สงกรานต์พระประแดง

เมืองพระประแดง หรือเมืองนครเขื่อนขันธ์หรือที่ชาวมอญเรียกว่า เมืองปากลัด เป็นเมืองเก่าแก่มีประเพณีศิลปวัฒนธรรม ซึ่งสืบทอดกันมาแต่โบราณ เนื่องจากพื้นที่เสมือนเมืองหน้า ด่านของประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้ทรงสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์และย้ายครอบครัวมอญจากเมืองสามโคก จังหวัดปทุมธานี จำนวน 300 คน มาตั้ง ถิ่นฐาน ณ ที่นี่ ฉะนั้นประเพณีและศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่จึงเกี่ยวกับชาวมอญทั้งสิ้น และยังคงอนุรักษ์ประเพณีอันดีงาม และส่งเสริมงานประเพณีวัฒนธรรมดั่งเดิมของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ เมืองพระประแดง และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณีให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้รู้จักขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทยเชื้อสายรามัญ ซึ่งผลจาก การอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมดังกล่าว ทำให้พระประแดงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในระดับประเทศและระดับนานาประเทศ

ประวัติสงกรานต์ ตำนานสงกรานต์พระประแดง ประเพณีสงกรานต์

ประเพณีสงกรานต์สงกรานต์แต่ละปีนั้น ลูกสาวของท้าวมหาสงกรานต์ทั้ง 7 คน จะต้องผลัดเปลี่ยนเป็นเวรกันแต่ละปี เพื่อนำเอาเศียร (หัว) ของ ท้าวมหาสงกรานต์นำขบวนแห่รอบ ๆ เขาไกรลาสที่ประทับของพระอิศวรพอถึงวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า วันสงกรานต์ลง เทพีประจำปีก็ต้อง ตรวจดูว่า วันที่ 13 เมษายน เป็นวันอะไร ถ้าตรงวันอาทิตย์เทพีประจำวันอาทิตย์ ก็เป็นเวรนำหัวของพ่อเวียนรอบเขาไกรลาส ถ้าเป็นวันอื่นก็ต้องเป็นหน้าที่ของเทพีประจำวันนั้น ๆ

เหตุใดท้าวมหาสงกรานต์ จึงต้องตัดหัวหรือเศียรตัวเองตำนานเล่าว่า ท้าวมหาสงกรานต์แพ้พนันในการทายปัญหากับหนุ่มน้อยวัยฉกรรจ์ชื่อ ธรรมบาล ปัญหาที่ทายกันนั้นมีพนันกันด้วยการตัดหัวตัวเองเป็นเดิมพัน ท้าวมหาสงกรานต์เป็นคนถามธรรมบาลเป็นคนตอบ ปัญหาที่ถามเกี่ยวกับราศีของ มนุษย์ ในวันหนึ่ง ๆ นั้น เวลาใดราศีอยู่ที่ใด ปรากฎว่าท้าวมหาสงกรานต์แพ้เพราะธรรมบาลหนุ่มตอบได้ ท้าวมหาสงกรานต์จึงต้องตัดหัวตัวเองตามสัญญา

เศียร หรือหัวของท้าวมหาสงกรานต์นั้นมีอิทธิฤทธิ์แรงกล้าถ้าตกลงดินไฟจะไหม้โลก ถ้าตกลงน้ำ น้ำทุกแห่งไม่ว่าในทะเล หรือมหาสมุทรจะแห้งหมดมนุษย์จะเดือดร้อนทั่วโลก ท้าวมหาสงกรานต์จึงสั่งให้ลูกสาวทั้ง 7 คน เอาพานใหญ่มารองรับเศียรไว้ แล้วให้เอาไปเก็บในถ้ำเชิงเขาไกรลาส จัดเป็นเวรผลัดเปลี่ยนกันทุกปี นับว่าท้าวมหาสงกรานต์เห็นการณ์ไกลและไม่อยากเห็นมนุษย์เดือดร้อน เป็นเทวดาที่มีแต่เมตตาและเป็นห่วงมนุษย์มาก เศียรของท้าวมหา สงกรานต์ จะมีริ้วขบวนแห่ทุก ๆ ปี การแห่ปลาปล่อยนกของพระประแดง ก็มีเศียรท้าวมหาสงกรานต์ร่วมในขบวนด้วยทุก ๆ ปี โดยมีการบวงสรวงตามประเพณีของชาว พระประแดง ก่อนนำออกไปแห่รอบ ๆ เมืองพระประแดง (ปากลัด) พร้อมกับการแห่ปลาปล่อยนก

ประวัติสงกรานต์ ความเป็นมาของการจัด ประเพณีสงกรานต์ พระประแดง

เมื่อใกล้จะถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านโดยทั่วไปเฉพาะชาวรามัญ – ไทย แต่ละครอบครัวต่างก็จะช่วยกันทำความ สะอาดบ้านเรือนของตนก่อนวันสงกรานต์ 2 – 3 วัน แต่ละบ้านก็ช่วยกันกวนขนมที่เรียกว่า กาละแม บางบ้านก็ทำขนมข้าวเหนียวแดง เพื่อจะ ได้นำไปทำบุญในวันสงกรานต์ และแจกจ่ายญาติมิตรสหาย เพื่อไมตรีจิตซึ่งกันและกัน

บ้านใดกะการหุงข้าวสงกรานต์ หรือข้าวแช่ ก็จะเชิญสาว ๆ ในหมู่บ้านมาช่วยกันหุงต้มอาหารเพื่อการทำบุญ คือในเวลาเช้าสาวที่รับเชิญจะนำ อาหารและข้าวสงกรานต์นั้นไปส่งตามวัดต่าง ๆ เมื่อขากลับจะมีการพรมน้ำรดกันเพื่อความสวัสดีศิริมงคล แต่เป็นการรดน้ำอย่างมีวัฒนธรรมมิใช่สาดน้ำ เมื่อสาวกลับถึงบ้านเจ้าบ้านที่จัด ทำข้าวสงกรานต์ก็จะเลี้ยงดูสาว ๆ และญาติมิตรสหายเป็นการรื่นเริงและไมตรีจิตต่อกัน

ตามหมู่บ้านชาวไทยรามัญ จะเห็นศาลเพียงตาปลูกเตรียมไว้ เจ้าบ้านจะนำอาหารใส่กระทงตั้งไว้บนศาลพร้อมด้วยข้าวแช่ เป็นการสักการะพระ พุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงตามประเพณีการส่งข้าวสงกรานต์นั้น จะทำได้ 3 วัน คือวันที่ 13 – 14 – 15 เมษายน นอกจากส่งข้าวสงกรานต์แล้ว ตามวัดต่าง ๆ มีผู้ไปทำบุญกันอย่างมากมาย ในเวลากลางคืนมีบ่อนสะบ้าตามหมู่บ้านเป็นที่สนุกสนานยิ่งนักบางบ่อนมีถึง 7 วัน ทั้ง นี้ มิใช่เป็นการพนันเอาทรัพย์สินอย่างใด เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งตามพื้นเมืองตามบ่อนสะบ้ามีผู้ชมมากมาย และแต่ละคนต่างก็รักษามารยาทและ วัฒนธรรม แต่ละบ่อนจะมีขนม กวันฮะกอ หรือ กาละแม เตรียมไว้ให้รับประทานด้วย และมีการร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายรามัญ (มอญ) ในวันท้ายของสงกรานต์ พระประแดง (ถัดจากวันที่ 13 เมษายน อีกหนึ่งอาทิตย์)ทุกหมู่บ้านจะรวมใจกันจัดขบวนแห่นางสงกรานต์นำขบวนนางสงกรานต์ ขบวนสาวรามัญ – หนุ่มลอยชาย จากหมู่บ้าน ต่าง ๆ เพื่อแห่นก – แห่ปลา ไปทำพิธีปล่อยนก – ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืน ยาว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกับสาว ๆ ด้วยกิริยาท่าทีที่สุภาพรดแต่พองาม และคุยกันตามประสาหนุ่มสาวตลอดทางที่เดินกลับบ้าน

Cr.https://sites.google.com/site/kassarin97/pede6