lan

ระบบเครือข่ายท้องถิ่น (LAN)

ระบบเครือข่ายแบบ LAN หรือระบบเครือข่ายเฉพาะบริเวณ โดยปกติแล้วจะเป็นระบบเครือข่ายส่วนตัว (Private Network) นั่นคือองค์กรที่ต้องการใช้งานเครือข่าย ทำการสร้าง เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันเป็นระบบเครือข่ายในระยะใกล้ ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรและธุรกิจต่างๆ มากมาย เช่น 

       - สามารถแบ่งเบาการประมวลผลไปยังเครื่องต่างๆ เฉลี่ยกันไป 

       - สามารถแบ่งกันใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องพิมพ์ ซีดีรอมไดร์ฟ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นต้น 

       - สามารถแบ่งกันใช้งานซอฟต์แวร์และข้อมูลหรือสารสนเทศต่างๆ รวมทั้งทำให้สามารถจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้เพียงที่เดียว

       - สามารถวางแผนหรือทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้ แม้จะไม่ได้อยู่ใกล้กันก็ตาม 

       - สามารถใช้ในการติดต่อกัน เช่น ส่งจดหมายทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการส่งเสียงหรือภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 

       - ช่วยลดค่าใช้จ่ายโดยรวมขององค์กร 

ชนิดการเชื่อมต่อของเครือข่าย LAN

การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายเฉพาะบริเวณ (LAN) นั้น จุดประสงค์หลักอย่างหนึ่งก็คือการแบ่งกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ โดยทรัพยากรเหล่านั้นอาจเป็นหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ความเร็วสูง ฮาร์ดดิสก์ เครื่องพิมพ์ หรือแม้แต่อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะเชื่อมอยู่กับคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่ง

วิธีการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อจัดสรรการใช้งานทรัพยากรในระบบเครือข่ายสามารถจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

 เครือข่ายแบบ Peer-to-Peer

 เครือข่ายแบบ Client/Server

 เครือข่ายแบบ Peer-to-Peer

 เครือข่ายแบบนี้จะเก็บไฟล์และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้แต่ละคน โดยไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนกลางที่ทำหน้าที่นี้ เรียกได้ว่าต่างคนต่างเก็บ ต่างคนต่างใช้ แต่ผู้ใช้ในเครือข่ายสามารถเรียกใช้ไฟล์จากคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้ ถ้าคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นทำการแชร์ไฟล์เหล่านั้นไว้ เครือข่ายแบบ Peer-to-Peer นี้เหมาะสำหรับองค์กรขนาดเล็กที่มีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกันไม่เกิน 10 เครื่อง เนื่องจากติดตั้งง่าย ราคาไม่แพง และการดูแลไม่ยุ่งยากนัก แต่ถ้าคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายมีมากกว่า 10 เครื่องขึ้นไปควรจะใช้เครือข่ายแบบอื่นดีกว่า

ทรัพยากร

ทรัพยากรของเครือข่าย เช่น เครื่องพิมพ์ หรือแฟกซ์โมเด็ม ปกติจะเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งในเครือข่าย สำหรับเครื่องที่ไม่มีทรัพยากรเหล่านี้ก็สามารถเข้าใช้ทรัพยากรเหล่านี้ผ่านเครือข่ายได้

โปรแกรมใช้งาน

โดยปกติโปรแกรมใช้งานทั่วไป เช่น เวิร์ดโปรเซสเซอร์ หรือสเปรดชีต ที่ใช้ในเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer จะติดตั้งในคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้แต่ละเครื่องเลย

สมรรถนะ

เมื่อคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายถูกร้องขอข้อมูล หรือเรียกใช้ทรัพยากร สมรรถนะในการทำงานของคอมพิวเตอร์ก็จะลดต่ำลง เช่น ถ้ามีเครื่องพิมพ์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องนั้นก็จะทำงานช้าลงทันทีที่มีผู้ใช้คนอื่นในเครือข่ายส่งเอกสารมาพิมพ์ที่เครื่องพิมพ์ตัวนี้

การติดตั้ง

เมื่อติดตั้งและเซตอัปฮาร์ดแวร์ของเครือข่ายเสร็จแล้ว ต่อไปก็ต้องติดตั้งระบบปฏิบัติการเครือข่าย และโปรแกรมใช้งานลงเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องด้วย หลังจากนั้นก็ต้องเซตอัปการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ แต่ละเครื่องให้มองเห็นเครือข่ายและทรัพยากรในเครือข่าย

การบริหารระบบ

การบริหารเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer นี้ไม่ซับซ้อนมากนัก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นจะต้องมีการตั้งตำแหน่งผู้บริหารเครือข่ายโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้ผู้ใช้ในเครือข่ายศึกษาวิธีการบริหารระบบในเครื่องของตนเองก็เพียงพอแล้ว เรียกได้ว่าต่างคนต่างช่วยกันดูแล

ระบบรักษาความปลอดภัย

ลักษณะการเก็บไฟล์ในเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer นี้จะใช้หลักการต่างคนต่างเก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเอง จุดนี้เองทำให้ผู้ใช้คนอื่นสามารถเข้าไปดูไฟล์ข้อมูลในเครื่องต่าง ๆ ในเครือข่ายได้ไม่ยากนัก ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในเครือข่ายแบบนี้จึงค่อนข้างหละหลวมกว่าระบบรักษาความปลอดภัยที่เก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์

ค่าใช้จ่าย

ในกรณีที่เครื่องที่เชื่อมต่อมีน้อยเครื่องค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าเครือข่ายรูปแบบอื่น ๆ

คุณสมบัติขั้นสูง

เครือข่ายแบบนี้จะเน้นในเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการใช้ทรัพยากรร่วมกันในเครือข่ายเท่านั้น คุณสมบัติขั้นสูงอื่น ๆ เช่น การควบคุมระยะไกล หรือระบบรับส่งอีเมล์ จะไม่มีให้ใช้ในเครือข่ายนี้ 

การขยายระบบ

เครือข่ายแบบ Peer-to-Peer เหมาะสำหรับการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์จำนวนน้อยๆ ซึ่งไม่เหมาะในการขยายระบบเพิ่มเติม ถ้าองค์กรต้องการขยายระบบเพิ่มเติมควรจะสร้างเป็นเครือข่ายแบบอื่น

เครือข่ายแบบ Client-Server

         เป็นรูปแบบหนึ่งของเครือข่ายแบบ server-based โดยจะมีคอมพิวเตอร์หลักเครื่องหนึ่งเป็น เซิร์ฟเวอร์ ซึ่งจะไม่ได้ทำหน้าที่ประมวลผลทั้งหมดให้เครื่องลูกข่าย หรือไคลเอนต์ (client) เซิร์ฟเวอร์ทำหน้าที่เสมือนเป็นที่เก็บข้อมูลระยะไกล (remote disk) และประมวลผลบางอย่างให้กับไคลเอนต์เท่านั้น เช่น ประมวลผลคำสั่งในการดึงข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูล (database server) เป็นต้น

ประสิทธิภาพ

เครือข่ายแบบ Client/Server นั้น เซิร์ฟเวอร์จะต้องทำงานบริการให้กับเครื่องไคลเอนต์ที่ร้องขอเข้ามา ซึ่งนับว่าเป็นงานประมวลผลที่หนักพอสมควร ดังนั้นเครื่องเซิร์ฟเวอร์ก็ควรจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลัง เพียงพอในการรองรับงานหนัก ๆ แบบนี้ในเครือข่าย

บริการ

อาจจะมีเซิร์ฟเวอร์อยู่หลายตัวในการทำงานเฉพาะด้าน เช่น ไฟล์เซอร์เวอร์ทำหน้าที่ในการจัดเก็บ และบริหารไฟล์ทั้งหมดที่อยู่ในเครือข่าย พรินต์เซิร์ฟเวอร์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมการพิมพ์ทั้งหมดในเครือข่าย ดาต้าเบสเซอร์เวอร์จัดเก็บและบริหารฐานข้อมูลขององค์กร เป็นต้น

โปรแกรม

องค์กรที่ใช้เครือข่ายแบบนี้ มักมีการเก็บโปรแกรมไว้บนเซิร์ฟเวอร์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปเรียกใช้ได้ทันที เช่น เซิร์ฟเวอร์เก็บโปรแกรมเวิร์ดโปรเซสเซอร์ไว้ เมื่อผู้ใช้ต้องการใช้โปรแกรมนี้ก็สามารถรันโปรแกรมนี้จากเซิร์ฟเวอร์ได้

ขนาด

เครือข่ายแบบ Client/Server สามารถรองรับเครือข่ายตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ แต่ที่เหมาะสมจะเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่

การบริหารระบบ

จะต้องมีเจ้าหน้าที่ในการบริหารระบบโดยเฉพาะ ซึ่งทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับงานพื้นฐานประจำวัน เช่น การสำรองข้อมูล การตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัย และการดูแลระบบให้ทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ 

ระบบรักษาความปลอดภัย

เครื่องเซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่จะเปิดให้ทำงานตลอดเวลา และต้องมีการป้องกันไม่ให้ใครเข้ามาปรับเปลี่ยนระบบภายในเครื่องเซิร์ฟเวอร์ เพื่อเป็นการป้องกันรักษาข้อมูล บริษัทส่วนใหญ่จึงมักจะเก็บเซิร์ฟเวอร์ไว้ในห้องที่แยกต่างหากและมีการปิดล็อคไว้เป็นอย่างดี

การขยายระบบ

เครือข่ายแบบ Client/Server ยืดหยุ่นต่อการเพิ่มเติมขยายระบบ การเพิ่มเครื่องไคลเอนต์ในเครือข่ายไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสเป็กสูง ราคาแพง โดยเครื่องที่มีสมรรถนะสูงนั้นเอาไว้ใช้เป็นเครื่องเซิร์ฟเวอร์

การดูแลซ่อมแซม

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเครือข่ายแบบนี้หาพบได้ไม่ยาก เช่น ถ้าเครื่องไคลเอนต์หลาย ๆ เครื่องทำงานไม่ได้ ปัญหาก็มักจะมาจากที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ และถ้าเครื่องไคลเอนต์เครื่องใดมีปัญหาผู้บริหารระบบก็เพียงแก้ไขที่เครื่องนี้ ซึ่งจะไม่กระทบต่อเครื่องไคลเอนต์เครื่องอื่น

 

แหล่งข้อมูล 

http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/computer/network/net_lan1.htm