ประเพณี การละเล่นผีตาโขน หรือ “ผีขน” ของชาวบ้านหลวงแจ้ซ้อนเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้านตั้งแต่บรรพบุรุษจนมาถึงลูกหลานยุคปัจจุบัน ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวบ้านหลวงแจ้ซ้อน ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง การละเล่นพื้นบ้าน “ผีขน” มีการเล่นที่มีมานานกว่า 100 ปีโดยจะเล่นในงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุวันศรีหลวงแจ้ซ้อน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (เหนือ) หรือประเพณีแปดเป็งของชาวเหนือ

การละเล่นพื้นบ้านผีขนเกิดจากความเชื่อที่ว่า ผู้ที่หน้าตาไม่ดีไม่หล่อ ไม่งาม ไม่มีคนรัก คนชอบ ถ้าได้ร่วมเล่นผีขนแล้ว เกิดชาติหน้าจะมีเป็นคนหน้าตาดี มีคนรักคนชอบ และเป็นสิริมงคลกับชีวิต วิธีการเล่นผีขนในยุคอดีต ผู้เล่นจะต้องนำชุดผีขนที่เตรียมไว้ไปทำพิธีในป่าช้า เพื่อเชิญดวงวิญญาณของผู้ตายที่ผู้ตายต้องการเข้าทรงร่างผีขน โดยต้องมีหมาก 1 คำ พลู 1 ใบ กล้วย 1 ลูก ข้าว 1 ปั้น เป็นเครื่องอัญเชิญดวงวิญญาณ เมื่อดวงวิญญาณได้เข้าทรงหัวผีขนแล้ว หากได้ยินเสียงฆ้อง กลอง เพื่อร่ายรำ หลอกหล่อน และหยอกล้อ กับผู้คนที่ไปร่วมในขบวนแห่ครัวตานของ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุฯ

สำหรับชุดผีขนส่วนใหญ่จะใช้ผ้าจีวรของพระสงฆ์ใหญ่มีตัดแต่งให้คลุมได้ทั้งร่างโดยจะใช้น้ำมันเครื่องหรือถ่านมาชะโลมให้ดูเปรอะเปื้อนแล้วประดับด้วยดอกไม้และใบไม้ ส่วนท่อนหัวจะนำตะกร้าไม้ไผ่มาห่อหุ้มด้วยฝอยมะพร้าว ก่อนจะใช้ผ้าเหลืองเย็บทับแล้วแต่งใบหน้าให้เป็นตา จมูก ปาก และใบหู ก่อนจะนำสีมาวาดให้ชัดเจน สำหรับผีขนจะมีทั้งผีหน้าเดียว ผีสองหน้าและผีสามหน้า ซึ่งต้องใช้ตะกร้าตามจำนวนเพื่อทำหน้าผี ส่วนศีรษะของผีขนจะมีการนำเส้นผมของคนที่ตัดแล้ว มาทากาวแปะติดกับหัวผีขน ซึ่งในอดีตอาจใช้เส้นผมของคนที่ตายแล้วมาติดแทน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ผีขน” นั่นเอง หลังการเล่นผีขนเสร็จ ผู้เล่นจะต้องเอาชุดผีขนไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในป่าช้า แล้วผู้เล่นต้องไปอาบน้ำขมิ้น ส้มป่อยที่แช่ไว้เพื่อชำระร่างกายป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาครอบงำ

ปัจจุบันการละเล่นพื้นบ้านผีขนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยผู้เล่นอาจจะแต่งชุดผีขนออกจากบ้าน ซึ่งเป็นการเล่นเพื่อสร้างสีสันและความสนุกสนานเท่านั้น เมื่อเล่นเสร็จแล้วก็จะนำชุดกลับไปเก็บไว้ที่บ้าน เพื่อไว้ใช้ใหม่ในปีต่อไป และไม่ต้องอาบน้ำขมิ้น ส้มป่อยชำระร่างกายเพราะไม่ได้มีการอัญเชิญวิญญาณผีจากป่าช้ามาเข้าทรงร่างเหมือนเช่นอดีต...

ในอดีต “ผีขน” จะไม่สามารถเข้าไปในวัดได้ เพราะเป็นวิญญาณของภูตผีคนตาย แต่ปัจจุบันเป็นการละเล่นเพื่อสืบทอดประเพณีวัฒนธรรม และเป็นการละเล่นเพื่อสร้างสีสันในขบวนแห่ครัวตานเท่านั้น ผีขนจึงสามารถเข้าไปในวัดได้

ลุงผัด มักได้ ชาวบ้านหลวงแจ้ซ้อน ผู้ที่เคยสัมผัสกับการละเล่นผีขนมาตั้งแต่สมัยเด็กๆเผยว่า ในอดีตจำนวนผู้เล่นผีขนมีจำนวนเพียง 1 หรือ 2 คนเท่านั้น ไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนปัจจุบัน โดยผู้เล่นจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 20-30 ปี และต้องเป็นคนที่มีความกล้า ไม่เกรงกลัวภูตผีปีศาจ เพราะต้องเป็นร่างทรงของวิญญาณผีนั่นเอง... แต่ในปัจจุบันการเล่นอาจมีเงินหรือค่าตอบแทนทำให้เด็กหรือเยาวชนสนใจเข้าร่วมเล่นจำนวนมากขึ้น เพราะไม่มีเรื่องของวิญญาณภูตผีมาเกี่ยวข้อง