ทำนา

ชนเผ่ากระเหรี่ยง : การทำไร่หมุนเวียน

ระบบการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยง เป็นระบบการทำไร่ลักษณะหมุนเวียน โดยมีการหมุนเวียนใช้เวลาประมาณ 7- 10 ปีเพื่อ ทำให้ระบบนิเวศที่ถูกทำลายไปเหล่านั้น มีการฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิมมีการปลูกพืช หลายชนิดในไร่ เช่น พันธุ์ข้าวประมาณ 2 - 3 ชนิด ถั่วประมาณ 2-3 ชนิด แตงกวา ฟักทอง ฟักเขียว และเครื่องเทศหลายชนิด อย่างไรก็ตามชาวกะเหรี่ยง มีความเชื่อว่า การทำไร่เปรียบเสมือนการเหยียบบนท่อนไม้ไผ่ อันหมายถึง ความไม่แน่นอนในด้านผลผลิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของดิน และสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละปี ในด้านเรื่องราวหรือตำนานที่เกี่ยวกับการทำไร่หมุนเวียน

ขั้นตอนและวัฎจักรการทำไร่หมุนเวียน

1. การเลือกที่ถางไร่

ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ ชาวกะเหรี่ยงจะเริ่มต้นเลือกหาพื้นที่สำหรับถางไร่ ซึ่งหมายความว่าการผลิต และวงจรชีวิตเริ่มต้นในรอบปีใหม่มาถึงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้พื้นที่แล้ว ก็จะทำเครื่องหมายเอาไว้ โดยจะทำเครื่องหมายกากบาทไว้ที่ต้นไม้ เพื่อแสดงให้รู้เห็นกันว่า พื้นที่ตรงนี้มีเจ้าของจับจองแล้ว กระบวนการคัดเลือกพื้นที่ทำไร่มีดังนี้

* ไม่เป็นพื้นที่ป่าต้องห้ามตามประเพณี

* ไม่เป็นข้อห้ามตามประเพณีในการเลือกพื้นที่ทำไร่

* ไม่มีลางบอกเหตุ

อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ถึงเวลาลงมือฟันไร่ ก่อนลงมือฟันไร่หัวหน้าครอบครัวจะอธิฐานภาวนามีใจความว่า "ผีเอ๋ยจงออกไป เทพยดาเอ๋ยจงออกไป ปัญหาอุปสรรค์เอ๋ยจงออกไปจากพื้นที่นี้ เพราะข้าจะฟันไร่และทำมาหากินที่นี่ เกรงว่าเจ้าจะไม่มีที่อยู่อาศัย ต้นไม้ตายให้แตกหน่อ ไม้ไผ่ตายให้แตกหน่อ เพราะนี่คือถิ่นที่บรรพบุรุษเคยทำมาหากินมาก่อน" จากนั้นจะลงมือฟันไร่สักหน่อยหนึ่งแล้วก็กลับบ้าน

2. การปลูกข้าวไร่

การทำมาหากินของชาวกะเหรี่ยงตามประเพณีจะมีการลงแขก เมื่อถึงเวลาหว่านข้าวก็จะไปช่วยกันให้เสร็จทีละครอบครัว การลงมือหว่านข้าวเจ้า ของไร่จะเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกแม่ข้าว โดยชายหนุ่มจะปักหลุมและหญิงสาวจะหยอดข้าว ชายหนุ่มผู้ซึ่งปักหลุมจะไม่สามารถหยอดข้าวได้เลย ในตลอดวันนั้น และหญิงสาวผู้ซึ่งหยอดข้าวจะไม่สามารถปักหลุมได้ เมื่อเสร็จแล้วหากยังมีเชื้อข้าวเหลืออยู่ในมือของผู้หยอดข้าว เจ้าของไร่จะบอกกับพวกเขา ให้เก็บรวมกันไว้ในกระชุ หญิงสาวผู้หยอดข้าวแรกจะหยิบมาหน่อยหนึ่ง แล้วหยอดเป็นหลุมสุดท้าย จากนั้นก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน