วัฒนธรรมประเพณี

วัฒนธรรมประเพณี

ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นประเพณีชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีการจัดกรรมประเพณีของชนเผ่า ที่มีการผูกพันกับผีและวิญญาณ ซึ่ง ๑ ปี จะมีการเลี้ยงผีปีละ ๒ ครั้ง คือในเดือน ๕ เป็นการเลี้ยงผีโดยใช้เหล้าและไก่ เป็นเครื่องบูชา และในเดือน ๑๐ นั้นจะเป็นการจัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ สาดน้ำ ( ปีใหม่กะเหรี่ยง ) ของคนในหมู่บ้าน มีการทำขนมตองกง ต้มไก่เลี้ยงผู้ที่มีเที่ยวในหมู่บ้าน ซึ่งจะมีการเล่นน้ำ ประกอบพิธี รดน้ำดำหัวกัน ๒ วัน ในวันที่ ๓ จะเป็นการปิดบ้าน ซึ่งเรียกว่า การกำบ้าน มีการปิดทางเข้าหมู่บ้านคนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า ถ้าเกิดมีคนเข้าไปในบ้านขณะกำบ้าน ผู้นั้นจะต้องเกิดการเสียผี มีการเสียไก่จำนวนเท่าตัวเท่ากับจำนวนหลังคาเรือนของชาวบ้านแต่ถ้าเป็นการเลี้ยงผีด้วยหมูก็จะเป็นการเสียหมู๑ ตัว การทำพิธีเลี้ยงผีจะจัดทำกันที่โฮงผี ( ศาลาประกอบการ )

วัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยง แสดงออกถึงวัฒนธรรมของตนเองคือ วัฒนธรรมการแต่งกายของทั้งชายและหญิงจะจำแนกได้โดย

ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะมีการสวมเสื้อผ้าทอประดับด้วยลูกเดือยหรือเล่นเส้นด้ายหลากสี ส่วนผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน หญิงสาวจะมีการใส่ชุดผ้าทอเหมือนกันแต่เป็นสีขาว ยาวกรอมเท้า เรียกว่า สุ่มล่อง ผู้ชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมีการสวนเสื้อที่ทอเป็นเสื้อแต่การสวมใส่นั้นจะใส่เสื้อหรือกางเกงก็ได้ แล้วแต่การใช้ในประเพณีเทศกาลให้เหมาะสม

ศาสนา ความเชื่อและการเคารพนับถือ ชาวบ้านโป่ง นับถือศาสนาพุทธ และมีความเชื่อในผีและจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ ซึ่งการแสดงออกถึงการนับถือผีนั้น คือ การรักษา บำบัดการเจ็บไข้นั้นจะมีการบนบานและมีการเลี้ยงผีถ้าอาการการเจ็บป่วยหายและมีการทำบุญโดยการตักบาตร การถือศีลตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งในการไปวัดหรือการทำบุญนั้น เนื่องจากที่บ้านโป่งไม่มีวัด จึงได้มีการจัดกิจกรรมการทำบุญต่าง ๆ โดยการนิมนต์พระมาที่หมู่บ้านให้ชาวบ้านได้ทำบุญอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และวัดที่ชาวบ้านนิยมไปเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านเช่นวัดไชยสิทธิ แม่ป้าก วัดสัมฤทธิบุญ และรวมไปถึงวัดที่อยู่ในเขตอำเภอวังชิ้นที่มีชื่อด้วย เป็นต้น

พิธีปีใหม่ชนเผ่ากะเหรี่ยงประมาณปลายเดือนมิถุนายน และต้นเดือนกรกฏาคม ( เดือนสิบเหนือ และเดือนแปดใต้ ) ข้างขึ้นตั้งแต่ ขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๕ ค่ำ ครั้งที่ ๒ กำหนดเดือน ๕ เหนือ ประมาณปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ ข้างขึ้น ๑ - ๕ ค่ำ หมายเหตุ ห้ามตรงกับ วันพุธ กำหนดการในการจัดกิจกรรมพิธีในวันปีใหม่ชนเผ่ากะเหรี่ยง

๑. เรียกประชุมชาวบ้านในหมู่บ้านเพื่อตระเตรียมความพร้อมในงานจัดวันปีใหม่ของชนเผ่า ขึ้น ๑ ค่ำเดือนสิบเหนือ

๒. ห่อข้าวต้มมัด ขนมตองก๋ง จับไก่ เตรียมเครื่องเซ่น ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนสิบเหนือ

๓. ผูกข้อมือ หรือมัดมือ เรียกขวัญ เที่ยวปีใหม่กันตลอดทั้งวัน สนุกสนานกันจนสว่าง

เวลา ๑๒.๐๐ น. ของวันปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยง ( ตอนเที่ยงวันของวันมัดมือ ) จะมีพิธีกรรมสำคัญคือ การนำเครื่องเซ่นไก่ตัวผู้ และตีนไก่ตัวผู้ นำมารวมกันที่บ้านประธานพิธีกรรม ( เก๊าผี ) หรือตัวแทนผู้นำชาวกะเหรี่ยงในอดีตคือ ฟู่ ปิ่ง กุ ก่อ ในวันขึ้น ๓ ค่ำเดือนสิบเหนือ

ปีใหม่ชนเผ่ากะเหรี่ยง ผูกข้อมือ หรือมัดมือ จะมีเดือนเก้าเหนือ อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ มีอยู่สามหมู่บ้านคือ

๑. บ้านโป่ง หมู่ที่ ๑ ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ หมู่บ้านนี้จะมีฆ้องกบ ปัจจุบันหาดูยากมาก และชาวบ้านจะมีพิธีการดำหัวฆ้องกบทุก ๆ ปี ในพิธีผูกข้อมือ

๒. บ้านค้างใจ หมู่ที่ ๒ ตำบลแม่เกิ๋ง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ หมู่บ้านค้างใจจะมีฆ้องกบเหมือนบ้านโป่งจะทำพิธีเหมือนกัน

๓. บ้าน แม่แฮด หมู่ที่ ๓ ตำบลแม่พุง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่

ปีใหม่ชนเผ่ากะเหรี่ยง ผูกข้อมือ หรือมัดมือ จะมีเดือนสิบเหนือ เดือนแปดใต้ อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ คือ

๑. บ้านแช่ฟ้า ๒. บ้านนาฮ้าง ๓. บ้านแม่สิน ๔. บ้านสลก

๕. บ้านค้างคำแสน ๖. บ้านค้างคำปัน ๗. บ้านแม่ตื้ด ๘. บ้านแม่แฮด ๙. บ้านแม่พุงหลวง ๑๐. บ้านขุนห้วย

ปีใหม่ชนเผ่ากะเหรี่ยง ผูกข้อมือ หรือมัดมือ จะมีเดือนสิบเหนือ เดือนแปดใต้ อำเภอลอง จังหวัดแพร่คือ

๑. บ้านแม่จองไฟ ๒. บ้านค้างตะนะ ๓. บ้านแม่รัง

ภาษากะเหรี่ยงที่ใช้พูดในพิธีเกี่ยวข้องกับประเพณี อาทิเช่น

อั่งหมี่ แปลว่า กินข้าว

ซ่าง แปลว่า ไก่

ฑึ่ง แปลว่า น้ำ

เส็ง แปลว่า เหล้า

ลุงอหว่า แปลว่า ด้ายขาว

หมี่ แปลว่า ข้าว

หมี่ท่อง แปลว่า ข้าวต้มมัด