ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทำโคมล้านนา 

แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทำโคมยี่เป็งหรือโคมล้านนา 

ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำโคมล้านนา

    

ชื่อ - สกุล           นายสนิท  ทอสาร

วันเดือนปี เกิด    21  กุมภาพันธ์  2485

อายุ                    78  ปี

ที่อยู่ปัจจุบัน        14 หมู่ที่ 8 บ้านบ่อคาว ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง                             จ.ลำพูน

ภูมิปัญญาด้าน     ศิลปกรรม ด้านการทำโคมล้านนา



   ประวัติภูมิปัญญา

      นายสนิท  ทอสาร อายุ 78 ปี อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 8 บ้านบ่อคาว ต.บ้านเรือน  อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ผู้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทำโคมยี่เป็งหรือโคมล้านนา ได้สืบทอดภูมิปัญญาด้านศิลปกรรม วัฒนธรรม เทคนิคการทำโคมล้านนา มาจากบรรพบุรุษ โดยจะมีการรวมกลุ่มกันประดิษฐ์โคมในลักษณะต่างๆ ในช่วงก่อนจะถึงเทศกาลลอยกระทง เพื่อเตรียมใช้ในการจุดผางประทีปบูชาที่วัดในวันเพ็ญเดือนยี่ โดยการแขวนใส่ค้างโคมบูชาตามพระธาตุเจดีย์ แขวนไว้หน้าวิหาร กลางวิหาร นอกจากนี้ พ่อสนิท ทอสาร ยังเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำโคมล้านนาแก่สมาชิกภายในชุมชนและเยาวชนรุ่นใหม่อีกด้วย


ประวัติความเป็นมาของโคมล้านนา

ในช่วงก่อนจะถึงวันเพ็ญเดือนยี่ ชาวล้านนาที่มีฝีมือเชิงช่างจะประดิษฐ์โคมรูปลักษณะต่างๆ เพื่อเตรียมใช้ในการจุดผางประทีสบูชาที่วัดในวันเพ็ญเดือนยี่ โดยการแขวนใส่ค้างโคมบูชาตามพระธาตุเจดีย์ แขวนไว้หน้าวิหาร กลางวิหาร หรือในปัจจุบันนิยมแขวนประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือน โคมล้านนามีลักษณะหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่การสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น โคมรูปแบบโบราณที่พบทั่วไปในล้านนา เช่น โคมรังมดส้ม (โคมธรรมจักร) โคมดาว โคมไห โคมเงี้ยว(โคมเพชร) โคมกระบอก โคมหูกระต่าย โคมดอกบัวโคมญี่ปุ่น โคมผัด ฯลฯ ในปัจจุบันมีการประดิษฐโคมรูปแบบใหม่ เช่น โคมรูปจรวด รูปเครื่องบิน โคมร่ม โคมปราสาท ฯลฯ โคมต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่เฮียะ นำมาหักขึ้นเป็นโครง ติดกระดาษสาหรือ กระดาษแก้ว ผ้าดิบ ตัดลายกระดาษสีเงิน สีทอง ประดับตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม โคมยี่เป็งแต่ละชนิด มีความแตกต่างกันที่รูปทรงและการประดับตกแต่งลวดลาย เป็นรูปแบบเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงโคมยี่เป็งที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

โคมรังมดส้ม

โคมรังมดส้ม บ้างเรียกว่า โคมเสมาธรรมจักร มีรูปทรงที่เหมือนรังมดส้ม (มดแดง) และรูปทรงเป็นแปดเหลี่ยม จึงเรียกว่า ธรรมจักร โคมรังมดส้มนี้ ใช้ไม้ไผ่เฮียะ เหลาให้เป็นเส้น กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร หนา ประมาณ ๒ - ๓ มิลลิเมตร นำมาหักเป็น ๑๖, ๒๔ เหลี่ยมหรือตามต้องการ นำมาผูกด้วยด้ายให้แน่น เมื่อมัดโครงเสร็จแล้ว นำไม้เฮียะที่เตรียมไว้มาหักมุม เพื่อทำหูโคมเป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อทำเป็นโครงสำเร็จแล้ว ติดกระดาษรอบโครง ปล่อยส่วนบนไว้ เพื่อเป็นช่องใส่ผางประทีส และให้อากาศเข้ามาในโคมได้ ตัดลวดลายอาจจะเป็นลายดอกก๋ากอก (ลายประจำยาม) ลายตะวัน สำหรับประดับตกแต่ง หลังจากนั้นติดหางโคมสำหรับกระดาษที่ใช้ทำโคม อาจใช้กระดาษแก้วหลากสีเป็นอุปกรณ์ทำโคม ถ้าใช้กระดาษสี ไม่นิยมประดับด้วยลวดลาย โคมรังมดส้มใช้จุดเป็นพุทธบูชา

โคมล้านนา

จุดเด่นของภูมิปัญญา

ในการประดิษฐ์โคมล้านนา โดย นายสนิท ทอสาร นั้น จะมีการประดิษฐ์โคมล้านนาในรูปแบบโคมรังมดส้ม บ้างเรียกว่า โคมเสมาธรรมจักร มีรูปทรงที่เหมือนรังมดส้ม (มดแดง) และรูปทรงเป็นแปดเหลี่ยม จึงเรียกว่า ธรรมจักร โดยมีการประยุกต์ใช้ผ้าในการทำโคมแทนการใช้กระดาษ เนื่องจากโคมที่ทำจากผ้านั้น จะมีความคงทนและคงสีสันของโคมได้ยาวนานกว่าโคมที่ทำจากกระดาษ นอกจากนี้ ยังมีการประดิษฐ์โคมรังมดส้ม ในรูปแบบโคมล้านนายักษ์ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าโคมล้านนาปกติ กว่า 20 เท่า สำหรับใช้ในการตกแต่งการจัดกิจกรรมตามประเพณีท้องถิ่นต่างๆ เช่น ประกอบการตกแต่งสถานที่กิจกรรมประเพณีลอยกระทง ซึ่งจะทำให้มีลักษณะที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ของโคมล้านนาในพื้นที่  และมีการรวมกลุ่มผู้สูงอายุ โดยการนำของนายสนิท ทอสาร เพื่อทำโคมล้านนา ออกจำหน่ายในช่วงเทศกาลลอยกระทง เป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่ และยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปกรรมพื้นบ้าน ล้านนาให้คงอยู่สืบไป

วัสดุ อุปกรณ์ ขั้นตอนการทำ

การเผยแพร่ความรู้เรื่องการทำโคมยี่เป็งแก่ชุมชนและเยาวชน

วิทยากรสอนทำโคมให้กับคนในชุมชนและผู้ที่สนใจ

ที่มา       : เว็บไซต์ อบต.บ้านเรือน (ฐานข้อมูลภูมิปัญญา)

 เว็บไซต์ : http://banruan.go.th/index.php