การศึกษาต่อเนื่อง

หลักการจัดการศึกษาต่อเนื่อง


เพื่อให้การดำเนินงานการจัดการศึกษาต่อเนื่อง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงาน กศน. จึงได้กำหนดหลักการในการจัดไว้ ดังนี้

๑. หลักสูตรได้รับการพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับสภาพสังคมชุมชนและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย (เป็นหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติโดยสถานศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้อนุมัติ ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา และหรือเป็นหลักสูตรที่หน่วยงานภาครัฐได้อนุมัติและอนุญาตให้ใช้แล้ว)

๒. สื่อและแหล่งค้นคว้า ตลอดจนวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ต้องได้รับการพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับหลักสูตร และกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน

๓. วิทยากร ต้องสรรหาวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถหรือมีความเชี่ยวชาญในสาขาที่จะสอนอย่างแท้จริง และวิทยากรควรผ่านการอบรมการเป็นวิทยากรจากหน่วยงานสถานศึกษาของ กศน.

๔. การจัดการเรียนรู้ จะต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียนและความพร้อมของผู้เรียน และสอดคล้องกับความต้องการและบูรณาการวิธีการจัดการเรียนรู้

๕. การจัดกระบวนการเรียนรู้ จะต้องเน้นให้มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายและสอดคล้อง กับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

๖. กลุ่มเป้าหมายสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาไปใช้ในการประกอบอาชีพ

การพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข


การจัดการศึกษาต่อเนื่อง อาจจัดได้ ดังต่อไปนี้

๑. จัดโดยสถานศึกษาในสังกัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

๒. จัดโดยสถานศึกษาในสังกัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยร่วมกับภาคีเครือข่าย

๓. จัดโดยภาคีเครือข่าย

วิธีการจัดการเรียนรู้

วิธีการจัดการศึกษาต่อเนื่อง เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้จากวิทยากร สื่อ หรือการปฏิบัติ โดยวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย ดังนี้

๑. การเรียนรู้รายบุคคล เป็นการเรียนรู้ของผู้เรียนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่ต้องการจะเรียนรู้ในเนื้อหาใด เนื้อหาหนึ่ง ซึ่งเป็นความสนใจเฉพาะตัว ตามหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องในสถานศึกษาหรือภาคีเครือข่าย โดยผู้เรียนและวิทยากรร่วมกันวางแผน และออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนแต่ละบุคคล

๒. การเรียนรู้รายกลุ่ม เป็นการเรียนรู้ของผู้เรียนตั้งแค่สองคนขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน สิบห้าคน ซึ่งมีความสนใจตรงกันตามหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง

๓. การเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ เป็นการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนในแหล่งเรียนรู้ เช่น ศูนย์ขยายเพาะพันธุ์ปลา ศูนย์สาธิตการทำไร่นาสวนผสม ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต องค์การชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น โดยมีการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียน

๔. การเรียนรู้ในสถานประกอบการ เป็นการจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสถานประกอบการ เช่น อู่ซ่อมรถยนต์ ห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งประกอบการ SMEs ที่มีส่วนร่วมหรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาต่อเนื่อง

๕. การเรียนรู้จากฐานการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจง เช่น ฐานการเรียนรู้เกษตรธรรมชาติ ฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ฐานการเรียนรู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฐานการเรียนรู้สุขภาพอนามัย ฐานการเรียนรู้คุณธรรม จริยธรรม ฐานการเรียนรู้วัฒนธรรมไทย เป็นต้น ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากวิทยากร สถานการณ์จริง หรือเรียนรู้ด้วยตนเอง

๖. การศึกษาทางไกล เป็นวิธีการจัดการศึกษาที่เปิดกว้างในเรื่องของเวลา สถานที่ เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อประสมที่หลากหลาย มีการจัดกิจกรรมเสริมความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ที่จำเป็น เหมาะสมกับเนื้อหา ตามหลักสูตร รวมทั้งมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมหรือปฏิบัติการจากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นการเรียนรู้แบบพึ่งพาตนเอง ผู้เรียนจึงต้องวางแผนและสร้างวินัยในการเรียนรู้ด้วยตนเอง