กระเป๋า-ตะกร้า 

จากเส้นพลาสติก

ความสำคัญและความเป็นมา

ภายในชุมชนตำบลก้อ หลังจากช่วงทำการเกษตร ข้าวโพด ลำไย การเลี้ยงสัตว์แล้ว ประชาชนมีการว่างงานและประชาชนส่วนใหญ่ในตำบลก้อ เป็นผู้สูงอายุ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงเกิดการร่วมมือของเครือข่ายภายในชุมชน กลุ่มชาวบ้าน กศน.ตำบลก้อและเทศบาลตำบลก้อ จัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพการทำกระเป๋า-ตะกร้าจากเส้นสานพลาสติก ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มแม่บ้าน
ก้อทุ่งที่ได้นำทักษะการสานวัสดุที่มีความแข็ง เช่น วัสดุไม้ไผ่ หวาย ใบตอง ที่หาได้จากธรรมชาติให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระติบข้าว หวดนึ่งข้าว ตะกร้า กระบุง มาต่อยอดเพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ขของชุมชน เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันทางการตลาดในปัจจุบัน โดยมีรองนายกเทศมนตรี ตำบลก้อและนายสมเกียรติ มูลหนิ้ว เป็นผู้นำความรู้มาถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านในชุมชนตำบลก้อ

วัสดุอุปกรณ์ในการสานกระเป๋า-ตะกร้าจากสเส้นพลาสติก 

1. เส้นพลาสติกสีต่างๆ

2. สายวัด

3. กรรไกร

4. ลวดหนา

5. ท่อยางใส (ใช้ทำหูหิ้ว)


วิธีการขั้นตอนการสานกระเป๋า-ตะกร้าจากเส้นพลาสติก

1. เลือกสายพลาสติก และสีสันที่ชอบ เพื่อให้เกิดลวดลายสวยงาม ได้พื้นสีดำ (สีสมมติ)  กับทำลายเป็นสีขาว  (สีสมมติ)

2. ตัดเส้นพลาสติก สีดำ (สีสมมติ)  ยาว 28 นิ้ว จำนวน 14 เส้น (วิธีตัดต้องให้เป็นปลายเฉียงๆ เพื่อง่ายต่อการสอดสานกัน  และจำนวนเส้นขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์ที่จักสาน)

3. เริ่มจากวางเส้นพลาสติก 7 เส้น  เรียงให้เสมอกัน เทคนิคคือเอาสมุดหนาๆ  มาทับไว้ไม่ให้เส้นพลาสติกเลื่อนไปมา และนำอีก 7 เส้นมาขัดกันเป็นกากบาท  ให้อยู่กึ่งกลาง และสลับขึ้นลงบนล่าง และจัดเส้นให้เท่ากัน

4. นำเส้นข้างใต้เส้นประมาณเส้นที่ 3 ที่อยู่ข้างใต้นำมาสอดและเป็นการล็อค ทั้ง 2 ฝั่งซ้าย ขวา  และทำการล็อคเช่นเดียวกัน ทั้งด้านบนและด้านล่าง

5. พับเส้นทุกเส้นตามรอยที่เป็นขอบของการสานเป็นการขึ้นรูปตะกร้า

6. เริ่มการตัดเส้นสีขาว (สีสมมติ) เพื่อนำขึ้นรอบทำลายของตะกร้าใช้ความยาว 18 นิ้ว จำนวน  11  เส้น (วิธีตัดต้องให้เป็นปลายเฉียงๆ เพื่อง่ายต่อการสอดสานกัน จำนวนเส้นขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์ที่จักสาน)

7. จากนั้นนำเส้นสีดำ (สีสมมติ) ที่ล็อคไว้ออกถอยออกมา เพื่อเป็นการเตรียมเริ่มสานขึ้นรูป

8. ทำการขึ้นเส้นสีขาว (สีสมมติ) มาขัดไปมายึดเกณฑ์จากตรงกลางของเส้นทั้งหมดก่อน สลับไปมาเป็นตารางไปเรื่อย ๆ

9. ชั้นที่ 2 ดันเส้นให้ชิด ก็สานสลับกันไปเป็นชั้นๆ โดยจะต้องมีการล็อคเส้นเพื่อไม่ให้เลื่อนไปมาเสมอ

10. พอสานไปจนใกล้ขอบก็ทำการเหน็บเส้นให้ไปทางเดียวกัน ทิ่มลงไปทางก้นตะกร้า เพื่อเตรียมเอาเส้นสีขาวมาทำขอบ

11. เริ่มทำขอบนำเส้นพลาสติกสีขาว (สีสมมติ) 2 เส้นประกบกัน แล้ววางทาบไปกับขอบตะกร้าดึงเส้นสีดำ (สีสมมติ) ที่ล็อคดึงกลับมา แล้วก็สานทับไปกับขอบเส้นสีขาว (สีสมมติ) แต่ต้องสลับลายสีไปด้วยเพื่อเป็นการสร้างขอบตะกร้าให้เกิดลวดลาย  ทำอย่างนี้ทุกเส้นรอบตะกร้า

12. ขั้นทำการเก็บชาย ตัดชายให้สั้นพอดีกับการซ่อนลายได้แล้วก็เหน็บเก็บเข้าไปด้านใน ทำทุกเส้นเพื่อความเรียบร้อย

13. การทำหู ตัดเส้นพลาสติก 2 เส้น แล้วนำมาตัดผ่าครึ่ง

14. เพื่อนำไปถัดสานขัดกันไปมานั้นไขว้เส้นพลาสติก 2 เส้นเข้าหากัน โดยจะเรียงเป็น 4 เส้น

การถัก คือ นำเส้นซ้ายสุด  มาไขว้อ้อมไปด้านหลังวกกลับของเส้นที่ 3 ต่อด้วยนำเส้นขวาสุด

นับถอยหลังไปไขว้ด้านหลังวกกลับเส้นที่ 3 เช่นกัน ทำสลับไปมาอย่างนี้จนสุดปลายพลาสติก

15. นำมาติดหูที่ตัวตะกร้าโดยการรวบเส้นของหูเข้าด้วยกัน แบ่งแยกเป็น 2 ข้าง แล้วร้อยเข้ากับตัวตะกร้า สานเป็นลวดลาย แล้วทำการเก็บปลายเส้นให้เรียบร้อย สำหรับเป็นหูหิ้วหรือแขวนก็ได้หรือนำมาสอดใส่ในสายยางพลาสติกแล้วนำไปติดหูที่ตัวตะกร้าแทนก็ได้

นายสมเกียรติ  มูลหนิ้ว

สมาชิก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านก้อทุ่ง

(ฮักก้อ ก้อฮัก)
หมู่ที่ 1 ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ข้อมูลการติดต่อ นายสมเกียรติ  มูลหนิ้ว

โทรศัพท์ :  062-5759424

ที่อยู่ บ้านก้อทุ่ง หมู่ที่ 1 ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 51110

แผนที่การเดินทาง - การติดต่อ ผลิตภัณฑ์ฮักก้อ ก้อฮัก

ข้อมูลเนื้อหา โดย นายสมเกียรติ  มูลหนิ้ว

เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวกรรณิการ์ จันทร์ทิพย์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวกรรณิการ์ จันทร์ทิพย์/นายสมเกียรติ  มูลหนิ้ว