แหล่งท่องเที่ยววัดถ้ำผาฆ้อง
สถานที่ตั้ง บ้านผาฆ้อง หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง 42180
โทรศัพท์มือถือ 099-327-9059, 062-9159874
E-mail : uelf.kim@gmail.com
พิกัด 16.89423232905595, 101.95515024662222
พิกัดลิงค์ https://goo.gl/maps/fz4UPLpGRmULFKUTA
แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
“บ้านผาฆ้อง” หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองเลย จังหวัดเลย ระยะทาง 74 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ว่าการอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร สำหรับการเดินทางจากตัวเมืองเลยไปตามถนนมะลิวัลย์ ทางหลวงหมายเลข 201 อยู่เยื้องกับอุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเข้าหมู่บ้าน
4.50 กิโลเมตร
ทิศเหนือ ติดกับบ้านสะพานยาว หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยส้ม
ทิศใต้ ติดกับบ้านช่องฝาง หมู่ที่ 5 ตำบลผานกเค้า
ทิศตะวันตก ติดกับบ้านซำบาง หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยส้ม
ทิศตะวันออก ติดกับบ้านห้วยส้มใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลผานกเค้า
“บ้านผาฆ้อง”มี 173 ครัวเรือน จำนวนประชากร 619 คน ประกอบด้วย 6 คุ้ม ได้แก่ คุ้มใหญ่อยู่ใจกลางหมู่บ้าน มี 104 ครัวเรือน ประชากร 378 คน คุ้มผาแดง อยู่ทิศใต้ของคุ้มใหญ่ ระยะทาง 500 เมตร มี 14 ครัวเรือน ประชากร 37 คน คุ้มผาหมี
อยู่ทิศตะวันตกของคุ้มใหญ่ ระยะทาง 500 เมตร มี 6 ครัวเรือน ประชากร 23 คน คุ้มผาก่ำ อยู่ทิศตะวันออกของคุ้มใหญ่
ระยะทาง 1 กิโลเมตร มี 18 ครัวเรือน ประชากร 58 คน คุ้มซำบอน อยู่ทิศตะวันตกของคุ้มใหญ่ ระยะทาง 1 กิโลเมตร มี 8 ครัวเรือน ประชากร 24 คน และคุ้มซำทอง อยู่ทิศเหนือของคุ้มใหญ่ ระยะทาง 3 กิโลเมตร มี 23 ครัวเรือน ประชากร 99 คน
ในปี 2561 บ้านผาฆ้องถูกคัดเลือกให้เป็น “หมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี” ซึ่งขับเคลื่อนจากสำนักงานพัฒนาอำเภอภูกระดึงมาสู่หมู่บ้านมีการสนับสนุน แหล่งท่องเที่ยว โฮมสเตย์และผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มาของชื่อบ้านผาฆ้อง ตามความเชื่อที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า ทุกวันพระขึ้น 15 ค่ำ ได้ยินเสียงฆ้องดัง เหมือนมีคนมาตีฆ้องอยู่ตรงหน้าผา เพราะเสียงดังออกมาจากภูเขา จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า
“ผาฆ้อง” ที่มาของชื่อคำว่า “ผา” หมายถึง หินเป็นทางตัดแนวดิ่งของภูเขา ส่วนคำว่า “ฆ้อง” หมายถึง เครื่องบรรเลงเสียงอย่างหนึ่ง
ทำด้วยทองเหลือง ตรงกลางมีปุ่ม มีหลายชนิด เช่น ฆ้องวง ฆ้องโหม่ง(http://phakhong.otoploei.com)
ภาษาพูดบ้านผาฆ้อง
ภาษาพูด มีสำเนียง 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทเลย บางพยางค์ออกเป็นเสียงสูงฟังดูไพเราะนุ่มนวลเป็นเอกลักษณ์ของคนเมืองเลย
อีกภาษาเป็นภาษาอีสานที่มีลักษณะเหมือนการพูดแบบชาวอีสานทั่วไป ขึ้นอยู่ที่ว่าอพยพมาจากจังหวัดไหนของภาคอีสาน
คนในชุมชุนส่วนใหญ่นิยมใช้ภาษาอีสานพูดสื่อสารกัน
วัดถ้ำผาฆ้อง
วัดถ้ำผาฆ้อง สังกัดคณะสงฆ์ ธรรมยุต ตั้งอยู่ที่บ้านผาฆ้อง หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย จัดตั้งวัดเมื่อ
พ.ศ. 2483 เป็นวัดที่มีชื่อในทะเบียนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและมีสภาพเป็นวัด ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บนเนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกจรดทางสาธารณประโยชน์ ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะประกอบด้วยศาลาการเปรียญ
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2518 กุฏิสงฆ์ 9 หลัง ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปทองเหลืองปางสมาธิ 1 องค์ พระพุทธรูปทองเหลืองปางมารวิชัย
พระพุทธรูปทองเหลืองปางประทานพร พระพุทธรูปทองเหลือง 10 องค์ เจดีย์กตัญญกตเวทีตะเจดีย์ มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ได้แก่ ถ้ำผาฆ้อง วัดถ้ำวัวกระทิง วัดถ้ำเสือ มีหินงอกหินย้อย ภาพเขียนสีตามผนังถ้ำ ส่วนการศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรม
แผนกธรรม เปิดสอน พ.ศ. 2520 วัดถ้ำผาฆ้อง แต่เดิมสถานที่ตั้งวัดเป็นภูเขามีถ้ำอยู่ระหว่างกลาง ในคืนวันพระมักจะมีเสียงฆ้องดังกังวานออกมาจากปากถ้ำ จึงได้ชื่อว่าวัดถ้ำผาฆ้อง สร้างโดยพระเจริญ ถิรจิตฺโต ได้ออกธุดงค์มาพบสถานที่แห่งนี้และตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น มีการบูรณะพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ รูปที่ 1 พระเจริญ ถิรจิตฺโต
รูปที่ 2 พระสงกราน รูปที่ 3 พระคำปลิว รูปที่ 4 พระรอด รูปที่ 5 พระประไพ รูปที่ 6 พระสัญญา รูปที่ 7 พระบุญทรง รูปที่ 8 พระมานะ ขันติโก ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 - ปัจจุบัน แต่เนื่องจากวัดยังไม่ได้ดำเนินการขอรังวัดออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ดังนั้นการดำเนินโครงการต่าง ๆ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสวัดผาฆ้อง (ทรงพุฒิ ชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดเลย, 2563)เจดีย์กตัญญกตเวทิตะเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยการนำของพระมานะ ขัตติโกเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันวัดผาฆ้อง ร่วมกับแรงศรัทธาของญาติธรรมและชาวบ้านผาฆ้อง ด้วยงบประมาณราว 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ด้านหลังของวัดผาฆ้องและทางด้านซ้ายของถ้ำผาฆ้อง 1 เส้นทางเดินคดเคี้ยว ค่อนข้างสูงชัน ประมาณ 700 เมตร
ก่อนสร้างมีผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านช่วยกันหาพื้นที่และปรับให้เรียบเสมอกัน ที่แปลก คือ ไม่สามารถตอกเสาเข็มได้ ต้องทำฐานเป็นใยแมงมุม เพื่อป้องกันไม่ให้เจดีย์ทรุด ที่ยอดบนสุดของเจดีย์จะเป็นรูปดอกบัว 5 ดอก มีความหมายว่าพระพุทธเจ้า 5 องค์ มีมารดา
คนเดียวกัน ตรัสรู้แล้ว 4 องค์ ได้แก่
1. กกุสันโธ (พระกกุสันธพระพุทธเจ้า)
2. โกนาคะมะโน (พระโกนาคมนพุทธเจ้า)
3. กัสสะโป (พระกัสสปพระพุทธเจ้า)
4. โคตะโม (พระโคตมพระพุทธเจ้า)
5. เมตเตยโย (ยังไม่บาน คือ ยังไม่ตรัสรู้) (พระศรีอริยเมตไตรย)
ลักษณะเจดีย์มี 4 ชั้น เป็นสัญลักษณ์ของ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ชั้น 1 และ ชั้น 2 เป็นพระพุทธรูปปางคันธราช สร้างในสมัยรัชกาลที่ 9 ให้กราบไหว้ ชั้น 3 และ ชั้น 4 บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และมี 9 สี โดยท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง
ตั้งจิตขอให้พระวิษณุกรรมมาช่วยออกแบบและนิมิตฝันว่าให้ใช้สีนั้นสีนี้ในการสร้างเจดีย์ เช่น นิมิตรเห็นหลวงปู่วิไล วัดถ้ำช้างเผือก
ครูจารย์จำนง (ลูกศิษย์หลวงปู่แหวน วัดป่าโปกบารมีวณาราม) สมัยที่สร้างจะนิมิตรเห็นเทวดาจากชั้นจาตุมหาราชิกาและสวรรค์ชั้นนิมมานรดี จะมากราบเจดีย์ทุกวัน ตี 1 พรหมโลก 16 ชั้น จะลงมาตอนสร้างเจดีย์จะมีลิงเผือกไม่มีหางมาเดินดูเจดีย์ตลอดเวลา
ใต้เจดีย์ทำฐานแมงมุม ถมด้วยแกลบและแผ่นซีเมนต์ทับด้วยหิน 4-5 ชั้น “ตลอดกาลนานเทอญ” ภายในบรรจุกระดูกพระพุทธเจ้า
เป็นพระบรมสารีริกธาตุ ทำพิธีพุทธาภิเษก เมื่อปี พ.ศ. 2553ส่วนที่มาของการตั้งชื่อ "เจดีย์กตัญญู" เพราะอยากจะให้เตือนใจการรู้บุญคุณคน เป็นลูกศิษย์และกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า ต้องอยู่ในกรอบธรรมวินัย (พระมานะ ขันติโก เจ้าอาวาสวัดผาฆ้อง,
สัมภาษณ์ : 10 กุมภาพันธ์ 2563)
ถ้ำผาฆ้อง 1 ตั้งอยู่ในบริเวณวัดถ้ำผาฆ้อง ทางทิศตะวันออกของภูเขา ผาฆ้อง เรียกชื่อตามเสียงฆ้องดังอยู่บนภูเขาทุกวันพระ
ขึ้น 14-15 ค่ำ เชื่อกันว่าที่ถ้ำผาฆ้องจะมีฆ้องอยู่ด้านใน ชาวบ้านจะได้ยินเสียงคล้ายคนตีฆ้องดังออกมาจากถ้ำ ซึ่งถือว่าเป็นถ้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ “ตีฆ้องตีกลองรับ”อยู่ใกล้กับถ้ำผาก่ำและผากลอง กลางคืนจะมีคนเห็นแสงเทวดา แสงเจ้าที่จากยอดปลายผาฆ้อง นอกจากนั้น
ในถ้ำจะมีงู หรือของรักษาถ้ำ (ภูมิ/เทวดา)
เมื่อเริ่มเดินจากปากถ้ำด้านหน้าและขวามือจะมีพระพุทธรูปให้กราบไหว้ ด้านหลังพระพุทธรูปมีเสาใหญ่ค้ำถ้ำตรงกลาง เหมือนมีสับประทุนใหญ่ ภายในถ้ำมีจำนวน 3 ห้อง โดยห้องที่ 1 เป็นลานกว้าง สามารถเดินชมความสวยงามของหินงอกหินย้อย ห้องที่ 2 จะอยู่ลึกเข้าไป จุดเด่น คือ หินประกายเพชร (ห้ามนักท่องเที่ยวจับเพราะเหงื่อจะทำให้ประกายเพชรหลุดออกจากหิน) ห้องที่ 3 สูงชันขึ้นไป เป็นบริเวณต้องห้าม หากจะเข้าชมต้องมีผู้นำทางพาชมเพื่อความปลอดภัย(พระมานะ ขันติโก เจ้าอาวาสวัดผาฆ้อง,สัมภาษณ์ :
10 กุมภาพันธ์ 2563) ในขณะเที่ยวชมจะมีค้างคาวบินวนไปมาตัดกับแสงไฟทำให้ได้บรรยากาศชวนมอง
ถ้ำผาฆ้อง 2 อยู่บริเวณด้านหลังถ้ำผาฆ้อง 1 มีทางขึ้นเยี่ยมชมอีกฟากหนึ่ง ต้องปีนป่ายขึ้นหน้าถ้ำสูงประมาณ 2 เมตร แต่บริเวณโดยรอบร่มรื่นเย็นสบาย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ บริเวณด้านในถ้ำจะมีหินงอกหินย้อยตลอดทางเดิน ฝาผนังถ้ำมีความสวยงามตามลายหินปูนที่มีอายุหลายพันปี แต่การเดินทางเข้าไปในถ้ำค่อนข้างยากลำบาก สูงชันและลึก คดเคี้ยว ต้องมีผู้ชำนาญทางนำเข้าชม ปัจจุบันยังไม่เปิดให้เที่ยวชม
(พระมานะ ขันติโก เจ้าอาวาสวัดผาฆ้อง, สัมภาษณ์ : 10 กุมภาพันธ์ 2563)
การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนและภาครัฐ
ชุมชนบ้านผาฆ้อง ต.ห้วยส้ม อ.ภูกระดึง จ.เลย มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อาทิ วัดถ้ำผาฆ้อง ถ้ำผาฆ้อง 1 ถ้ำผาฆ้อง 2 ถ้ำกระทิง ถ้ำเสือ เจดีย์กตัญญกตเวทิตะเจดีย์ หลังแปจุดชมวิวสูงสุดบนถ้ำผาฆ้อง วัดป่าศรีกำพลภูผาก่ำ ภูผากลอง ภูผาหมี น้ำผุดห้วยส้ม สวนเกษตรมาริศา สวนหมวดจ๊อด ไร่ภูพารา สวนเกษตรพอเพียง
สวนค้อทอง รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร/นิเวศได้มีหน่วยงานราชการ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
เข้ามาประชุมระดมสมองเพื่อยืนยันข้อมูลหาแนวทางการสร้างส่อออนไลน์และสื่อโซเซียลในโครงการวิจัยและพัฒนาตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เรื่อง การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวสีเขียวและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน
ที่มีอัตลักษณ์การท่องเที่ยวสีเขียว ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อโซเซียล บ้านผาฆ้อง ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลยเข้ามาสำรวจ
ในวัดถ้ำผาฆ้อง
ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
วัดป่าศรีกัมพล
วัดกตัญญกตเวทิตะเจดีย์
วัดถ้ำผาฆ้อง
ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
ไร่ภูพารา
น้ำผุดห้วยส้ม
สวนเกษตรมาริศา
ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวพิชญา สวาสนา
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวพิชญา สวาสนา
กรณีเนื้อหาเป็นการสัมภาษณ์ ข้อมูลเนื้อหา โดย นางคำหมุน ป้องกัน
เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวพิชญา สวาสนา
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวพิชญา สวาสนา