หมู่บ้านน้ำบ่อน้อย ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

กลุ่มชาติพันธ์ “ปกาเกอะญอ” หรือ “กะเหรี่ยงสะกอ” พวกเขามีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายที่ตรงกันข้ามกับความทันสมัยในปัจจุบันด้วยปฏิเสธการรับ และการใช้ ไฟฟ้า น้ำประปา รวมไปถึงบริโภคแบบมังสวิรัติ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และแปลกใหม่

น้ำบ่อน้อย

  หมู่บ้านน้ำบ่อน้อย ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธ์ “ปกาเกอะญอ” หรือ “กะเหรี่ยงสะกอ” ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของจังหวัดลำพูนที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่สืบเนื่องมาแต่ครั้งเป็นศูนย์กลางความเจริญทางวัฒนธรรม ในนามอาณาจักรหริภุญชัยซึ่งมีความสำคัญแห่งหนึ่งในอาณาจักรล้านนา ดินแดนนี้มีกลุ่มชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนกำเนิดหริภุญชัย เป็นหมู่บ้าน หรือ สังคมชนเผ่าที่มีความหลากหลาย และอาศัยอยู่กันอย่างกระจายกันไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสม ดังปรากฏในปัจจุบันเป็นกลุ่มชาติพันธ์ ไต หรือ ไท, มอญ หรือ เม็ง, ลัวะ, ม่าน รวมไปถึง ชาวปกาเกอะญอ ซึ่งคนในหมู่บ้านนี้เคารพนับถือ และเชื่อฟังคำสอนจากครูบา ชัยยะวงศาพัฒนา ผู้นำทางจิตใจของชาวบ้าน ซึ่งท่านไม่ฉันเนื้อสัตว์จึงทำให้ยึดถือเป็นแบบอย่าง และปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น

พวกเขามีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายที่ตรงกันข้ามกับความทันสมัยในปัจจุบันด้วยปฏิเสธการรับ และการใช้ ไฟฟ้า น้ำประปา รวมไปถึงบริโภคแบบมังสวิรัติ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และแปลกใหม่ เมื่อเดินทางมาถึงก็พบว่าพวกเขาปลูกบ้านกันด้วยวัสดุที่มาจากธรรมชาติทั้ง ไม่ใผ่ ใบตองตึง และหญ้าคา มีการยกใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย และเพื่อใช้ประโยชน์ในการเก็บฟืน ชิ้นส่วนของหลังคา และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้เป็นพื้นที่ในการนั่งพูดคุยกัน การทอผ้าของผู้หญิงในชุมชน หรือ การนั่งทำจักสานการสร้างบ้านแบบนี้ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ดิน ทราย ศิลาแลง ก็คงจะร้อนน่าดู แต่ผมกลับคิดผิด เพราะ บรรยากาศภายในบ้านนั้นมีอากาศที่เย็น และสบาย ผมละทึ่งกับภูมิปัญญาซึ่งเป็นองค์ความรู้ของคนโบราณที่เรียนรู้จากการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างคน กับ คน, ธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติจริง ๆ

คำว่า น้ำบ่อน้อย ซึ่งเป็นชื่อของหมู่บ้านนั้นมาจากบ่อน้ำของหมู่บ้านที่ชาวบ้านให้ความเคารพกันเป็นอย่างมาก มีการทำโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมคล้าย ๆ บ้านเพื่อดูแลสถานที่นี้เอาไว้ โดยถือเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิจากความเชื่อที่เล่าสืบทอดต่อ ๆ กันมาว่า ในอดีตได้มีการค้นพบบ่อน้ำนี้ขึ้นและได้วิดขึ้นมาเพื่อใช้งานแต่วิดเท่าใดน้ำก็ไม่หมดจากบ่อ และมีความพยายามในการขุดหาน้ำลึกลงไปในบริเวณใกล้เคียงกันแต่ก็ไม่พบ ซึ่งมีการบอกเล่าว่าเป็นบ่อน้ำของฤาษี เมื่อดื่มรับประทานก็จะช่วยในเรื่องของการรักษา โรคภัย ไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งน้ำนี้พอผมได้ตักมาดื่มก็พบว่ามีความเย็นมากพอ ๆ กับน้ำเย็นแช่ตู้เลยทีเดียว
    การได้มาเห็นวิถีชีวิตของชนกลุ่มชาติพันธ์ปกาเกอะญอ ทำให้ได้รู้ถึงวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายในพื้นที่ทั้งการไปทำบุญด้วยผักจากการเป็นมังสาวิรัต ใช้ใบตองตึง และหญ้าคาซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติมามุงหลังคาที่ ทำให้สภาพแวดล้อมของตนเองน่าอยู่มีความเย็น สบาย ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกใหม่ และมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากของการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งไฟฟ้า และอาศัยอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ก็ก่อให้เกิดความสงบ และความพึงพอใจของตนเองก็ทำให้เรามีความสุขได้ ผมอาจจะเป็นคนเล่าเรื่องไม่เก่ง แต่ก็หวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะก่อให้เกิดความสนใจ และเข้ามาเที่ยว จนทำให้ผู้อ่านทุกท่านเกิดความรักกับจังหวัดลำพูนนี้ได้ ขอบคุณครับ



พวกเขาปลูกบ้านกันด้วยวัสดุที่มาจากธรรมชาติทั้ง ไม่ใผ่ ใบตองตึง และหญ้าคา มีการยกใต้ถุนสูง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง https://www.museumthailand.com/th/3132