พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ มีการจัดพื้นที่ดำเนินงานประกอบด้วย ส่วนนิทรรศการและการจัดแสดง ส่วนสำรวจและวิจัย ส่วนอนุรักษ์ ส่วนคลังตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมขนาด 140 ที่นั่ง โรงอาหาร ร้านค้าสวัสดิการ ร้านขายของที่ระลึก ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา ธรรมชาติวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ มีการจัดกิจกรรมร่วมกับสถานศึกษาต่างๆ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยโดยตลอด

นิทรรศการแบ่งออกเป็น 5 โซน

โซน 1 กำเนิดจักรวาล วิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต และเรื่องราวของไดโนเสาร์ทั่วโลก

โซน 2 ไดโนเสาร์ในแหล่งเทือกเขาภูเวียง

นำเสนอซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชิ้นแรกในประเทศไทย และไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทย โดยเฉพาะที่พบในแหล่งขุดค้นภูเวียงนั้นมีถึง 5 สายพันธุ์ ในโซนนี้ยังมีเรื่องราวของธรณีวิทยาเทือกเขาภูเวียงและประวัติการค้นพบ อันเนื่องจากเทือกเขาภูเวียงมีลักษณะแอ่งกระทะ เป็นแหล่งรวมซากดึกดำบรรพ์เก่าแก่จำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ในยุคโลกล้านปี โดยจะมีแผนผังการขุดค้นพบขนาดใหญ่ที่บรรจุหลุมขุดค้นทั้ง 9 หลุม พร้อมตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ที่ขุดค้นได้ ถัดมาจะเป็นซากดึกดำบรรพ์ในมหายุคมีโซโซอิก มีช่วงอายุตั้งแต่ 251 - 65 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งอาจพูดว่าเป็นมหายุคที่สัตว์เลื้อยคลานครองโลกก็ได้

โซน 3 ห้องปฏิบัติการด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ในจังหวัดขอนแก่น

ชมห้องปฏิบัติการของนักธรณีวิทยาผ่านกระจกใส และใกล้ ๆ กัน ก็จะเป็นมุมที่รวบรวมซากดึกดำบรรพ์ที่ขุดพบในจังหวัดขอนแก่น

โซน 4 สวนไดโนเสาร์

โซนนี้จะตกแต่งเป็นสวนป่ายุคดึกดำบรรพ์ที่มีหุ่นไดโนเสาร์ขนาดเท่าตัวจริง แต่งเดิมด้วยแสงและเสียงร้องของไดโนเสาร์ เข้าบรรยากาศโลกยุคไดโนเสาร์

โซน 5 ยุคเทอร์เชียรี การใช้ประโยชน์หินแร่ และห้องเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เป็นเรื่องราวในยุคเทอร์เชียรี ที่นำเสนอหินและแร่ในประเทศไทย อุปกรณ์สำรวจทางธรณีวิทยา ปิโตรเลียมและธรณีพิบัติภัย ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของกรมทรัพยากรธรณี ในการให้ความรู้และเฝ้าระวังและเตือนภัยในเรื่องของธรณีพิบัติภัยทุกประเภท

ห้องเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะทำให้ได้ซาบซึ้งในพระราชกรณียกิจ ของพระองค์ท่านด้านธรณีวิทยา เห็นได้ว่าท่านทรงสนพระทัย ในทุกภารกิจของบ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานทางด้านวิชาการทุกแขนง

ประวัติความเป็นมาของแหล่งไดโนเสาร์เทือกเขาภูเวียง


ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชิ้นแรกของไทยพบที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในปี 2519 โดยนายสุธรรม แย้มนิยม อดีตนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ขณะสำรวจแร่ยูเรเนียม ในหมวดหินเสาขัว ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง บริเวณห้วยประตูตีหมา กระดูกชิ้นนี้มีความกว้างยาวประมาณ 1 ฟุต จากการเปรียบเทียบพบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ซอโรพอดซึ่งมีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 15 เมตร และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นส่วนปลายล่างสุดของกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์จำพวกกินพืช

การสำรวจไดโนเสาร์ที่ภูเวียงได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2524 โดยนายเชิงชาย ไกรคง นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณี ได้พาคณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทยและฝรั่งเศสขึ้นไปสำรวจกระดูกไดโนเสาร์ บริเวณยอดห้วยประตูตีหมา อำเภอภูเวียง คณะสำรวจพบกระดูกไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ รวมทั้งฟันจระเข้ กระดองเต่า ฟันและเกล็ดปลาโบราณ และจากการสำรวจในเวลาต่อมาได้พบกระดูกไดโนเสาร์อีกหลายชนิด ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงจึงถูกจัดตั้งขึ้น โดยความร่วมมือของกรมทรัพยากรธรณี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยซากดึกดำบรรพ์อย่างเป็นระบบของนักธรณีวิทยา ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนและผู้สนใจ

การติดต่อ

สถานที่ตั้ง

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น 40150

โทรศัพท์

0 4343 8204, 0 4343 8206

โทรสาร

0 4343 8204

พิกัด

16.679074 N, 102.267133 E

เว็บไซต์

http://www.dmr.go.th

ค่าบริการ

คนไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท

คนต่างชาติ ผู้ใหญ่ 60 บาท เด็ก 30 บาท

เวลาทำการ

วันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00 น. - 17.00 น. หยุดทุกวันจันทร์

ยกเว้นวันจันทร์ที่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์เปิดให้บริการปกติ