Checklist Things to do for Teacher

เมื่อสถานการณ์พาไป จำเป็นต้องเปลี่ยนการสอนในห้องเรียนไปเป็นการสอนออนไลน์ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้เรียนจะได้ความรู้ไม่ต่างจากนั่งเรียนในห้อง วันนี้เรามี Checklist ที่จะช่วยให้ผู้สอนไม่ลืมสิ่งสำคัญในการจัดการเรียนการสอน “ออนไลน์” มาฝาก

Checklist Things to do “สำหรับผู้สอน”

1. แจ้งและสื่อสารกับผู้เรียนสำหรับภาพรวมของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนอย่างชัดเจนหรือยัง?

- ทำประกาศแจ้งให้ผู้เรียนทราบถึงการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจน เมื่อการเรียนการสอนถูกปรับให้ไปอยู่บนโลกออนไลน์ รูปแบบจะเปลี่ยนไป ผู้สอนต้องแจ้งให้ทราบว่าผู้เรียนจะเข้าถึงเนื้อหาหรือการเรียนรู้ได้ด้วยวิธีใด จำเป็นต้องสอนวิธีใช้แพลทฟอร์มที่ใช้เรียนก่อนหรือไม่ หากมีความซับซ้อนเกินไป
รวมถึงแจ้งภาระงานที่ผู้เรียนต้องทำให้ชัดเจน (เพราะงานทุกชิ้นสามารถนำไปคิดเป็นคะแนนได้) หากงานตกหล่นอาจทำให้ผู้เรียนเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

2. มีไฟล์แบบฝึก หรือแบบทดสอบความเข้าใจระหว่างการเรียนให้ผู้เรียนหรือยัง ?
- ไฟล์เอกสารหรือแบบฝึกหัดจะต้องแจ้งแหล่งให้ผู้เรียนเข้าไปดาวน์โหลดหรือศึกษาอย่างชัดเจน

3. มีคำถามกระตุ้นคิดเติมเต็มการถามตอบในห้องหรือยัง?
- การเรียนออนไลน์จำเป็นต้องใช้คำถามกระตุ้นคิด เพื่อให้ผู้เรียนคิดตามในสิ่งที่ผู้สอนสอน บางคำถามที่ผู้สอนใช้อาจช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนกับผู้เรียนมากขึ้น และตอบข้อสงสัยที่ผู้เรียนข้องใจได้

4. ออกแบบการประเมินผลรูปแบบใหม่และชี้แจงผู้เรียนแล้วใช่ไหม?
- รูปแบบเดิมอาจเป็นกิจกรรมกลุ่มที่จำเป็นต้องอาศัยการนำเสนอหน้าชั้นเรียน ผู้สอนอาจปรับเปลี่ยนเป็นการนำเสนอในรูปแบบออนไลน์ และอาจมอบหมายให้ผู้เรียนติดตามการนำเสนองานของกลุ่มเพื่อน โดยการทำบันทึกการเรียนรู้
หรือ ในกรณีที่การประเมินแบบเดิมเป็นรูปแบบของการสอบ ผู้สอนควรปรับให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนออนไลน์ เริ่มต้นปรับที่วิธีการแต่ผลลัพธ์ที่ได้คือผู้เรียนเข้าใจในวัตถุประสงค์การเรียนรู้ เปลี่ยนวิธีวัดแบบใหม่โดยอาจให้ทำชิ้นงาน (กลุ่ม/เดี่ยว) หรือ ปรับรูปแบบข้อสอบให้วัดความคิดเฉพาะบุคคลของผู้เรียน เน้นการแสดงความคิดเห็นหรือเขียนอธิบายที่ทำด้วยตนเอง

5. วิเคราะห์ผู้เรียนเรื่องความพร้อมในการเรียนอีกครั้งดีไหม หลังสัปดาห์แรกของการอพยพชั้นเรียนไปออนไลน์?
- ผู้เรียนบางคนอาจมีปัญหาในการเรียน เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนที่ไม่พร้อม ผู้สอนอาจทำแบบสำรวจง่ายๆ เพื่อใช้ปรับรูปแบบการสอนในคาบต่อไปหรือสัปดาห์ถัดๆไปได้

6. ไม่ได้สั่งงานผู้เรียนเพิ่มขึ้นจนผู้เรียนเครียดใช่ไหม พอเหมาะพอควรกับการปรับเปลี่ยน?
- บางรายวิชาผู้สอนปรับการสอบเป็นภาระงานทั้งหมด อาจทำให้ลืมนึกไปว่าผู้เรียนเองมีภาระงานจากรายวิชาอื่นอยู่แล้ว อาจทำให้ผู้เรียนเกิดความเครียดเนื่องจากทำไม่ทัน ดังนั้นผู้สอนอาจเพิ่มแต่พอเหมาะให้สอดคล้องกับเนื้อหารายวิชา โดยวิเคราะห์สิ่งที่ต้องการประเมินผู้เรียนควบคู่กับภาระงานที่มอบหมาย

7. เปิดช่องทางสื่อสารให้ผู้เรียนได้ถามโต้ตอบอย่างสะดวก และกำหนดกติกาช่วงเวลาให้ชัดแล้วใช่ไหม?
- แจ้งช่องทางสื่อสาร ผู้เรียนบางคนอาจไม่กล้าถามผู้สอนในห้องแชทรวม หรืออาจต้องการช่องทางติดต่อที่สะดวกและไม่ซับซ้อนในการใช้งาน และที่สำคัญมีกติกาที่ชัดเจน ถามในช่วงเวลาที่ผู้สอนกำหนด ผู้เรียนบางคนเข้าใจว่าเรียน Online ที่บ้านจะสอบถามผู้สอนเมื่อไหร่ก็ได้ บางครั้งอาจดึกไปหรือเช้าไป บางช่วงเวลาผู้สอนอาจใช้เตรียมการสอน ดังนั้นการมีกติกาที่แจ้งให้เข้าใจตรงกันจะช่วยในส่วนนี้ได้

8. แจ้งภาระงานให้ชัดเจน พร้อมช่องทางสนทนาสอบถามข้อสงสัย ช่องทางการติดตามงานของผู้สอน รวมถึงช่องทางการส่งงาน แล้วหรือยัง?
- ผู้สอนบางรายสั่งงานผู้เรียนและไม่แจ้งให้ชัดเจนว่าส่งงานที่ใด การส่งงานควรรวบรวมให้ผู้เรียนส่งในที่เดียวกันและชัดเจน เพื่อป้องกันการตกหล่นเมื่อตรวจสอบย้อนหลัง หรือช่องทางที่ป้องกันความปลอดภัยของชิ้นงานผู้เรียน (ผู้เรียนบางคนอาจคัดลอกงานของเพื่อนที่ส่งก่อนได้) หรือช่องทางส่งงานที่ผู้สอนสามารถให้ผลตอบกลับ (Feedback) ผู้เรียนได้ทันที

ตัวอย่างการแจ้งปรับรูปแบบการเรียนการสอนแก่ผู้เรียน

รายวิชา 2765201 INNO ED TECH INFO นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา (เอื้อเฟื้อข้อมูลรายวิชาโดย รศ.ดร.ปราวีณยา สุวรรณณัฐโชติ)

ตัวอย่างการแจ้งปรับรูปแบบการเรียนการสอนแก่ผู้เรียน

รายวิชา 2765201 INNO ED TECH INFO นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา (เอื้อเฟื้อข้อมูลรายวิชาโดย รศ.ดร.ปราวีณยา สุวรรณณัฐโชติ)

และที่สำคัญที่สุด…

อย่าลืมเรื่อง “Social Distancing” (ระยะห่างทางสังคม) เนื่องในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ลดการออกนอกบ้าน งดเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น และอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว

ผู้สอนอย่าลืมแนะนำให้ผู้เรียนใช้งาน “เครื่องมือออนไลน์สำหรับทำงานร่วมกัน” เช่น G Suite , Office 365 เป็นต้น