ประเพณีสงกรานต์

สงกรานต์ล้านนา หรือ "ประเพณีปี๋ใหม่เมือง" อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ "วันสังขารล่อง" (13 เมษายน) หมายความว่า วันนี้สิ้นสุดศักราชเก่า ในวันนี้จะได้ยินเสียงยิงปืนจุดประทัดกันแต่เช้าตรู่ โดยการยิงปืนและการจุดประทัด มีความเชื่อถือกันแต่โบราณว่า เป็นการขับไล่เสนียดจัญไรต่าง ๆ ให้ล่องไปพร้อมกับสังขาร จากนั้น ชาวบ้านจะกวาดขยะมูลฝอยตามลานบ้าน ไปกองไว้แล้วจุดไฟเผา และทำความสะอาดปัดกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อย เก็บเสื้อผ้า มุ้ง หมอน ผ้าปูที่นอนไปซัก ส่วนอุปกรณ์ที่ซักไม่ได้ก็นำออกไปผึ่งแดด เสร็จแล้วก็ชำระร่างกายสระผม (ดำหัว) ให้สะอาด และมีการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล

ถัดมาคือ "วันเนา" หรือ "วันเน่า" (14 เมษายน) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้าย เพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี โดยในวันนี้ตามประเพณี ถือว่าเป็นวันสำคัญและเป็นมงคลแก่ชีวิต จะได้ประสบแต่ความดีงามตลอดปี จะไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นมงคล เช่น ด่า ทอ หรือทะเลาะวิวาทกัน ตอนเช้าต่างก็จะไปตลาด เพื่อจะจัดซื้ออาหารและข้าวของมาทำบุญ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันดา" (คือวันสุขดิบทางใต้) ตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด โดยขนจากแม่น้ำปิง แล้วนำไปยังวัดที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อก่อเจดีย์ทรายตามลานวัด เจดีย์ที่ก่อขึ้นจะตบแต่งด้วยธงทิวสีต่าง ๆ ธงสีนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "ตุง" ทำด้วยกระดาษสี ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงและรูปร่างต่าง ๆ ติดปลายไม้ อีกชนิดหนึ่งตัดเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ ติดปลายไม้เรียกว่า "ช่อ" การทาน หรือถวายตุง หรือช่อนี้ ถือกันว่าเมื่อตาย (สำหรับผู้ที่มีบาปหนักถึงตกนรก) จะสามารถพ้นจากขุมนรกได้ด้วยช่อและตุงนี้ ส่วนการขนทรายเข้าวัด ถือว่าเป็นการทดแทนที่เมื่อตนเดินผ่านหรือเข้าออกวัด ทรายในวัดย่อมจะติดเท้าออกไปนอกวัด ซึ่งเป็นบาปกรรม ทางวัดจะได้ใช้ทรายเพื่อประโยชน์ในการสร้าง หรือถมลานวัด เจดีย์ทรายนี้จะทำพิธีถวายทานในวันรุ่งขึ้น และจะมีการปล่อยนกปล่อยปลาอีกด้วย ทั้งนี้ ในวันขนทราย จะมีการเล่นรดน้ำกัน และเป็นการเล่นอย่างสนุกสนานที่สุดวันหนึ่ง ผู้หญิงจะแต่งกายพื้นเมือง จะนุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อแขนยาว ทัดดอกเอื้องที่มวยผม ส่วนผู้ชายจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดพื้นเมือง คล้องคอด้วยดอกมะลิ ถือขันหรือโอคนละใบ ใส่น้ำเพื่อรดกันอย่างสนุกสนาน และขนทรายเข้าวัดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสทุก ๆ คน

วันที่สาม "วันพญาวัน" หรือ "วันเถลิงศก" (15 เมษายน) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไป "รดน้ำดำหัว" ขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวเมืองเหนือ คือ การนำลูกหลานญาติพี่น้องไปขอขมาลาโทษ (สูมาคาระวะ) ต่อผู้ใหญ่ในตอนเย็น

วันที่สี่ "วันปากปี" (16 เมษายน) ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆ เพื่อขอขมาคารวะ โดยตั้งแต่เช้าตรู่ ชาวบ้านจะจัดอาหารหวานคาวใส่สำรับไปถวายพระที่วัด เป็นการถวายภัตตาหารหรือที่เรียกกันว่า ทานขันข้าว เป็นการถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับ รวมทั้งถวายเจดีย์ทราย ถวายจ่อตุง เพราะถือว่าเป็นอานิสงส์ และวันที่ 5 "วันปากเดือน" (17 เมษายน) เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่าง ๆ ออกไปจากตัว เพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา