“ผ้าทอมือสีธรรมชาติ” ฝ้ายสามสี...สู่อาชีพ
และผลิตภัณฑ์ส่งออกของบ้านก้อทุ่ง
ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ
ประวัติความเป็นมา
หมู่บ้านก้อทุ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษโดยเดิมทีเป็นการทอผ้าฝ้าย ที่ทำเองทุกกระบวนการตั้งแต่ปลูกต้นฝ้าย เข็นฝ้าย จนกระทั่งทอแต่ในยุคสมัยปัจจุบันไม่มีที่ดินสำหรับปลูกต้นฝ้ายเนื่องจากกลายเป็นบ้านเรือนและที่นาเสียส่วนใหญ่จึงมีการทอผ้าโดยซื้อฝ้ายจากผู้จำหน่ายมาใช้แทน
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาหรือเกษตรกรในยามที่ว่างจากการทำนาชาวบ้านจะรวมตัวกันหาอาชีพเสริมเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวด้วยเหตุนี้นางกัลยาณี เกตุแก้ว ซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านการทอผ้า จึงได้ชักชวนชาวบ้านที่มีความสนใจตรงกัน ตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมาและมีผู้เข้าร่วมเป็นประมาณ 20 คนทำให้มีกลุ่มทอผ้าของหมู่บ้านเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติเป็นผลผลิตภายในชุมชน ที่เอื้อต่อธรรมชาติและวัฒนธรรมของชุมชนในการดำรงชีวิตตามประเพณีที่สืบทอดกันมา แรงงานเกิดจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน สร้างความสามัคคี เอื้ออารีต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง นอกจากเป็นงานที่สร้างรายได้ให้คนในกลุ่มแล้ว ยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนและบุคคลทั่วไปได้อีกด้วย
ที่อยู่ ที่ตั้งของผู้ประกอบการ
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1) เส้นฝ้าย
2)วัตถุดิบที่ใช้ในการย้อมผ้า ปัจจุบันเรานำพืชสมุนไพรและเปลือกไม้ที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่นมาใช้ย้อมสีธรรมชาติจากพืชพืชพื้นบ้านเหล่านี้สามารถส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้มาต้มเคี่ยวให้เกิดเป็นสีเข้มขึ้นแล้วนำฝ้ายที่มีมาย้อมเพื่อให้เกิดสีต่างๆหลากหลายสวยงาม เช่น เปลือกไม้, รากไม้, ใบไม้, ดอก ผล หรือเมล็ด
3) หูก
4) ฟืม (เครื่องมือใช้ในการทอ)
5) กง/และอัก(ใช้ในการกวักด้าย)
6) หลักตีนกง (ไม้ที่ใช้ยึดทั้งสองข้างในการกวักด้าย)
7) หลา
8) กระสวย
9) กี่
10) เขายาว
11) หลอดใส่ด้าย
12) ไม้ค้าฟืม
ขั้นตอนการผลิต
1) การเตรียมฝ้าย
1.1 นำเส้นฝ้ายดิบไปแช่น้ำ 1คืน เพื่อให้ฝ้ายอิ่มน้ำ
1.2 นำฝ้ายที่แช่น้ำแล้วมาตำในครก เพื่อให้ฝ้ายนิ่ม
1.3 นำฝ้ายที่ตำแล้วมารีดน้ำออกและเป็นการยืดเส้นฝ้ายไปในตัว
1.4 นำฝ้ายไปต้มรวมกับข้าวเจ้า ต้มจนข้าวสารเหลวเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
1.5 นำฝ้ายที่ต้มแล้ว มาขยี้ มาคลึงเส้นด้ายเพื่อให้น้ำข้าวเคลือบเส้นฝ้ายอย่างทั่วถึง เป็นการเพิ่มความทนทานของเส้นฝ้าย
1.6 บิดน้ำให้หมาด แล้วนำเส้นฝ้ายมาดึงให้ตึงเสมอกัน ตากให้แห้ง
2) การเตรียมย้อม
2.1 นำฝ้ายที่ผ่านกระบวนการเตรียมฝ้าย มาแช่น้ำประมาณ 30 นาที
2.2 นำเปลือกไม้ มาเคี่ยวจนได้น้ำสี ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
2.3 นำฝ้ายที่แช่น้ำมาบิดให้หมาด แล้วนำลงย้อมในน้ำสีที่เตรียมไว้โดยต้มน้ำสีประมาณ30 นาที ยกขึ้นแล้วล้างน้ำสะอาด 1 ครั้ง
2.4 นำฝ้ายที่ได้ มาชุบน้ำอับไอ่ เพื่อเคลือบสีกันสีตก (น้ำอับไอ่ ใช้ผักอับไอ่นำมาตำและขยี้กับน้ำแล้วกรองเอาเศษใบออกนำน้ำมาใช้)
2.5 นำฝ้ายไปล้างน้ำสะอาดอีก 2ครั้งบิดให้หมาด แล้วนำเส้นฝ้ายมาดึงให้ตึงเสมอกัน ตากให้แห้ง
ผู้ให้ข้อมูล นางกัลยาณี เกตุแก้ว
ผู้เรียบเรียงเนื้อหา นางสาวกรรณิการ์ จันทร์ทิพย์
นางกัลยาณี เกตุแก้ว (ป้าติ๋ม)
ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือ