การเลี้ยงผี

วัฒนธรรมบ้านม่อนหินขาว หมู่ที่ 4 ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน

ประวัติความเป็นมา “การเลี้ยงผีของชนเผ่ากะเหรี่ยง” 

การเลี้ยงผีของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านม่อนหินขาว เรียกกันว่าเลี้ยงผีเสี้ยวบ้านประจำปี ภาษากะเหรี่ยงเรียกการเลี้ยงผีเสี้ยวบ้านว่า “หลือขาง” ซึ่งสืบทอดมาจากสมัยบรรพบุรุษปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชนเผ่ากะเหรี่ยงต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน เชื่อกันว่าสถานที่เสี้ยวบ้านเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน เชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าที่คอยดูแลปกป้อง พร้อมทั้งสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์สี่เท้า หรือสองเท้า นี่คือความเชื่อจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 

ในหมู่บ้านชนเผ่าบ้านม่อนหินขาวจะมีผู้ดูแลเสี้ยวบ้าน  มี 1 คน เรียกว่า “ตั้งข้าว” บางหมู่เรียกว่าหมอผีภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “ขั้งคู” เป็นผู้นำในการรักษา ดูแลเสี้ยวบ้าน บุคคลนี้จะเป็นผู้อาวุโสของคนในชนเผ่า ซึ่งชนเผ่าให้การนับถือและเชื่อมั่นในตัวของตั้งข้าว และต้องเป็นผู้ที่มีศีลธรรมอันดี 

สถานที่ที่ชนเผ่าจะทำการประกอบพิธี

       - อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน และเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์

       - มีหอประกอบพิธีอยู่ 2 หลัง แต่ละหลังจะมีความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 3 เมตร

       - หน้าหอประกอบพิธีจะทำเป็นซุ้มกอไม้ไผ่หรือไม่บงปลูกไว้ จะนำไม้มาทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ความ หมู หมา กา ไก่ และปลา

       จากการถามผู้เฒ่าผู้แก่ว่าทำไมต้องมีรูปสัตว์เหล่านี้ด้วย คำตอบคือ เทพเจ้าทีจะมารับเครื่องสังเวยในวันนั้นจะนำพาสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้มาด้วยเพื่อพิธีจะได้สมบูรณ์แบบ 

กำหนดการเลี้ยงผีเสี้ยวบ้าน(หลือขาง) ภายใน 1 ปีจะประกอบพิธี 2 ครั้ง คือ เดือน 5 เหนือ ขึ้น 9 ค่ำ และเดือน 9 เหนือ ขึ้น 9 ค่ำ จะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมิถุนายนของทุก ๆ ปี

       ***เว้นแต่หญิงสาวในหมู่บ้านมีเพศสัมพันธ์ก่อนพิธีแต่งงานถือว่าผู้นั้นกระทำผิดจารีตประเพณีหรือ “ผิดผี” จะต้องซ่อมผีให้ชาวบ้านเสียก่อน แล้วจะเลื่อนการประกอบพิธีเลี้ยงผีในวันถัดไป ขึ้นอยู่กับตั้งข้าวจะสั่งว่าจะเลื่อนให้เป็นวันไหน

       ก่อนจะถึงวันเลี้ยง 7 วัน ทุกหลังคาเรือนจะต้องนำข้าวสารหลังคาละ 1 จอกนำมารวมกันเพื่อนำมาต้มเป็นเหล้าที่จะเตรียมทำพิธีในวันเลี้ยง ซึ่งเราจะไม่นำเหล้าที่กลั่นจากโรงงานไปทำพิธีอย่างเด็ดขาด 

วันเลี้ยงผีเสี้ยวบ้าน(หลือขาง)

      - ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาในหมู่บ้านเด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืนหรือถลำเข้าไปจะต้องทำการปรับตามความเหมาะสามจะทำการปิดหมู่บ้านเป็นเวลา 2 วัน

- ทุกหลังคาจะต้องมีไก่คนละ 1 ตัว กรวยดอกไม้ 2 กรวย หรือ 2 อัน ในกรวยดอกไม้จะมี ข้าวตอก ดอกไม้ และเทียนขี้ผึ้ง 1 คู่

- เมื่อไปถึงบริเวณพิธีชาวบ้านจะนำกรวยดอกไม้รวบรวมใส่ขันที่ตั้งข้าวได้จัดไว้ให้พร้อมทั้งนำไก่ผูกรวมกันใต้ถุนหอซึ่งเรียกว่า “หอเสี้ยวบ้าน”

- เมื่อรวบรวมเสร็จแล้ว ตั้งข้าวก็จะทำการนั่งพับเพียบพร้อมกันนั้นตั้งข้าวก็ได้บริกรรมหรืออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเจ้าป่าเจ้าเขาที่ได้คุ้มครองชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านให้อยู่ดีมีสุขพ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้น แล้วนำขันและเหล้าต้มขึ้นไปยังหอทั้งสองหลัง

- เมื่อได้เวลาอันสมควรชาวบ้านที่ไปร่วมพิธีทุกคนก็จะจับเอาไก่ของใครของมันเชือดที่คอไก่แล้วเอาเลือดไก่สดแปะที่ก้านเสาของหอทุกด้านโดยจะเรียงแถวกันอย่างมีระเบียบจนครบทุก ๆ คน

- จากนั้นก็จะทำการต้มไก่หม้อใครหม้อมันจนไก่ทุกคนสุกแล้วก็ตักไก่ออกจากหม้อไปรวมกันที่บนหอทั้งสองหลังโดยการนำของตั้งข้าว ตั้งข้าวจะทำการจุดเทียนขี้ผึ้งไว้บนหอแล้วบริกรรมหรืออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง

- เมื่อได้เวลาพอสมควรแล้วประมาณเวลา 14.30 น.ตั้งข้าวก็จะขึ้นไปนำไก่ลงมาจากหอคืนให้เจ้าของไก่เพื่อจะทำพิธีดูกระดูกไก่(กว่าชอครี)

พิธีดูกระดูกไก่  พิธีดูกระดูกไก่ก็จะฉีกเอาเนื้อที่โคนขาของไก่ทั้งหมดออก จะเหลือแต่กระดูกซึ่งในกระดูกไก่นั้นจะมีรูเล็ก ๆ อยู่ทุกตัว ไก่แต่ละตัวจะมีรู้ไม่เหมือนกัน เจ้าของไก่จะนำไม้จิ้มเล็ก ๆ เสียบเข้าไปที่รูกระดูกของไก่เพื่อให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแลทำนายทายทักว่ากระดูกไก่ของผู้นั้นจะเป็นอย่างไร ถ้ากระดูกไก่ของใครไม่ดีก็จะเอากระดูกทั้งและทำการแก้เคล็ดด้วยไข่ต้ม 

การดูกระดูกไก่นั้นจะมีชื่อเรียกเป็นอย่าง ๆ ไป เช่น

1. โด่ลอค่อแช         แปลว่า       หัวลง เท้าห้อย ถือว่าดี

2. โค่ดรอค่อครอ       แปลว่า       หัวตรง ท้ายตรง ถือว่าดี

3. ตี่โตจะ           ไม่มีคำแปล   ถือว่าผู้นั้นจะประสบความสำเร็จในด้านการงาน

4. ตี่โตมี หรือมีเตะ    ไม่มีคำแปล   อันนี้ถือว่าไม่ดีเป็นอย่างยิ่ง

5. ชอดีมอย            แปลว่า       กระดูกเมื่อย ถือว่าไม่ดี

6. วะหมื่อ              แปลว่า       ล้อมเมือง ถือว่าไม่ดี

7. โค่สึค่อสึ         แปลว่า       หัวเลื่อน เท้าเลื่อน ถือว่าไม่ดี

8. โค่สึค่อแช           แปลว่า       หัวเลื่อน เท้าห้อย ถือว่าดี

9. โด่ลอโด่ทอ          แปลว่า       หัวลง เท้าขึ้น ถือว่าไม่ดี

10. ฉ่อเครดรอ        ไม่มีคำแปล   ถือว่าดีมาก

11. ฉ่อคีปุ่ย            แปลว่า       กระดูกกรอบ ถือว่าไม่ดี

12. ลอปู ทอปู         แปลว่า       ลงถูกทิศ ขึ้นถูกทิศ ถือว่าดี

13. เหว่โค่ลอ       แปลว่า       กลับหัว กลับหาง ไม่ดี

***กระดูกไก่ของใครออกมาในลักษณะที่ไม่ดีต้องทำการแก้เคล็ดด้วยการนำไข่ต้มสุกแล้วขึ้นไปแก้บนหอผี

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะใส่ข้าวเข้าที่เจ้าทางก่อนแล้วรับประทานอาหารพร้อมกันอย่างสงบเรียบร้อย

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยทุกคนแล้ว ก็จะทำการซอเป็นภาษาชนเผ่าโดยการล้อมวงกันซอย่างสนุกสนาน เมื่อถึงเวลาประมาณ 17.00 น. ก็จะพากันซอกลับเข้าบ้านเป็นทิวแถว 

พอถึงตอนค่ำก็จะนัดผู้เฒ่าผู้แก่ เยาวชน มาร่วมกันซอที่บ้านตั้งข้าวอย่างสนุกสนาน

       การเลี้ยงผีเสี้ยวบ้าน เป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษที่เป็นของฝากชิ้นสุดท้าย ที่ชนรุ่นหลังพึงจะปฏิบัติสืบต่อกันไปชั่วลูกชั่วหลาน ไม่ให้ประเพณีเลี้ยงผีเสี้ยวบ้าน(หลือขาง) ได้หายไปอย่างน้อยชนเผ่าจะได้ตระหนักว่า

1.       ไม่ให้หญิงสาวมีเพศสัมพันธ์ก่อนการทำพิธีแต่งงานหรือทำผิดจารีตประเพณี ซึ่งอยู่ในศีลข้อที่ 3 ของศาสนาพุทธ

2.       เพื่อให้ชนรุ่นหลังมีความรัก สมัคร สมาน สามัคคี เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน

3.       ให้มีความอดทนต่อการใช้ชีวิตประจำวันและอดทนต่อความหิว อยู่อย่างพออยู่พอกิน

4.       มีความเสมอภาคและความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกัน อยู่ในชุมชนโดยไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน

5.       อย่างน้อยชนเผ่าในหมู่บ้านจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน อย่างน้อยปีละ  ครั้ง

ทั้งหมดนี้เป็นจารีตประเพณีของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านม่อนหินขาว ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาและยังคงจะยึดถือประเพณีของชนเผ่านี้ตลอดไป 

แผนที่การเดินทาง

บ้านม่อนหินขาว หมู่ที่ 4 ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน


ข้อมูลเนื้อหา

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านม่อนหินขาว ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน

เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : นางสาวปิยะนุ แสนอุด ครู ศศช.บ้านม่อนหินขาว

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นางสาวปิยะนุ แสนอุด ครู ศศช.บ้านม่อนหินขาว

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด : 30 มกราคม 2567

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ lpn.amt_nfedc@nfe.go.th หรือโทร 053-976-291