เจ้าแม่จามเทวี ปางนางเกิ้ง

หริภุญไชย ใหญ่โต รโหฐาน

เจาะตำนาน พระแม่จ้า ผู้เข้าถึง

ยกหมู่พล ขนทัพ นับอื้ออึง

ครั้นเคลื่อนถึง จับจอง ครองนคร

ที่มา : (สิติยะ ป.)

ประวัติความเป็นมา

เมื่อครั้งที่พระนางจามเทวีได้ขึ้นครองนครลำพูน การคมนาคมสมัยนั้น          ไม่ค่อยเจริญ  จะต้องเดินทางด้วยเท้า ล่องเรือ ล่องแพ และผ่านป่าดงดิบ      ซึ่งมีสัตว์ดุร้ายและอันตรายมากมาย พระนางประสงค์ที่จะทำการสร้างเมืองลำพูน และได้หยุดที่บ้านศรีชุม จึงได้หันพระพักตร์และยกพระหัตถ์ขึ้นป้อง (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “เกิ้งหน้า”) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และมี      พระราชประสงค์ที่จะสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั่นเพื่อเป็นสักขีพยานว่า             พระนางจามเทวีได้เคยมา ณ ที่แห่งนี้แล้ว และให้เป็นที่เคารพสักการะ       ของพระพุทธศาสนิกชนให้สืบ พระศาสนาต่อไป แต่นั้นมาไม่นานวัดนั้นจึงได้ชื่อว่า “วัดนางเกิ้ง” 

คำกราบไหว้บูชา พระนางจามเทวี

ยา เทวี จามะเทวีนามิกา อะภิรูปา อะโหสิ ทัสสะนียา ปาสาทิกา

พุทธสาสะเน จะ อะภิปะสันนา สา อตีเต เมตตายะ เจวะ ธัมเมนะ

จะ หะริภุญชะยะธานิยา รัชชัง กาเรสิ, หะริภุญชะยานะคะระ

วาสีนังปี มะหันตัง หิตะ สุขัง อุปาเทสิ, อะหัง ปะสันเนนะ

เจตะสา ตัง วันทามิ สิระสา สัพพะทา ฯ

ประวัติของพระนางจามเทวี

ชาติภูมิ

       ชาติกำเนิดของพระองค์นั้น ในตำนานจามเทวีวงศ์และตำนานมูลศาสนากล่าวว่าเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์แห่งกรุงละโว้            แต่ตำนานมุขปาฐะพื้นบ้านแห่งหนึ่งกล่าวว่าพระองค์เป็นธิดาของคหบดีชาวหริภุญชัย ซึ่งมีเชื้อสายชาวเมง (ตำนานเรียกว่าเมงคบุตร) อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนองดู่ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

       พระนางจามเทวีเมื่อแรกประสูติไว้ว่าตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ปีมะโรง พ.ศ. 1176 เวลาจวนจะค่ำ ขณะเมื่อพระนาง  ยังมีพระชนม์ได้ 3 เดือนนั้น มีนกยักษ์ตัวหนึ่งโฉบเอาพระนางขึ้นไปบนฟ้า เมื่อนกนั้นบินผ่านหน้าสุเทวฤาษีซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่                  ณ เขาอุจฉุตบรรพต (แปลว่าเขาไร่อ้อย เชื่อว่าคือดอยสุเทพในปัจจุบัน) ท่านจึงได้แผ่เมตตาจิตให้นกนั้นปล่อยทารกน้อยลงมา แล้วรับเอาเด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรม พร้อมทั้งตั้งชื่อให้ว่า นางวี ด้วยถือเอานิมิตที่พระฤาษีใช้พัด (ภาษาถิ่นเรียกว่า “วี”) รองรับพระนางเนื่องจากพระฤาษีอยู่ในสมณเพศ ไม่อาจถูกตัวสตรีได้ ต่อมาพระนางได้ร่ำเรียนสรรพวิชาการต่างๆ จากสุเทวฤาษี ท่านสุเทวฤาษีจึงได้ผูกดวงและตรวจสอบชะตาทราบว่ากุมารีผู้เป็นบุตรบุญธรรมของท่านจะมีวาสนาเป็นถึงจอมเกษัตริย์ ปกครองบ้านเมืองอันใหญ่โตซึ่งจะรุ่งเรือง      ไปในภายภาคหน้า จึงตกลงใจว่าจะต้องส่งเด็กหญิงไปสู่ราชสำนัก เพื่อรับการอภิเเษกขึ้นเป็นเชื้ออพระวงศ์ให้สมควรแก่การ ที่จะได้เป็นใหญ่ต่อไป และที่เหมาะสม ในสายตาท่านฤาษีคือ ราชสำนักแห่งกรุงละโว้ซึ่งเป็นราชสำนักที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในสุวรรณภูมิ   เวลานั้น จนกระทั่งเมื่อพระนางมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา ท่านสุเทวฤาษีจึงได้เนรมิตแพขึ้นส่งกุมารีน้อยล่อง ไปตามน้ำจากเมืองเหนือ โดยพญากากะวานรและบริวารจำนวน 35 ตัวโดยสารแพไปด้วย อีกทั้งยังฝากหนังสือไปฉบับหนึ่งเพื่อกราบทูลพระเจ้ากรุงละโว้ (ลวปุระ) ว่ากุมารีน้อยนี้จะไปช่วยละโว้ประหารศัตรู เด็กหญิงและวานรทั้งหลายล่องตามลำน้ำไปเป็นเวลานานหลายเดือนจึงเข้าสู่เขตกรุงละโว้

       ประชาชนชาวละโว้สองฝั่งลำน้ำได้โจษขานถึงแพเล็กๆ นี้ด้วยความประหลาดใจครั้นถึงท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคล แพเนรมิตก็มิได้ล่องตามน้ำต่อไปกลับลอยวนเวียนอยู่บริเวณนั้น ประชาพลเมืองได้เห็นต่างโจษขานกันอึงคนึง บ้างก็เข้าไปพยายามดึงนาวาเข้าฝั่ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ชาวบ้านเห็นเหตุเป็นอัศจรรย์ และต่าง พากันชื่นชมเด็กหญิง ซึ่งมีผิวพรรณผุดผ่องน่ารักน่าเอ็นดูอย่างยิ่ง ความทราบถึงบรรดาขุนนาง จึงได้ไปตรวจดู  ที่ฝั่งน้ำเห็นความจริงประจักษ์แก่ตาจึงรีบกลับเข้าพระราชวังกราบบังคมทูลพระเจ้าจักวัติผู้ครองกรุงละโว้          ให้ทรงทราบทันที 

เจ้าแผ่นดินกรุงลวปุระได้เสด็จไปยังท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคลพร้อมด้วยมเหสีในทันทีนั้น เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปทั้งหมด พระองค์ทรงมีรับสั่งให้ทหารที่ตามเสด็จชะลอแพรเนรมิตเข้าสู่ฝั่ง แต่เหตุการณ์อันไม่มีใครคาดคิดก็บังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กำลังของเหล่าทหารแห่งกรุงลวปุระไม่อาจชักลากแพเข้าสู่ท่าน้ำได้ ไม่ว่ากษัตริย์จะมีพระบัญชาให้เพิ่มจำนวนทหารมากขึ้นสักเท่าใดก็ตามการณ์อันเป็นไปโดยอัศจรรย์ดังนี้ ทำให้เจ้าแผ่นดินทรงประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณว่า กุมารีแรกรุ่นในท่ามกลางฝูงวานรบนแพนี้คงจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมากมาย และแพนั้นก็คงจะเป็นแพวิเศษที่สามัญชนจะไปแตะต้องมิได้ พระองค์จึงเสด็จจากที่ประทับพร้อมด้วยพระมเหสีและทรงยึดเชือกที่ผูกแพนั้นไว้ด้วยพระหัตถ์ของทั้งสองพระองค์

       และแล้วเหตุอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้นอีกเป็นคำรบสาม พระเจ้ากรุงลวปุระและพระมเหสีเพียงแต่ทรง ชักเชือกนั้นด้วยแรงเฉพาะสอง พระองค์แพวิเศษก็ลอยเข้าสู่ท่าน้ำได้โดยง่าย และดูราวกับเทพยดาฟ้าดินจะทรงอำนวยพระให้แก่ประพฤติเหตุอันอัศจรรย์นี้ เพราะเมื่อแพวิเศษลอยเข้าเทียบท่าน้ำ ได้มีฝนโปรยปรายเป็นละอองบางเบายังความสดชื่นแก่ทุกคนในที่นั้น ประชาชนทั้งสองฝั่งลำน้ำได้เห็นต่างก็พากันชื่นชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์ และสรรเสริญบุญญานุภาพของกุมารีน้อยไปทั่วทั้งพระนคร

          พระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีได้รับกุมารีน้อยไว้ด้วยความเสน่หาอย่างยิ่ง พระมเหสีนั้นถึงกับเสด็จเข้าไปสวมกอดและจุมพิตกุมารีตั้งแต่แรกขึ้นสู่ฝั่ง พระเจ้ากรุงละโว้ผู้เต็มไปด้วยความปิติในพระหฤทัยได้ทรงน้ำกุมารีผู้น่ารักขึ้นประทับบนราชรถ และต่างพากันเสด็จเข้าสู่ราชสำนักกรุงละโว้ท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้าชมพระบารมีสองข้างทาง ด้วยความชื่นชมยินดีโดยทั่วหน้าและได้ตั้งพระนามให้ใหม่ว่า พระนางจามเทวี 

การปกครองเมืองหริภุญชัย

       ประมาณปี พ.ศ.1202 สุกทันตฤาษี ซึ่งเป็นสหายกับสุเทวฤาษี ได้เดินทางพร้อมกับนายควิยะผู้เป็นทูตของสุเทวฤาษี มายังกรุงละโว้ เพื่อทูลขอพระนางจามเทวีจากพระเจ้ากรุงละโว้เพื่อไปเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองใหม่ที่สุกทันตฤาษีกับสุเทวฤาษีสร้างขึ้น ซึ่งก็คือเมือง   หริภุญชัยหรือเมืองลำพูนในปัจจุบันนี้

       เมื่อพระนางจามเทวีปรึกษากับพระราชบิดากับพระสวามีแล้วทั้งพระสวามีกับพระราชบิดาต่างก็อนุญาต พระนางจึงได้เดินทางออกจากเมืองละโว้ตามคำทูลเชิญของพระฤาษี แต่ในตำนานจามเทวีวงศ์ได้กล่าวความต่างไปอีกอย่าง คือ ในเวลานั้นเจ้าชายรามราชได้ออกบวชเสียแล้ว พระนางจึงทรงอยู่ในฐานะไร้พระสวามี ทางลำพูนจึงได้ส่งสาส์นมาทูลขอดังกล่าว ตำนานพื้นบ้านว่าเจ้าหญิงจามเทวีทรงรับที่จะครองเมืองลำพูนเพราะว่าเมืองลำพนเวลานั้นราษฎรเดือดร้อนด้วยขาดผู้นำและพระนางก็ระลึกถึงพระคุณท่านสุเทวฤาษี       ที่เคยชุบเลี้ยงมาแต่ก่อน

       ในการเดินทางจากละโว้ไปสู่เมืองลำพูนนั้น พระนางได้เชิญพระเถระ 500 รูป หมู่ปะขาวทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล 500 คน  บัณฑิต 500 คน หมู่ช่างแกะสลัก 500 คน ช่างแก้วแหวน 500 คน พ่อเลี้ยง 500 คน แม่เลี้ยง 500 คน หมู่หมออโหรา 500 คน หมอยา   500 คน ช่างเงิน 500 คน ช่างทอง 500 คน ช่างเหล็ก 500 คน ช่างเขียน 500 คน หมู่ช่างทั้งหลายต่างๆ อีก 500 คน และช่างโยธา 500 คน ให้ร่วมเดินทางกับพระนางเพื่อไปสร้างบ้านแปงเมืองแห่งใหม่ให้มั่นคงยิ่งขึ้น

       โดยเดินทางด้วยการล่องเรือไปตามแม่น้ำปิง กินระยะเวลานาน 7 เดือน พร้อมกันนี้พระนางยังได้เชิญพระพุทธรูปสำคัญทาด้วย        2 องค์ คือ 1) พระแก้วขาว ซึ่งว่ากันว่าเป็นองค์เดียวกับที่ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน 2) พระรอดหลวง ซึ่งประดิษฐานที่วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน

       เมื่อพระนางเดินทางมาถึงเมืองหริภุญชัยแล้ว สุเทวฤาษีและสกทันตฤาษีจึงกระทำพิธีราชาภิเษก พระนางขึ้นเป็นกษัตริย์แห่ง         หริภุญชัย ทรงพระนามว่า “พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย” หลังจากวันราชาภิเษกไปแล้ว  7 วัน พระนางจึงประสูติพระราชโอรสซึ่งติดมาในพระครรภ์ตั้งแต่ทรงอยู่เมืองละโว้ 2 พระองค์ พระโอรสองค์โตมีพระนามว่า               พระมหันตยศหรือพระมหายศ ส่วนองค์รองมีพระนามว่าพระอนันตยศหรือพระอินทวร

       ในรัชกาลของพระองค์นั้น นครหริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ประชาราษฎรต่างอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข พระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุงอย่างดียิ่งตามตำนานได้กล่าวว่า พสกนิกรต่างมีใจศรัทธาสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนถึง 2,000 แห่ง 

บั้นปลายพระชนม์ชีพ

       ครั้นบ้านเมืองสงบสุขภายใต้การปกครองของพระเจ้ามหันตยศแล้ว ในปี พ.ศ.1236 พระนางจามเทวีซึ่งมีพระชนมายุได้ 60 พรรษาแล้วจึงทรงละจากการกำกับดูแลราชการแผ่นดินทั้งปวงและทรงสระเพศฆราวาสฉลองพระองค์ขาวเสด็จไปประทับทรงศีลที่วัดจามเทวี และทรงเอาพระทัยใส่ต่อการทำนุบำรุง พระศาสนายิ่งขึ้นอีกมากมายกระทั้งถึง พ.ศ.1274 จึงเสด็จสวรรคต รวมพระชันษาได้ 98 พรรษา

       ส่วนในตำนานมูลศาสนา และจามเทวีวงศ์กล่าวแตกต่างออกไปว่า พระนางจามเทวีได้เสวยในนครหริภุญชัยเพียง 7 ปี แล้วสละราชบัลลังก์พระราชทานพระเจ้ามหันตยศ จากนั้นเสด็จไปประทับที่เขลางค์นครกับอาลัมพางค์นครกับพระเจ้าอนันตยศอีก 6 ปี ครั้นเริ่มประชวรเสด็จกลับมายังหริภุญชัยเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยทักษิณาวรรต แล้วทรงศีลต่อไปอีกเพียง 8 วัน พระโรคาพาธ      ก็กำเริบแรงกล้าจนถึงเสด็จสวรรคต หลังสวรรคตแล้ว พระองค์ก็ได้ไปเกิดบนสรรค์ชั้นดุสิต

       หลักจากนั้น พระเจ้ามหันตยศจึงโปรดฯ ให้จัดพิธีบูชาสักการะพระศพเป็นการใหญ่ 7 วัน แล้วจึงก่อพระเมรุมาศสำหรับถวาย       พระเพลิง จัดให้มีการสมโภชพระศพเป็นการใหญ่ 7 วัน แล้วจึงถวายพระเพลิง หลังเสร็จการถวายพระเพลิงพระศพแล้ว จึงได้เชิญพระอัฐไปบรรจุไว้ในสุวรรณจังโกฏเจดีย์ (ปัจจุบันเรียกกันเป็นสามัญว่าเจดีย์  กู่กุด) ภายในวัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน


ข้อมูล : วัดนางเกิ้ง ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

เรียบเรียง/รูปภาพ : นางสาวเสาวนีย์   แก้วติ๊บ  บรรณารักษ์