ประวัติความเป็นมา

โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ พิมพ์ อีเมล

ที่ตั้ง : อยู่ที่ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี และตำบลบางปู อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นคลองระบายน้ำสายหลักของพื้นที่บริเวณโดยรอบสนามบิน โดยการเร่งระบายน้ำจากคลองสำโรงไปยังชายทะเลและสูบระบายออกสู่ทะเลโดยตรง ทำให้สามารถลดสภาวะน้ำท่วมและความเสียหายจากอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิผล

2. เพื่อสามารถติดตามสภาพน้ำหลากและการทำงานของเครื่องสูบน้ำในการบริหารจัดการน้ำหลากทั้งระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง

3. เพื่อเป็นถนนเชื่อมโยงถนนสุขุมวิท-เทพารักษ์ และถนนบางนา-ตราด ทำให้สามารถช่วยลดปัญหาการจราจรของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาค่อนข้างมาก และจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดดำเนินการ

4. เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้บางส่วน สำหรับทำการเกษตรหรือกิจกรรมอื่นบริเวณใกล้เคียง

5. เพื่อช่วยเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและระบบนิเวศของจังหวัดสมุทรปราการ

สภาพทั่วไป

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กปร. ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปความว่า “การระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ให้พิจารณาขุดลอกคลองระบายน้ำโดยมีขนาดที่เหมาะสมไม่ใช่เพื่อระบายน้ำเฉพาะบริเวณสนามบิน ให้พิจารณารวมบริเวณรอบ ๆ ด้วย”

กรมชลประทานจึงได้ทำการว่าจ้างสถาบันที่ปรึกษา ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินงานศึกษาสำรวจและออกแบบเบื้องต้น แล้วเสร็จเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2547 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเปิดโครงการเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2547

ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี พ.ศ.2548 – ปี พ.ศ.2553)

ประโยชน์ที่ได้รับ

1. ลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วมโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง

2. ลดปัญหาการจราจรบริเวณพื้นที่โครงการและจังหวัดสมุทรปราการ

3. เป็นแหล่งน้ำจืดสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งเพื่อการเกษตรกรรม

4. การบริหารจัดการน้ำหลากมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ลักษณะโครงการ

- คลองระบายน้ำ ยาวประมาณ 12.65 กม. เป็นคลองดินท้องคลองกว้าง 48 ม. ลึก 3.36 ม. ระบายน้ำได้สูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที พร้อมถนนบนคันคลอง ผิวจราจร Asphaltic Concrete กว้าง 7.0 ม. ไหล่ทางข้างละ 1.0 ม. โดยเชื่อมจากถนนสุขุมวิท ไปจนถึงถนนบางนา – ตราด จำนวน 2 ช่องจราจร และได้เผื่อพื้นที่บางส่วนไว้เพื่อรองรับการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจรในอนาคต

- อาคารประกอบในคลองระบายน้ำ ประกอบด้วย

1. อาคารสะพานน้ำยกระดับและอาคารทิ้งน้ำรูปตัดตัวยู ท้องคลองกว้าง 25.0 ม. สูง 3.15 ม. ยกสูง 5.0 ม. ข้ามคลองชายทะเลและถนนสุขุมวิท

2. สะพานรถยนต์ 6 แห่ง อาคารรับน้ำจากคลองสำโรง อาคารประตูระบายน้ำ ด้านข้างคลองระบายน้ำ 22 แห่ง

3. สถานีสูบน้ำ 1 แห่ง ระบายน้ำได้สูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที (เครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง) พร้อมระบบควบคุมการทำงานของเครื่องสูบน้ำด้วยระบบคอมพิวเตอร์

4. สถานีไฟฟ้าย่อย, ระบบควบคุมระยะไกล, ระบบโทรมาตรอุทกวิทยา และส่วนประกอบอื่นๆ