย ได้แก่ จัดลานแอโรบิค, จัดถนนภายในให้เป็นที่วิ่งออกกำลังกาย
งานที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบก
1. การจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี”
เมื่อปี 2547 โดยกองทัพบกจัดพื้นที่ของสถานตากอากาศบางปู จำนวน 338 ไร่เศษเป็นที่ตั้งศูนย์ศึกษาฯ โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF. World Wild Fund For Nature) จัดตั้งสำนักงานศูนย์ศึกษาฯ และเป็นหน่วยให้การศึกษาแก่เยาวชน นักเรียน และองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลน ฯลฯ โดยมุ่งประสงค์ให้นักเรียนได้เข้ามาศึกษาอย่างเป็นระบบ วันละ 100 คน โดยที่ผ่านมีประชาชนและนักเรียนนักศึกษาเข้าเยี่ยมชมประมาณ 50,000 คน
2. การอนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติฯ
ได้ร่วมกับส่วนราชการและภาคเอกชน ดำเนินการปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2549 ตามโครงการพลิกฟื้นผืนป่าด้วยพระบารมี ของกองทัพบก เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ได้ทำการปลูกป่าชายเลนเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยปลูกต้นลำพูทะเล, ต้นแสมขาว และต้นโกงกาง รวมทั้งสิ้นประมาณ 400,000 ต้น คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 200 ไร่เศษ
โครงการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน โดยกองทัพบกได้ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำพื้นที่สาธิตการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน ซึ่งประกอบไปด้วยการจัดทำแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นความยาวประมาณ 500 เมตร, ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยธรรมชาติ, กังหันลมผลิตไฟฟ้าพลังงานลม จำนวน 9 ต้น สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ต้นละ 5 กิโลวัตต์ และอาคารแสดงนิทรรศการฯ
สถานตากอากาศบางปู มีที่ตั้งริมทะเล ด้านหน้าติดถนนสุขุมวิท ด้านหลังติดอ่าวไทย ด้านทิศตะวันออกติดกับหมู่บ้าน บางปูแลนด์ ด้านทิศตะวันตกติดกับหมู่บ้าน คลองคอต่อห่างจากตัวจังหวัดสมุทรปราการไปทางทิศใต้ ประมาณ 15 กิโลเมตร สภาพป่าในบริเวณโดยรอบ แบ่งเป็น 2 แบบด้วยกัน แบบแรกเป็นพื้นที่ป่าที่ฟื้นตัวเองจากเดิมที่เป็นนากุ้งจำนวน 338 ไร่ ส่วนบริเวณหน้าหาดเลน มีพื้นที่ป่าประมาณ 4 แสนต้น หลังจากปลูกป่าเมื่อ 10 ปี
พันธุ์ไม้ที่พบในพื้นที่ฯ มีจำนวน 65 ชนิด ที่พบมากได้แก่ แสมขาว, ลำพูทะเล, ผักเบี้ยทะเล, ขลู่, ผักบุ้งทะเล, ชะคราม, โกงกางใบใหญ่, โกงกางใบเล็ก เป็นต้น
พันธุ์นกประจำถิ่นและนกอพยพ ที่พบในพื้นที่ฯ มีจำนวน 240 ชนิด ที่พบมากได้แก่ นกนางนวลธรรมดา, นกปากแอ่นหางดำ, นกกาบบัว, นกทะเลขาแดง, นกยางโทน, นกตีนเทียน เป็นต้น โดยนกนางนวล ถือเป็นสัญลักษณ์ของบางปู ซึ่งมีถิ่นเกิดอยู่ในเขตเอเชียตอนกลางด้านทะเลทรายโกเบ, ทิเบต, ตอนใต้ของประเทศจีน จนถึงมองโกเลีย โดยเริ่มพบเห็นได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงปลายเดือนเมษายนของทุกปี
สัตว์หน้าดิน ที่พบในพื้นที่ฯ มีจำนวน 67 ชนิด ที่พบมากได้แก่ ปูแสม, ปูก้ามดาบ, ปลากะจัง, ปลาตีน, ปลาจุมพรวด, หอยขี้นก, เพรียงหิน เป็นต้น
สถานตากอากาศบางปูนอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็น แหล่งรู้ควบคู่ ในเรื่องของการปลูกป่าชายเลน เพื่อทดแทนป่าชายเลนที่สูญเสียไป จะมีการมาปลูกป่าชายเลน ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน