ครก กระเดื่องตำข้าว (เฉ่อโหม่)
ภูมิปัญญาชาวบ้านม่อนหินขาว หมู่ที่ 4 ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
ครก กระเดื่องตำข้าว (เฉ่อโหม่) มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวกะเหรี่ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องทุ่นแรงในการแปรรูปข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร เพื่อนำมาใช้ในการหุงสำหรับบริโภคในชีวิตประจำวัน สำหรับชุมชนชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมแล้ว ครกกระเดื่องจึงเปรียบได้กับโรงสีข้าวในสังคมสมัยใหม่นั่นเอง
ตัวครก ทำด้วยท่อนไม้ขนาดใหญ่ ตัดให้เป็นท่อน สูงประมาณ 50 - 60 เซนติเมตร ขุดส่วนที่สำหรับใส่เพื่อตำข้าวหรือสิ่งอื่น ๆ ให้เป็นเบ้าลึกลงไป ให้สามารถบรรจุเมล็ดข้าวเปลือกได้ครั้งละเกือบ 1 ถัง ทำคานไม้ยาวประมาณ 3 - 4 เมตร เพื่อใช้สำหรับเจาะรูเส้าหรือสากไว้ตำข้าวตั้งเสา 2 ต้นฝังดินให้แน่น อยู่ในแนวเดียวกัน กลางเสาทั้ง 2 ต้นใช้สิ่วเจาะรู หรือบากไม้ให้เป็นร่อง แล้วสอดคานที่รูยึดเสาทั้ง 2 ต้นให้ขนานกับพื้นดิน วางคานเส้าหรือสากให้ค่อนไปอยู่ปลายคานด้านตรงข้ามกับสาก ใช้คานสากตอกยึดกับคานไม้ที่ยึดเสา 2 ต้น
วิธีใช้ จะวางครกไม้ให้ตรงกับเส้าหรือสาก เมื่อใส่ข้าว ข้าวโพดที่เป็นฝักๆไปแล้ว จะใช้แรงเหยียบที่ปลายคาน ด้านที่ยึดติดกับเสา ๒ ต้น เมื่อใช้แรงเหยียบกดลงไป สากจะยกขึ้นเหมือนการเล่นไม้หก เวลาจะให้ตำสิ่งที่ต้องการก็ยกเท้าลง สากจะตำสิ่งของที่เราต้องการในเบ้าครก การตำข้าว ตำฝักถั่ว ตำฝักข้าวโพด จะต้องมีคนช่วยกัน คนหนึ่งเป็นคนเหยียบ อีกคนหนึ่งจะเป็นคนกวนหรือพลิกกลับมาให้สากทุบตำได้ทั่วถึง หากเมล็ดข้าวถูกแรงตำด้วยท่อนไม้สากบ่อย ๆ จะทำให้ข้าวเปลือกกะเทาะหลุดออกจากเมล็ด ชาวบ้านจะนำเมล็ดข้าวสารไปใส่กระด้งอีกทีหนึ่ง เพื่อฝัดให้เศษผงต่าง ๆ ปลิวออกไป แล้วเลือกเมล็ดข้าวเปลือกหรือเศษกรวดดินออก ก่อนที่จะนำไปหุงต่อไป
แผนที่การเดินทางไปเยี่ยมชม ครก กระเดื่องตำข้าว (เฉ่อโหม่) บ้านม่อนหินขาว หมู่ที่ 4 ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
ข้อมูลเนื้อหา
ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านม่อนหินขาว ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : นางสาวปิยะนุช แสนอุด ครู ศศช.บ้านม่อนหินขาว
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นางสาวปิยะนุช แสนอุด ครู ศศช.บ้านม่อนหินขาว
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด : 30 พฤศจิกายน 2566
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ lpn.amt_nfedc@nfe.go.th หรือโทร 053-976-291