พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวบรวมขึ้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวบรวมขึ้น
สมุดไทยด้วยอักษรไทย เส้นหรดาล
คำว่า “แพทย์” มาจากศัพท์สันสกฤต “ไวทย” แปลว่า ผู้รู้พระเวท หมายถึงผู้รู้วิชาการต่างๆ ที่ประมวลอยู่ในคัมภีร์พระเวทและผู้รู้วิชาการรักษาโรคเป็นที่นับถือยกย่องและมีบทบาทมากในสังคม ต่อมาคำว่า “ไวทย” จึงมีความหมายเจาะจงหมายถึงผู้รู้วิชาการรักษาโรค
ตำราแพทย์ของไทยที่มีมาแต่โบราณ มีร่องรอยของอิทธิพลความเชื่อ และหลักปฏิบัติต่างๆ ที่ปรากฏในตำราแพทย์ของอินเดีย เรียกว่า คัมภีร์ฉันทศาสตร์
“ฉันทศาสตร์” เป็นชื่อตำราฉบับหนึ่งเช่นเดียวกับตำราอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว พิจารณาจากบทไหว้ครูและเนื้อหาที่สอนจรรยาแพทย์ และข้อควรปฏิบัติสำหรับแพทย์ นับว่าเป็นตำราฉบับแรก ในหนังสือชุดแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์
รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมขึ้น เนื่องจากทรงเห็นว่าการแพทย์แผนโบราณและตำรายาพื้นบ้านของไทย เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่ายิ่ง น่าจะรวบรวมไว้เป็นหลักฐานแลเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป
จึงโปรดฯ ให้ประชุมคณะแพทย์หลวง เพื่อสืบค้นและรวบรวมตำราแพทย์จากที่ต่างๆ มาตรวจสอบชำระให้ตรงกับฉบับดั้งเดิม แล้วส่งมอบให้กรมพระอาลักษณ์เขียนลงสมุดไทยด้วยอักษรไทย เส้นหรดาล (สีเหลือง) และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเป็นสมบัติของแผ่นดินสืบมา
เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนราชแพทยาลัยขึ้น ก็ได้โปรดฯ ให้จัดพิมพ์ตำราแพทย์หลวงสำหรับโรงเรียนใช้ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” โดยแบ่งพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ แต่พิมพ์ได้ ๓ เล่ม ก็ต้องเลิกเพราะขาดทุนรอนในการจัดพิมพ์
ต่อมาผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนราชแพทยาลัยได้ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนเวชสโมสรขึ้น และก็ได้จัดพิมพ์ตำราแพทย์ศาสตร์ขึ้นอีกเป็นวารสารรายเดือน โดยใช้ชื่อว่า “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” เนื้อหาของตำราชุดนี้เป็นวิธีการรักษาตามตำราแพทย์แผนฝรั่ง ส่วนที่หายาฝรั่งไม่ได้ก็จะใช้ยาไทยแทน แต่ก็ออกมาได้ ๔ ฉบับ ก็ต้องเลิกไปเพราปัญหาเรื่องทุนอีกเช่นกัน
แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เป็นฉบับสมบูรณ์เมื่อพระยาพิศณุประสาทเวช(คง ถาวรเวช) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยของราชแพทยาลัยและผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสรได้ริเริ่มจัดพิมพ์ด้วยจุดประสงค์ ๓ ประการ
๑. ราษฎรที่ป่วยไข้ต้องหาวิธีรักษาตนเองจึงควรจะมีการรวบรวมตำราที่กระจัดกระจายกันอยู่นั้นให้เป็นเล่มเดียว ราษฎรจะได้คัดลอกไว้เป็นคู่มือได้
๒. ตำราหลวงก็จะใช้กันในเฉพาะแพทย์หลวง ราษฎรสามัญไม่มีสิทธิ์ใช้
๓. ต้องการจะอนุรักษ์ตำราแพทย์แผนไทยไว้ให้คนรุ่นหลัง
หนังสือแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง รวบรวมและพิมพ์โดยพระยาพิศณุประสาทเวช โดยได้รับพระอนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประกอบด้วยองค์ความรู้ด้านแพทย์ภูมิปัญญาตะวันออกและภูมิปัญญาไทยด้านเวชกรรมและเภสัชกรรม อีกทั้งยังแฝงไปด้วยปรัชญาที่ทรงคุณค่า รวมถึงวิธีคิด ความเชื่อ พิธีกรรมและวิธีรักษาแบบโบราณ
และในนปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี เจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษา รัฐบาลจึงได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติเพื่อถวายเป็นราชสักการะ และได้จัดพิมพ์หนังสือที่เป็นที่ระลึกในนามของรัฐบาล แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ เป็นหนึ่งในหนังสือเหล่านั้น ซึ่งแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติฉบับเฉลิมพระเกียรตินี้ ได้นำต้นฉบับแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ของพระยาพิศณุประสาทเวช เล่มที่ ๒ พิมพ์ครั้งที่ ๒ ร.ศ.๑๒๘ และเล่มที่ ๒ พิมพ์ครั้งที่ ๑ ร.ศ.๑๒๖ โดยจัดพิมพ์ใหม่ โดยจัดทำอธิบายส่วนๆต่างเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เหมาะสมแก่ยุคสมัยและเผยแพร่ความรู้แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พระยาพิศณุประสาทเวช (คง ถาวรเวช) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ หรือที่เรียกกันว่า “หมอคง” เคยเป็นศิษย์ของพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง (หนู วรกิจพิศาล) หมอคงเป็นหมอที่มีชื่อเสียงและเป็นหมอประจำโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่แรกก่อตั้ง เมื่อกิจการโรงพยาบาลศิริราชได้รับความนิยามมากขึ้น กรมพยาบาลจึงจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นมาตรงหน้าวังบูรพาภิรมย์ เป็นโรงพยาบาลสามัญ เรียกว่า “โรงพยาบาลบูรพา” หมอคงจึงย้ายไปประจำอยู่ที่นั่น ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนประสารเวชสิทธ์” ทำหน้าที่เป็นหมอหลวง หมอประจำโรงพยาบาล และเป็นหมอเชลยศักดิ์[1] รักษาคนไข้ทั่วไป และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิศณุประสาทเวช”
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ เกิดโรคระบาดตามหัวเมืองลพบุรีและหัวเมืองนครราชสีมา พระยาพิศณุประสาทเวชได้รับความไว้วางใจจากรัชกาลที่ ๕ ให้ไปรักษาและระงับโรคระบาดเหล่านั้น ทำให้พระยาพิศณุประสาทเวชคิดรวบรวมคัมภีร์แพทย์พื้นบ้านมารวบรวมให้เป็นฉบับที่สมบูรณ์ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพให้รวบรวมเป็นหนังสือ “คัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์”
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ตอนเปิดเรื่องใช้กาพย์ยานี ๑๑ ตอนที่อธิบายลักษณะของทับ ๘ ประการใช้คำประพันธ์แบบร่าย
แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ตอนคัมภีร์ฉันทศาสตร์ เปิดเรื่องด้วยบทไหว้ครู ซึ่งมีการไหว้พระรัตนตรัย ไหว้เทพเจ้าของพราหมณ์ ได้แก่ พระอิศวร พระพรหม ไหว้หมอชีวกโกมารภัจและไหว้ครูแพทย์โดยทั่วไป จากนั้นกล่าวถึงคัมภีร์ฉันทศาสตร์ที่ครูเคยสั่งสอน เปรียบเสมือนแสงสว่างแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง รวมถึงสิ่งที่แพทย์ควรมีและสิ่งที่ไม่ควรกระทำ โดยทั่วไปจะมีความประมาท ความอวดดี ความริษยา ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความหลงตัว และความไม่เสมอภาคในการรักษาคนรวยและคนจน
อีกจะกล่าวเปรียบเทียบร่างกายเหมือนกับบ้านเมือง (กายนคร) โดยให้ความสำคัญกับดวงจิต ด้วยการเปรียบดวงจิตเป็นกษัตริย์ และเปรียบโรคภัยเป็นข้าศึก เปรียบแพทย์เป็นทหารที่มีความชำนาญ คอยดูแลปกป้องรักษาไม่ให้ร่างกายมีโรคภัย อีกทั้งดวงใจก็พยายามอย่าโกรธเพื่อไม่ให้โรคภัยคุกคามเร็วเกินไป ความรู้ความเชี่ยวชาญในการรักษาบำบัดรักษาโรค มีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อใดเกิดอาการเจ็บป่วย แพทย์ต้องรักษาโรคให้ทันท่วงที และรักษาให้ถูกโรค เนื่องจากอาการเจ็บป่วยอาจลุกลามจนรักษาไม่หายและควรรอบรู้ในการรักษาทั้งคัมภีร์พุทธไสย์อย่างรอบด้าน เพื่อให้สามารถวินิจฉัยและถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่นได้
อนึ่งจะกล่าวสอน กายนครมีมากหลาย
ประเทียบเปรียบในกาย ทุกหญิงชายในโลกา
อีกอย่างจะสอนว่า “กายนคร” มีอยู่มากเปรียบได้กับในร่างกายของหญิงชายทุกคนในโลก
ดวงจิตคือกระษัตริย์ ผ่านสมบัติอันโอฬาร์
ข้าศึกคือโรคา เกิดเข่นฆ่าในกายเรา
หัวใจเปรียบได้กับกษัตริย์ผู้ครอบครองสมบัติอันยิ่งใหญ่(ร่างกาย)ข้าศึกเปรียบได้กับโรคที่เกิดมาทำลายภายในร่างกายเรา
เปรียบแพทย์คือทหาร อันชำนาญรู้ลำเนา
ข้าศึกมาอย่าใจเบา ห้อมล้อมรอบทุกทิศา
แพทย์เปรียบได้กับทหาร ที่มีความชำนาญรู้เรื่องที่อยู่ (ร่างกาย) เมื่อโรคเกิด ตรวจ หยุด การแผ่ลามไว้ทุกแห่ง
ให้ดำรงกระษัตริย์ไว้ คือดวงใจให้เร่งยา
อนึ่งห้ามอย่าโกรธา ข้าศึกมาจะอันตราย
ให้รักษากษัตริย์ไว้คือหัวใจรีบให้ยา อีกอย่างห้ามแพทย์มีความไม่พอใจความโกรธ โรคเกิดขึ้นอาจทำให้คนไข้ถึงแก่ความตาย
ปิตตํ คือ วังหน้า เร่งรักษาเขม้นหมาย
อาหารอยู่ในกาย คือเสบียงเลี้ยงโยธา
น้ำดีในตับมีหน้าที่ย่อยอาหารเปรียบเหมือนวังหน้า รีบตั้งใจรักษาให้ดีเพราะอาหารที่อยู่ในร่างกายเปรียบเหมือนเสบียงเลี้ยงกองทหาร (เลือด, เซลล์ ฯลฯ)
หนทางทั้งสามแห่ง เร่งจัดแจงอยู่รักษา
ห้ามอย่าให้ข้าศึกมา ปิดทางได้จะเสียที
ทางทั้งสาม หัวใจ น้ำดี อาหาร จัดเตรียมรักษา อย่าให้เชื้อโรคเข้ามาทำให้ทำงานไม่สะดวกจะพลาดโอกาสรักษา
อนึ่งเล่ามีคำโจทก์ กล่าวยกโทษแพทย์อันมี
ปรีชารู้คัมภีร์ เหตุฉันใดแก้มิฟัง
อีกอย่างมีค่ากล่าวหาแพทย์ที่มีความสามารถจากการเรียนรู้ ทำไมพูดแก้ความเข้าใจผิดก็ไม่ฟังกัน
คำเฉลยแก้ปุจฉา รู้รักษาก็จริงจัง
ด้วยโรคเหลือกำลัง จึ่งมิฟังในการยา
ถามมาก็ตอบว่ารู้เรื่องการรักษาได้เป็นเรื่องจริงเพราะว่าโรคร้ายแรงเกินความสามารถจึงดื้อยารักษาไม่หาย
เมื่ออ่อนรักษาได้ แก่แล้วไซร้ยากหนักหนา
ไข้นั้นอุปมา เหมือนเพลิงป่าไหม้ลุกลาม
เมื่อเป็นน้อยรักษาหายได้ เป็นมาก รักษาหายยากมากไข้ที่หนักแล้วนั้น เปรียบเหมือนไฟป่าที่ลุกลามได้รวดเร็วและกว้าง
เป็นแพทย์พึงสำคัญ โอกาสนั้นมีอยู่สาม
เคราะห์ร้ายขัดโชคนาม บางทีรู้เกินรู้ไป
เป็นแพทย์ควรกำหนดจดจำว่า โอกาสที่ได้รักษาคนไข้มีอยู่ ๓ อย่าง ที่ทำให้ไม่ดีเสียชื่อเสียง ๑.บางทีรู้วิธีรักษาแต่มีสิ่งนำผลร้ายมาทำให้โรคที่เกิดเกินความรู้โรคที่มี
บางทีรู้มิทัน ด้วยโรคนั้นใช่วิสัย
ตน บ รู้ทิฏฐิใจ ถือว่ารู้ขืนกระทำ
๒.บางทีโรคนั้นไม่เคยรู้ เพราะโรคนั้นตนไม่มีความสามารถรักษา ๓. ไม่รู้แต่อวดว่าตนรู้ฝืนรักษาไข้ไป
จบเรื่องที่ตนรู้ โรคนั้นสู้ว่าแรงกรรม
ไม่สิ้นสงสัยทำ สุดมือม้วยน่าเสียดาย
เรื่องที่ควรรู้ได้เสนอไปแล้ว บางโรครักษาไม่หายก็อ้างว่าเป็นเพราะกรรม ทำให้รักษาไม่หายคนไข้ตายก็รู้สึกเสียใจ
บางทีก็มีชัย แต่ยาให้โรคนั้นหาย
ท่านกล่าวอภิปราย ว่าชอบโรคนั้นเป็นดี
บางทีก็โรคหาย แต่โรคหายเพราะยาก็พูดกล่าวอ้างว่า รู้จักรักษาโรคนั้นเป็นอย่างดี
ผู้ใดจะเรียนรู้ พิเคราะห์ดูผู้อาจารย์
เที่ยงแท้ว่าพิสดาร ทั้งพุทธไสยจึ่งควรเรียน
คนใดต้องการจะเรียนรู้ ต้องพิจารณาคนที่เป็นครูว่ามีความรู้จริง รู้ละเอียด จึงสมควรจะไปเรียนด้วย
แต่สักเป็นแพทย์ได้ คัมภีร์ไสยไม่จำเนียร
ครูนั้นไม่ควรเรียน จะนำตนให้หลงทาง
เพียงแต่เป็นแพทย์ได้ ตำราความรู้ทางคาถาเวทมนตร์ไม่รู้ ครูคนนั้นไม่ควรเรียนด้วย จะนำให้ผู้เรียนเข้าใจผิดพลาดได้
เราแจ้งคัมภีร์ฉัน ทศาสตร์อันบุราณปาง
ก่อนกล่าวไว้เป็นทาง นิพพานสุศิวาไลย
เราทราบว่าตำราฉันทศาสตร์เป็นตำราที่มีมาแต่โบราณ เริ่มต้นได้บอกไว้เป็นแนวทางไปสู่การนิพพานดินแดนอันเกษมสุข
อย่าหมิ่นว่ารู้ง่าย ตำรับรายอยู่ถมไป
รีบด่วนประมาทใจ ดังนั้นแท้มิเป็นการ
อย่าดูหมิ่นว่าเรียนรู้ได้ง่าย ตำรามีวางเรียงอยู่มากมาย รีบคิดอย่างนี้เป็นคนประมาท จริงๆ แล้วไม่มีความสามารถอะไร
ลอกได้แต่ตำรา เที่ยวรักษาโดยโวหาร
อวดรู้ว่าชำนาญ จะแก้ไขให้พลันหาย
คัดลอกได้แต่ตัวหนังสือ ออกไปรักษาโดยจำแต่ตำราไปพูดแสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่ามีความรู้ ความชำนาญ จะรักษาโรคให้หายได้ทันที
โรคคือครุกรรม บรรจบจำอย่าพึงทาย
กล่าวเล่ห์อุบายหมาย ด้วยโลภหลงในลาภา
อย่าพูดจากการคาดคะเนว่าโรคที่เป็นคือกรรมหนักที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันพูดหลอกลวงเพราะความต้องการสิ่งของ
บ้างจำแต่เพศไข้ สิ่งเดียวได้สังเกตมา
กองเลือดว่าเสมหา กองวาตาว่ากำเดา
หมอบางคนจำอาการไข้ที่แสดงให้เห็นเพียงอย่างเดียวที่ได้สังเกตมากองเลือดบอกว่าเป็นเสมหะ ลมที่ออกมามากบอกว่าเป็นความร้อนในตัว
คัมภีร์กล่าวไว้หมด ไยมิจดมิจำเอา
ทายโรคแต่โดยเดา ให้เชื่อถือในอาตมา
ตำราบอกไว้ทุกเรื่อง ทำไมไม่จดไม่จำเอาไว้ บอกว่าเป็นโรคอะไรจากการคิดเอาเองไม่มีเหตุผล ให้คนนับถือตนเอง
รู้น้อยอย่าบังอาจ หมิ่นประมาทในโรคา
แรงโรคว่าแรงยา มิควรถือว่าแรงกรรม
มีความรู้น้อยอย่ารักษา ขาดความรอบคอบเกี่ยวกับโรคความรุนแรงของโรคต้องใช้ยาที่ดี ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องกรรมหนัก
อนึ่งท่านได้กล่าวถาม อย่ากล่าวความบังอาจอำ
เภอใจว่าตนจำ เพศไข้นี้อันเคยยา
อีกอย่างคนไข้พูดถาม อย่าพูดข้อความเพราะหลงตัวเองไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น พูดว่าตนจำไข้ลักษณะนี้ได้เพราะเคยให้ยา
ใช่โรคสิ่งเดียวดาย จะพลันหายในโรคา
ต่างเนื้อก็ต่างยา จะชอบโรคอันแปรปรวน
ไม่ใช่โรคจะมีชนิดเดียวที่จะทำให้หายจากโรคทันที ลักษณะประจำตัวต่างกันก็ให้ยาต่างกันจึงจะถูกกับโรคที่เปลี่ยนไปจากลักษณะเดิม
บางทีก็ยาชอบ แต่เคราะห์ครอบจึ่งหันหวน
หายคลายแล้วทบทวน จะโทษยาก็ผิดที
บางทีก็ให้ยาถูกกับโรค แต่มีสิ่งร้ายเกิดขึ้น โรคจึงเป็นขึ้นอีก หายทุเลาลงไปแล้วเกิดเป็นกลับขึ้นใหม่ จะว่ายาไม่ดีก็ไม่ถูกต้อง
อวดยาครั้นให้ยา เห็นโรคาไม่ถอยหนี
กลับกล่าวว่าแรงผี ที่แท้ทำไม่รู้ทำ
แสดงสรรพคุณยาเมื่อให้ยานั้นรักษา โรคยังไม่หาย กลับพูดว่าผีร้ายแรงกว่า จริงๆ แล้วทำไปเพราะไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร
เห็นลาภจะใคร่ได้ นิยมใจไม่เกรงกรรม
รู้น้อยบังอาจทำ โรคระยำเพราะแรงยา
เห็นสิ่งของอยากจะได้ ชอบใจก็ไม่เกรงกลัวทำความชั่ว รู้น้อยแต่กล้าทำเพราะหลงตัว โรคหนักขึ้นเพราะผลของยา
โรคนั้นคือโทโส จะภิยโยเร่งวัฒนา
แพทย์เร่งกระหน่ำยา ก็ยิ่งยับระยำเยิน
โรคนั้นเปรียบกับความฉุนเฉียว จะเป็นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แพทย์เร่งให้ยาซ้ำเข้าไป ก็ยิ่งร้ายแรงหนักขึ้น
รู้แล้วอย่าอวดรู้ พินิจดูอย่าหมิ่นเมิน
ควรยาหรือยาเกิน กว่าโรคนั้นจึ่งกลับกลาย
มีความรู้อย่าแสดงความรู้ ควรพิจารณาอย่าประมาท ควรให้ยาแค่ไหนหรือให้ยาแรงกว่า โรคจึงเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
ถนอมทำแต่พอควร อย่าโดยด่วนเอาพลันหาย
ผิโรคนั้นกลับกลาย จะเสียท่าด้วยผิดที
ระมัดระวังทำพอควร อย่ารีบร้อนทำให้โรคหายทันที อาการที่ดีอยู่อาจทรุดลงได้หากโรคที่รักษานั้นเป็นโรคอื่น จะพลาดผิดเพราะทำผิดพลาด
บ้างได้แต่ยาผาย บรรจุถ่ายจนถึงดี
เห็นโทษเข้าเป็นตรี จึ่งออกตัวด้วยตกใจ
บ้างรู้แต่เรื่องยาระบาย ให้ยาไปถ่ายจนถึงขั้นน้ำดีผิดปกติ เห็นคนไข้ใกล้ตาย จึงรีบแก้ตัวเพราะตกใจ
บ้างรู้แต่ยากวาด เที่ยวอวดอาจไม่เกรงภัย
โรคน้อยให้หนักไป ดังก่อกรรมให้ติดกาย
บ้างมีความรู้เฉพาะยากวาด อวดอ้างความสามารถไปทั่วไม่กลัวอันตราย
โรคไม่หนักทำให้เป็นหนักขึ้นเหมือนก่อให้เกิดผลร้ายติดตัว
๑. รูปแบบการแต่งคัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์ เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้จากตำราอื่น ๆ เกี่ยวกับแพทยศาสตร์ ซึ่งผู้แต่งเลือกใช้คำประพันธ์ประเภท กาพย์ยานี ๑๑ เริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู และจรรยาบรรณของแพทย์ กับข้อควรปฏิบัติ ส่วนเนื้อหาที่ใช้ศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ว่าด้วยเรื่องลักษณะทับ ๘ ประการ ผู้แต่งใช้คำประพันธ์ประเภทร่ายให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคของแพทย์แผนไทย
๒. สาระสำคัญของเรื่อง คือ ความสำคัญของแพทย์และคุณสมบัติที่แพทย์พึงมี ซึ่งจะช่วยรักษาโรคได้ผลมากกว่ารู้เรื่องนาอย่างเดียว
๓. โครงเรื่อง มีการลำดับความเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู เป็นการไหว้พระรัตนตรัย ไหว้เทพเจ้าของพราหมณ์ ไหว้หมอชีวกโกมารภัจ และไหว้ครูแพทย์โดยทั่วไป ต่อด้วยความสำคัญของแพทย์ จรรยาบรรณแพทย์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่แพทย์พึงมี และตอนท้ายกล่าวถึงทับ ๘ ประการ คือ อาการของโรคชนิดหนึ่งที่แทรกซ้อนกับโรคอื่น
๔. กลวิธีการแต่ง เนื้อหาจัดเป็นตำราเฉพาะด้าน เน้นการอธิบายเป็นส่วนใหญ่ จึงใช้อุปมาโวหารเปรียบเทียบ เช่น
จะกล่าวถึงคัมภีร์ฉัน ทศาสตร์บรรพ์ที่ครูสอน
เสมอดวงทินกร แลดวงจันทร์กระจ่างตา
๑.การสรรคำ
๑.๑ การใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมแก่เนื้อเรื่อง ทำให้เข้าใจความหมายตรงไปตรงมา เช่น
บางหมอก็กล่าวคำ มุสาซ้ำกระหน่ำความ
ยกตนว่าตนงาม ประเสริฐยิ่งในการรักษา
บางหมอก็เกียจกัน ที่พวกอันแพทย์รักษา
บ้างกล่าวเป็นมารยา เขาเจ็บน้อยว่ามากครัน
บ้างกล่าวอุบายให้ แก่คนไข้นั้นหลายพัน
หวังลาภจะเกิดพลัน ด้วยเชื่อถ้อยอาตมา
๑.๒ การใช้สำนวนไทย ช่วยอธิบายให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น
เรียนรู้คัมภีร์ไสย สุขุมไว้อย่าแพร่งพราย
ควรกล่าวจึ่งขยาย อย่ายื่นแก้วให้วานร
๒. การใช้โวหาร ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายและเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
๑. อุปมา เช่น
เมื่ออ่อนรักษาได้ แก่แล้วไซร้ยากหนักหนา
ไข้นั้นอุปมา เหมือนเพลิงป่าไม้ลุกลาม
๒. อุปลักษณ์ เช่น
ดวงจิตคือกระษัตริย์ ผ่านสมบัติอันโอฬาร์
อนึ่งห้ามโกรธา ข้าศึกมาจะอันตราย
๑. สะท้อนให้เห็นความเชื่อของสังคมไทย ฉันทศาสตร์มีความหมายว่า ตำรา (ศาสตร์) ที่แต่งเป็นสูตร (ฉันท์) ตามอย่างตำราการแพทย์ในคัมภีร์อาถรรพ์เวท ตำราอาถรรพ์เวท เป็นพระเวทหนึ่งในศาสนาพราหมณ์ จึงมีเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ด้วย จึงมักพบคำว่า “คัมภีร์ไสย์”ปรากฏอยู่ในคำประพันธ์ ดังตัวอย่าง
เรียนรู้ให้ชัดเจน จบจังหวัดคัมภีร์ไสย์
ตั้งต้นปฐมใน ฉันทศาสตร์ดังพรรณนา
แต่ในคัมภีร์ฉันศาสตร์ มีการประสานความเชื่อความคิดต่างๆ ทางสังคมและทางพระพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน เนื้อหาจึงปรากฏคำบาลีแสดงให้เห็นตลอด ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา เช่น มิจฉา (ความผิด) พิริยะ (ความเพียร) วิจิกิจจา (ความลังเล) อุทธัจ(ความฟุ้งซ่าน) วิหิงษา (เบียดเบียน) อโนตัปปัง (ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป) อธิกรณ์ (โทษ)
๒. สะท้อนให้เห็นคุณค่าเรื่องแพทย์แผนไทย ถ้าพิจารณาในส่วนที่กล่าวถึงทับ ๘ ประการ จะเป็นได้ว่าแพทย์แผนไทยเป็นวิธีการรักษาโรคอีกวิธีหนึ่ง เป็นแพทย์ทางเลือกที่มีความจำเป็นในการรักษาโรค เราจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไม่ได้ เพราะเวชกรรมแผนโบราณเป็นที่ยอมรับเชื่อถือมาช้านาน ก่อนที่จะรับเอาวิทยาการแพทย์แผนใหม่มาจากชาติตะวันตกมาใช้ ซึ่งปัจจุบันการค้นคว้าวิจัยทางแพทย์ จะกลับมาให้ความสนใจในการรักษาด้วยยาสมุนไพรตามแบบโบราณ โดยถือว่าเป็นทางเลือกทางหนึ่งในการรักษาโรคในปัจจุบัน
๓. ให้ข้อคิดสำหรับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถนำข้อคิดที่ได้จากการศึกษาคัมภีร์ฉันทศาสตร์ไปใช้ได้ทุกสาขาอาชีพ เพราะไม่ว่าจะเป็นบุคคลในอาชีพใด ถ้าไม่มีความประมาท ความอวดดี ความริษยา ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความหลงตัวเอง และการมีศีลธรรมประจำใจ ย่อมได้รับการยกย่องจากบุคคลต่างๆ
โดยเฉพาะในวิชาชีพแพทย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิตคน ต้องเป็นผู้ที่รอบรู้จริง ตั้งแต่การวินิจฉัยสมติฐานโรค การใช้ยา และความรับผิดชอบต่อผู้ป่วย ให้ปฏิบัติด้วยความรอบคอบไม่ประมาท โดยมีคำสอนในทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการชี้นำ
๔. ให้ความรู้เรื่องศัพท์ทางการแพทย์แผนโบราณ เช่น คำว่า “ธาตุพิการ”ธาตุทั้งสี่ (ดิน น้ำ ลม และไฟ) ในร่างกายไม่ปกติ ทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นตามกองธาตุเหล่านั้น คำว่า “กำเดา” หมายถึงอาการไข้อย่างหนึ่งเกิดจากหวัดเรียกว่า “ไข้กำเดา” อาการของโรคจะมีเลือดไหลออกทางจมูก เรียกว่าเลือดกำเดา คำว่า “ปวดมวน” หมายถึงการปั่นป่วนในท้อง
จะเห็นได้ว่า ข้อบกพร่องของแพทย์มีทั้งแง่ของความประมาท ความอวดดี ความริษยา ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความหลงตัวเอง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากบรรดาแพทย์ที่เล็งเห็นข้อบกพร่องต่างๆ เหล่านี้ย่อมช่วยให้คนไทยหายไข้ได้เร็วขึ้น ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และที่สำคัญคือคนจนได้รับความสนใจจากแพทย์ ส่วนของแพทย์ด้วยกันนั้น มีการเตือนสติไม่ให้แพทย์สูงอายุหลงตัวเองจนลืมไปว่าคนหนุ่มก็มีความสามารถเหมือนกัน คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทยศาสตร์สงเคราะห์ถือได้ว่าเป็นทั้งหนังสือที่ให้ความรู้แห่งภูมิปัญญาที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
๑. ภาสกร เกิดอ่อน และคณะ. หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานภาษาไทย วรรณคดีและวรรณกรรม ม.๕ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ , อักษรเจริญทัศน์ : กรุงเทพฯ.
๒. https://kumpeechantasad.blogspot.com/2019/02/blog-post.html
๓. https://sites.google.com/site/aphichitsuthawa/khamphir-chanth-sastr-phaethysastr-sngkheraah