อาชีพประจำท้องถิ่นอำเภอลี้

“สังกะวาดรมควัน เสน่ห์ก้อท่า หอมจากเตา”

นางสุดาพร อู่ทรัพย์

ที่อยู่ หมู่ที่ 4 บ้านก้อท่า ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

(ประธานกลุ่มอาชีพการทำปลาย่าง)
โทรศัพท์ : 087-9316809 สมาชิกกลุ่ม จำนวน 20 คน

“กินข้าวกินปลามาหรือยัง” เป็นคำทักทายถามไถ่แบบไทยๆ ที่แฝงความเป็นห่วงเป็นใย หรือเพียงประโยคทักทายติดปากผู้ใหญ่ในความหมายว่าสวัสดีก็ตาม ที่แน่ๆ เราแทบจะไม่เคยได้ยินคำทักทายว่า กินข้าวกินหมูมาหรือยัง กินข้าวกินไก่มาหรือยัง ด้วยข้าวกับปลาเป็นอาหารหลักเก่าแก่ของคนไทย ซึ่งในพื้นที่ของตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน นั้น มีสภาพเป็นที่ราบเชิงเขา มีลักษณะคล้ายกับกระทะ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง พื้นที่ล้อมรอบด้วยภูเขา และป่าไม้ พื้นที่ตำบลก้อมี น้ำตกก้อหลวงที่มาจากเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ที่ติดกับเขตพื้นที่ของจังหวัดลำปาง ไหลมารวมกับแม่น้ำปิงที่แก่งก้อ เป็นแหล่งชุมชนของปลา นาๆ ชนิด อาทิเช่น ปลาสังกะวาด ปลาตะเพียน ปลานิล เป็นต้น ทำให้ชุมชนเกิดอาชีพทำการประมงเป็นอาชีพหลัก มีการลงหลักปักฐานอยู่ในลำน้ำแม่ปิง บนเเก่งก้อ ชาวบ้านยังใช้ภูมิปัญญา ในการถนอมอาหารจากปลา ที่หาได้จึงเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่เกิดจากการนำปลาในพื้นที่มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มเช่นการทำปลาย่าง การทำปลาส้มการทำปลาแห้ง และอื่นๆอีกมากมาย

ในปี พ.ศ. 2548 นางสุดาพร อู่ทรัพย์ ซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านการทำปลาย่างโดยเฉพาะการนำปลาสังกะวาดมาทำปลาแห้งโดยการย่างรมควันซึ่งปลาสังกะวาดนั้นมีจำนวนมากในพื้นที่ นำมาทำปลาย่างรมครัว และสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ จึงได้ชักชวนชาวบ้านที่มีความสนใจตรงกัน จัดตั้งกลุ่มการทำปลาย่างขึ้นและมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวน 20 คน คนทำให้มีกลุ่มการทำปลาย่างของหมู่บ้านเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ปลาสังกะวาดย่างรมควันเป็นผลผลิตภายในชุมชนที่เป็นรายได้หลักของสมาชิกในกลุ่ม เอื้อต่อธรรมชาติและภูมิปัญญาของชุมชนในการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง แรงงานนั้นเกิดจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน สร้างความสามัคคี เอื้ออารีต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง นอกจากเป็นงานที่สร้างรายได้ให้คนในกลุ่มแล้ว ยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนและบุคคลทั่วไปได้อีกด้วย

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1. ปลาสังกะวาด

2. เกลือ


กระบวนการ ขั้นตอนการผลิต

1.นำปลาสังกะวาดล้างทำความสะอาด จากนั้นหั่นตรงหัวปลาออก

2.นำปลาสังกะวาดที่หั่นหัวออกแล้ว นำมาแช่น้ำเกลือทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดเวลา ให้นำปลาขึ้นมาสะเด็ดน้ำ

3.นำปลาสังกะวาดมาเรียงเป็นแถว ซึ่งให้ตัวปลานั้นติดกันเล็กน้อย เรียนให้เป็นแถวสาวยงาม วางบนตะแกรงเหล็กที่เตรียมไว้

4.นำปลาที่วางในตะแกรงเข้าตูอบ โดยวางไว้เป็นชั้นๆ นำปลาที่มีขนาดใหญ่ไว้ชั้นล่าง ส่วนตัวที่มีขนาดเล็กนำไว้ชั้นถัดไป ซึ่งมีด้วยกัน 3 ชั้น

5.ทำการจุดไฟโดยใช้ถ่านในการย่าง ใช้ไฟความร้อนขนาดพอเหมาะไม่ร้อนมากจนเกินไป ใช้เวลาในการย่างวันครึ่ง เมื่อปลาย่างใกล้จะสุขแล้วจะเอาเศษฟางหรือกากมะพร้าวใส่ลงไปในไฟเพื่อรมควันเคลือบเนื้อปลาให้มีสีเหลืองสวย

จุดเด่นของปลาสังกะวาดย่างรมควัน

กลุ่มอาชีพการทำปลาย่าง บ้านก้อท่า หมู่ที่ 4 ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ใช้วิธีการดั้งเดิมเอาไว้คือการอย่างด้วยควันไฟ ปลาสังกะวาดนั้นเป็นปลาเนื้ออ่อนตัวเล็กๆ เมื่อนำมาย่างรมควันจะใช้เวลาประมาณวันครึ่งโดยใช้ไฟอ่อนๆ ปลาย่างจะมีกลิ่นหอม เมื่อปลาย่างใกล้จะสุขแล้วจะเอาเศษฟางหรือกากมะพร้าวใส่ลงไปในไฟเพื่อรมควันเคลือบเนื้อปลาให้มีสีเหลืองสวย เคล็ดลับนี้เป็นวิธีการป้องกันเชื้อราและมอดแมลงมากินตัวปลา จึงเก็บได้นานแรมปี กลิ่นหอม เนื้อแห้งกรอบ และเก็บติดครัวไว้
ปรุงอาหารได้นาน คือเอกลักษณ์ของปลาสังกะวาดย่างรมควัน สามารถนำมาปรุงอาหารให้อร่อยมีเคล็ดลับเล็กน้อยเพียงนำมาอังไฟให้ความร้อนส่งกินหอมยิ่งขึ้น นำไปทำน้ำพริกปลาป่น แกงส้ม หรือแม้กะทั้งนำมาทำเมนูยำปลากรอบ ซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อของแหล่งท่องเที่ยว แก่งก้อ อุทยานแห่งชาติแม่ปิงอีกด้วย

แผนที่การเดินทาง

ข้อมูลการติดต่อ นางสุดาพร อู่ทรัพย์ (ประธานกลุ่มอาชีพการทำปลาย่าง) โทรศัพท์ : 087-9316809

ที่อยู่ หมู่ที่ 4 บ้านก้อท่า ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สมาชิกกลุ่ม จำนวน 20 คน

ข้อมูลเนื้อหา โดย นางสุดาพร อู่ทรัพย์

เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวกรรณิการ์ จันทร์ทิพย์ และนายอภิเดช เนียมพรมลี

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวกรรณิการ์ จันทร์ทิพย์ และนายอภิเดช เนียมพรมลี