กิจกรรมปีใหม่เมือง มากิน มาเที่ยว  มาทำบุญ 9 วัด อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ไหว้พระ 9 วัด เป็นคำเรียกการตระเวนไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดและศาลเจ้าที่มีชื่อเสียง 9 แห่งในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 

โดยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่งเหล่านั้นได้แก่  


  การทำบุญไหว้พระ 9 วัด เป็นคติการทำบุญของชาวไทยพุทธ ก็สะท้อน ให้เห็นค่านิยมในการทำบุญและ การแสวงบุญของสังคมไทยที่ปฎิบัติมานับแต่อดีดก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดี เพราะเราสามารถเที่ยวชมความงดงามของสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมล้านนา แถมยังได้บุญอีกด้วย บอกเลยว่าทุกคนห้ามพลาด ! 

1.วัดบ้านปาง   

  วัดนี้เป็นวัดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัยบวชเรียนเป็นวัดแรกและยังเป็นสถานที่ดับขันธ์มรณภาพอีกด้วย ในบริเวณวัดมีความร่มรื่น เมื่ออยู่ด้านบนก็จะมองเห็นวิวทิวทัศน์ เพราะวัดตั้งอยู่บนเนินเขา มีโบราณสถานอันเก่าแก่เมื่อครั้งสมัยที่ครูบาศรีวิชัยยังมีชีวิตอยู่ก็คือพระวิหารหลวง ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมล้านนา ลักษณะอ่อนช้อยสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง มีโบสถ์วิหารที่สวยงามรวมไปถึงมีพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารครูบาศรีวิชัยซึ่งเก็บของใช้ส่วนตัวของท่านไว้อย่างครบถ้วน

 

ที่ตั้ง : 381 หมู่ 1 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

2. วัดพระพุทธบาทผาหนาม   

  เป็นปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งของอำเภอลี้ ภายในวัดมีสองจุดให้ได้ชมคือ ตัววัดที่ตั้งอยู่ด้านล่างจะมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของครูบาอภิชัยขาวปีเป็นจุดเด่น ซึ่งภายในวัดได้เก็บร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของท่าไว้ในโลงแก้ว หอปราสาทรักษาศพ ณ วัดพระพุทธบาทผาหนามแห่งนี้ และในทุกวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี จะมีประเพณีเปลี่ยนผ้าห่อสรีระซึ่งมีผู้คนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ส่วนอีกจุดคือองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดดอย 2 องค์ (พระธาตุทอง พระธาตุขาว) โดยมีสะพานไว้สำหรับเดินเชื่อมถึงกัน นอกจากจะได้กราบไหว้พระธาตุแล้ว

หากใครที่เดินทางขึ้นไปบนพระธาตุช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเช้า จะได้เห็นกับทะเลหมอกและสามารถชมวิวทิวทัศน์ของอำเภอลี้ได้แบบ 360 องศาอีกด้วย

 

ที่ตั้ง : บ้านผาหนาม ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

  3.วัดพระธาตุห้าดวง หรือเวียงเจดีย์ 5 หลัง 

  โดยตามตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวีกษัตริย์ผู้ครองเมืองนครหริภุญ ชัย ทรงได้ยินข่าวจากราษฎรเมืองลี้ว่า มีดวงแก้ว 5 ดวง ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จึงได้เสด็จเดินทางมาดูด้วยพระองค์เอง ในเวลากลางคืนและได้ทอดพระเนตรเห็นแสงสว่างจากดวงแก้ว ทั้งห้าดวงลอยอยู่บนกองดิน 5 กอง จึงได้สอบถามความเป็นมาและทราบว่าคือพระเมโตธาตุ (น้ำไคลมือ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เคยล้างพระหัตถ์ และน้ำไหลผ่านปลายนิ้วทั้ง 5 ลงพื้นดิน พระนางจึงเกิดความศรัทธาและได้สร้างพระธาตุเจดีย์ครอบกองดินทั้ง 5 กองไว้ และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ให้เจริญรุ่งเรือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางศาสนา โดยทุกวันที่ 20 ของเดือนเมษายนทุกปี จะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุห้าดวง เพื่อแสดงถึงว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ ที่องค์พระประทีปแก้วได้เคยเสด็จมาส่องแสงจรัสจ้าเป็นประทีปส่องนำปัญญาแก่ชาวบ้านผู้ที่พบเห็น

 

ที่ตั้ง : บ้านพระธาตุห้าดวง ตำบลลี้ อ.ลี้ จังหวัดลำพูน

  4. วัดพระธาตุดวงเดียว (กลางเวียง) 

  ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ในสมัยของพระนางจามรี ที่ได้หนีภัยสงครามจากหลวงพระบาง มาสร้างเมือง ที่อำเภอลี้แห่งนี้ แล้วตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ถ้าจะได้สร้างเมืองที่นี่ จริงๆ เพื่อเป็นที่ลี้ภัย ก็ขออำนาจเทพยาดลจิต นำพญาช้างคู่บุญไปแสวงหาที่ตั้งบ้านเมืองด้วยเถิด เทพเทวาได้ดลใจให้พญาช้าง ขึ้นไปตามห้วยแม่แต๊ะที่มีแสงแดดสาดส่อง และได้พบกับลูกแก้วลอยออกจากจอมปลวกใหญ่ มีแสงสว่างทั่วบริเวณนั้น ลอยออกไปและกลับมาอยู่ถึงห้าครั้งในค่ำคืนนั้น ระหว่างบริเวณวัดพระธาตุดวงเดียวและวัดพระธาตุห้าดวงในปัจจุบัน พระนางจามรีจึงเอานิมิตหมายอันดีนี้ สร้างให้เป็นเมืองและวัดขึ้นในสมัยนั้น

ส่วนในปัจจุบันยังคงมีร่องรอยคันภูเวียงให้เห็นอยู่บ้างตามริมถนน ส่วนสิ่งปลูกสร้างภายในวัด รวมทั้งองค์พระธาตุดวงเดียวล้วนสร้างขึ้นมาภายหลัง โดยครูบาศรีวิชัย ได้พาลูกศิษย์พร้อมทั้งพระ เณร สร้างวัดและวิหาร ให้เป็นศูนย์รวมใจทางพระพุทธศาสนาของชาวบ้าน โดยการสร้างนี้ได้วางตำแหน่งตามเมืองโบราณเดิม

 

ที่ตั้ง : บ้านสันดอยเวียง ตำบลลี้ อ.ลี้ จังหวัดลำพูน

    5. วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม 

  ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอลี้และยังเป็นวัดประจำหมู่บ้านของชาวปาเกอะญออีกด้วย บริเวณทางเข้าวัดจะมีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่ วัดพระพุทธบาทห้วยต้มมีบริเวณที่กว้างขวาง เป็นศาสนสถานที่สำคัญ ศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนห้วยต้ม ภายในมีเอกลักษณ์ที่สวยงามด้วยเอกลักษณ์ล้านนา ทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลง ด้านหลังของวัด สถานที่สำคัญได้แก่ วิหารพระเมืองแก้ว ที่องค์พระธาตุได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม เป็นสถานที่บรรจุสรีระทิพย์ของหลวงปู่ครูบาชัยวงศาพัฒนา

 

ที่ตั้ง : ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน


  6.วัดมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย 

  ตามตำนานเล่ากันว่า ก่อนเกิดการสร้างพระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัยที่วัดแห่งนี้ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ได้พบมูลโคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยที่ทรงมาใช้ชาติเป็นโคพระโพธิสัตว์ และมูลโคนี้ได้กลายสภาพเป็นพระบรมธาตุ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา จึงมีความตั้งใจที่จะสร้างพระมหาเจดีย์ครอบทับไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ ด้วยเกรงว่าต่อไปในภายภาคหน้า หากไม่ทำอะไรสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จะมีชาวบ้านมาสร้างบ้านเรือนเพื่ออาศัยอยู่ด้วยความไม่รู้ จึงเกิดเป็นวัดแห่งนี้ขึ้น

วัดมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ภายในโดดเด่นสง่างามด้วย พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยสีทอง ตั้งเด่นตระหง่าน จนสามารถเห็นได้แต่ไกลทางหน้าทางเข้าวัด พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยนี้ มีรูปทรงคล้ายชเวดากองจำลอง ถือเป็นสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาศิลปะล้านนาที่สร้างด้วยศิลาแลงมีขนาดฐานกว้าง เท่ากับ 1 ไร่ และมีความสูง 64.39 เมตร โดยหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาเป็นผู้ริเริ่มให้มีการออกแบบและสร้างเพื่อเป็นพุทธเจดีย์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ อันจะเป็นพุทธเจดีย์ของภัทรกัป ให้ลูกหลานคนไทยได้กราบไหว้เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเป็นแห่งที่ 2 ของโลก

 

ที่ตั้ง : ตำบลนาทราย อ.ลี้ จังหวัดลำพูน


  7.อนุสาวรีย์สามครูบา

  หากใครได้ไปที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนจะต้องไม่พลาดที่จะไปกราบไหว้อนุสาวรีย์สามครูบา ตั้งอยู่ใจกลางอำเภอลี้ บริเวณลานกว้างตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอ ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา และในโอกาสที่สถาปนาอำเภอลี้ครบ 100 ปี อนุสาวรีย์สามครูบาประดิษฐานรูปเหมือนครูบา 3 ท่าน ประกอบด้วย ครูบาเจ้าศรีวิชัย แห่งวัดบ้านปาง ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี แห่งวัดพระพุทธบาทผาหนาม และครูบาชัยยะวงศาพัฒนา แห่งวัดพระบาทห้วยต้ม

 

ที่ตั้ง : ตำบลวังดิน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน


  8.วัดพระธาตุดอยเงือก

  สำหรับประวัตินั้น ชื่อ “ดอยเงือก” ตามคำบอกเล่าว่ามีพญานาคอาศัยอยู่ที่ดอยแห่งนี้ คำว่า “เงือก” นั่นเป็นภาษาเหนือ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยภาคกลางจะหมายถึง “พญานาค” วันไหนนาคออกจากดอยลูกนี้ล่องไปที่น้ำแม่ลี้ บริเวณดอยพระเจ้าจะมีหมอก เหมือย ปกคลุมแล้วฝนจะตก หลังจากนั้นพญาเงือกจะลงเล่นน้ำ ทำให้ฝายกันน้ำของชาวบ้านในบริเวณลำห้วยที่ขวางทางพญาเงือกจะขาดหมด ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าดอยลูกนี้เป็นที่อยู่ของพญานาคจึงตั้งชื่อดอยลูกนี้ว่า “ดอยเงือก” ดอยเงือกแห่งนี้ท่านครูบาเจ้าอภิไชยขาวปี ไปแรกสร้างเมื่อ พ.ศ.2495 ท่านครูบาไปสร้างตามธรรมใบลานที่ชื่อว่า “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” ซึ่งในอดีตพระพุทธเจ้าได้เสด็จผ่านมาที่ดอยลูกนั้น ดอยลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า “ดอยพระเจ้า” พระพุทธองค์ได้ทรงพักที่ดอยลูกนั้น และให้พระอานนท์ไปตักน้ำที่นำดิบต้นผึ้งมาถวาย พระพุทธองค์เสวยแต่พระพุทธองค์ทรงเสวยไม่หมด พระอานนท์จึงไปเทน้ำทิ้ง บริเวณนั้นมีสัณฐานคล้ายบาตร ชาวลั๊วได้ปลูกไม่ไผ่ชางไว้บริเวณนั้น มี 5 ต้น หลังจากที่พ่อหนานสิสาได้นิมนต์ท่านครูบาเจ้า ที่นั่งหนักที่วัดนาเลี่ยง เพื่อมาเป็นประธานในการบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารของวัดแม่หว่างลุ่มแล้ว ท่านครูบาเจ้าอภิชัยขาวปีได้ลีกเร้น มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานบริเวณ กำแพงหินที่ดอยเงือกแห่งนี้ แต่ไม่นานครูบาเจ้าท่านอาพาธ (ไม่สบาย) จึงย้ายไปที่ดอยอีกลูกเพื่อสะดวกในการเดินทาง หลังจากที่ท่านครูบา หายจากอาพาธแล้ว ญาติโยมก็มานิมนต์ท่านให้ไปเป็นประธานในการสร้างถนนระหว่างบ้านแม่หว่างไปถึงบ้านห้วยหญ้าไทร ใช้ระยะเวลาสร้างเพียงสามวันก็ทำการถวายถนน 

  จากนั้น เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2562 พระนภัส ชยธมโม ได้ยืนพ่อหลวงอ้าย สานาบอกว่า ตอนครูบาเจ้าอภิชัยขาวปีมาพักที่ดอยเงือกแห่งนี้ ครูบาเจ้าชัยยะวงศาได้มาอยู่อุปฐากครูบาเจ้าอภิชัย ขาวปี แล้วครูบาเจ้าชัยยะวงศาได้พบรอยพระพุทธบาทบริเวณตืนดอยพระเจ้า จึงชวนกันไปหาดูแต่ไม่เจอ พระนภัสจึงบอกให้พ่อหลวงอ้ายพาไปดูกำแพงหิน ปรากฏว่าพอขึ้นมาดูก็เห็นเป็นบริเวณที่ดูเงียบสงบและสัปปายะดี จนมาถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 พระนภัส ขึ้นไปดูอีกครั้งเห็นว่าสมควรที่จะเป็นอารามเลยไปนิมนต์ท่านพระครูสุนทรอรรถการ (ครูบาดร ) มาดูในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2563 มีท่านพระครูใบฎีกา สิงห์ทอง สีลสวโร วัดแม่หว่างลุ่ม ติดตามไปด้วย ท่านครูบาดร ตั้งสัจจะอธิษฐาน โดยการสัจจะวาไม้ (ตั้งสัจจะเสี่ยงทาย) ปรากฏว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นอารามในกาลเบื้องหน้า 

  9.วัดพระธาตุแท่นคำ 

  เดิมมีชื่อว่า "วัดแท่นคำ" เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ที่สำคัญของเมืองลี้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองลี้ สร้างขึ้นในสมัยพระนางจามรี ผู้สร้างเมืองลี้ จังหวัดลำพูน สร้างสมัยเดียวกับวัดพระธาตุดวงเดียวและวัดพระธาตุห้าดวง ประมาณปี พ.ศ.๑๘๐๐

ต่อมากาลล่วงไปหลายร้อยปี วัดได้ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งเหลือแต่ซากปรักหักพัง จนกลายเป็นวัดร้าง

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๕ มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุแท่นคำขึ้นมาใหม่ และได้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ๑ องค์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยมีพระเดชพระคุณพระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ (พระครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นองค์ประธาน


การเดินทางไปวัดพระธาตุแท่นคำ


  ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖ (สายลี้-ลำพูน) เข้าเขตอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน ผ่านอำเภอป่าซาง อำเภอบ้านโฮ่ง จนถึงอำเภอลี้ ระยะทาง ๑๐๕ กิโลเมตร และเดินทางต่อมาด้านทิศใต้อีกประมาณ ๑ กิโลเมตร ถึงวัดพระธาตุแท่นคำ หรือห่างจากวัดพระธาตุดวงเดียวประมาณ ๑ กิโลเมตร

  วัดพระธาตุแท่นคำ ตั้งอยู่ในเขตบ้านวังดิน หมู่ที่ ๔ ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐานตั้งอยู่บนเนินเขา ติดเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๖ (สายลี้-ลำพูน) บริเวณกิโลเมตรที่ ๕๑ 

เนื้อหาโดย เว็บไซต์ปักหมุดเมืองไทย https://www.lamphun.go.th/th/attractions
เรียบเรียงเนื้อหาโดย  นายสุภาพ  แสนเมือง
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ  เว็บไซต์ปักหมุดเมืองไทย