คุณธรรมและจริยธรรม

ในการใช้อินเทอร์เน็ต

คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต

ประวัติและความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต

เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือกำเนิดในยุคของสงครามเย็นระหว่างประเทศมหาอำนาจ (สหรัฐอเมริกา) กับรัสเซีย เนื่องจากกระทรวงกลาโหมของประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นได้เกิดแนวคิดที่ต้องการทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยคอมพิวเตอร์ สามารถสั่งการและทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้คอยควบคุมดูแล หากมีการโจมตีด้วยระเบิดปรมาณู หรือขีปนาวุธนิวเคลียร์เข้ามาถล่มจุดยุทธศาสตร์ที่เมืองใดเมืองหนึ่ง อาจทำให้ระบบคอมพิวเตอร์บางส่วนถูกทำลายไปแต่ส่วนที่เหลือจะต้องสามารถปฏิบัติงานได้ ซึ่งเป้าหมายนี้เองจึงได้เกิดโครงการวิจัยและพัฒนาระบบเครือข่ายดังกล่าวขึ้น เรียกว่า ARPA (Advanced Research Projects Agency) และได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดได้กลายมาเป็นเครือข่ายที่มีชื่อว่า “อินเทอร์เน็ต” (Internet) ในปัจจุบัน

ประเทศไทยเริ่มใช้ อินเทอร์เน็ต ครั้งแรกเมื่อไหร่นะ ?

ประเทศไทยเริ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตในปี พ.ศ. 2530 เป็นการใช้บริการรูปแบบจดหมายเล็กทรอนิกส์ โดยเริ่มที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (Prince of Songkla University) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียหรือสถาบันเอไอที (AIT) ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลีย (IDP) เป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสารด้วยอีเมล ต่อมาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้พัฒนามากขึ้นจนทำให้เกิดสถาบันออนไลน์กับอินเทอร์เน็ตเป็นกลุ่มแรกได้สำเร็จ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ อาจกล่าวได้ว่า การเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยมีจุดกำเนิดมาจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า Campus Network นั่นเอง


ปัจจุบันนี้อินเทอร์เน็ตได้กลายมาเป็นระบบพื้นฐานด้านข้อมูลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วทุกมุมโลก นับว่าเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในยุคโลกาภิวัฒน์เป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ในด้านการสื่อสารแต่ยังรวมไปถึงการใช้เครื่องมือออนไลน์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้ทางธุรกิจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต

คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต


เนื่องจากอินเทอร์เน็ต คือ ระบบเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เกิดจากการเชื่อมต่อเครือข่ายขนาดเล็กจำนวนมากเข้าด้วยกัน เมื่อมีระบบเครือข่ายเกิดขึ้น มันทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้อื่นผ่านทางระบบเครือข่ายได้ ทั้งกับคนสนิทและบุคคลทั่วไป ซึ่งการที่เราติดต่อสื่อสารกันได้เช่นนี้ ก็เปรียบเสมือนเรากำลังอยู่ในสังคมแห่งใหม่ที่เรียกว่า สังคมในโลกอินเทอร์เน็ตนั่นเอง


สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยในการที่เราจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข นั่นก็คือ มารยาทและกฎกติกาของสังคม นึกง่ายๆ ว่า ถ้าเกิดประเทศเราไม่มีกฎหมายในการจัดการบ้านเมือง เช่น กฎจราจร ผู้คนคงขับรถกันตามใจชอบ และต่อให้ขับรถชนคนอื่นก็จะไม่มีการถูกลงโทษใดๆ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน


ดังนั้น ในยุคปัจจุบันที่เราแทบทุกคนต่างมีสังคมอีกแห่งหนึ่งอย่าง สังคมในโลกอินเทอร์เน็ต เราจึงจำเป็นจะต้องรู้จักกฎ กติกา และมารยาทในการใช้อินเทอร์เน็ต หรือเราควรจะมีคุณธรรมและจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นการให้เกียรติและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น


สำหรับคุณธรรมและจริยธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่ควรมี มีทั้งหมด 6 อย่าง ดังนี้


1. ใช้ถ้อยคำสุภาพ


การที่เราจะสื่อสารกับใครสักคนบนโลกอินเทอร์เน็ต เราต้องคำนึงเสมอว่า คนที่เราจะสื่อสารด้วยเป็นใคร ถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็นหน้าของคู่สื่อสาร แต่เราต้องคำนึงไว้ก่อนว่าเขามีตัวตน มีความรู้สึก


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าครูจะโพสต์ทวงงานนักเรียนในกรุ๊ปเฟสบุ๊ครายวิชา ครูก็ต้องนึกก่อนว่า ในฐานะครู จำเป็นจะต้องใช้คำพูดกับนักเรียนอย่างไร เพื่อให้นักเรียนเข้าใจในสิ่งที่ครูต้องการจะบอก โดยที่นักเรียนก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนถูกครูคุกคามหรือทำหยาบคายใส่

2. ปฏิบัติตามกฎ กติกา และมารยาทที่แต่ละเว็บไซต์กำหนด


แต่ละเว็บไซต์จะมีการกำหนดกฎ กติกา และมารยาทในการใช้เว็บไซต์ เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้เว็บไซต์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เช่น เว็บไซต์ YouTube มีการกำหนดว่า หากผู้ใดต้องการอัปโหลดวิดีโอ เนื้อหาในวิดีโอนั้นจะต้องไม่มีเนื้อหาที่สื่อถึงความลามกหรืออนาจาร เป็นต้น


3. ให้เครดิตแหล่งที่มาข้อมูลเสมอ เมื่อมีการนำข้อมูลผู้อื่นมาใช้


เมื่อเรามีการนำข้อมูลของคนอื่นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ เสียง หรือวิดีโอต่างๆ เราต้องให้แหล่งที่มาของข้อมูลนั้นเพื่อเป็นการให้เกียรติและไม่ละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูล หากเรานำข้อมูลของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ให้แหล่งที่มา เราอาจจะถูกฟ้องร้องเพราะไปขโมยข้อมูลของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตได้


* ลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ในเว็บไซต์นี้ก็มีการแปะเว็บไซต์แหล่งที่มาข้อมูลเช่นกัน


4. ไม่แชร์ข้อมูลผิดๆ หรือภาพที่ไม่เหมาะสม

การแชร์ข้อมูลผิดๆ หรือภาพที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น ภาพศพที่ไม่มีการเซ็นเซอร์ ภาพอนาจาร หรือการแชร์ข้อมูลการรักษาโรคแบบผิดๆ การที่เราแชร์สิ่งเหล่านี้ออกไป ไม่ว่าจะด้วยความสนุกหรืออะไรก็ตาม หากเราแชร์ไปโดยที่ไม่คิดไตร่ตรองให้ดี ก็จะทำให้คนอื่นๆ ที่มาเห็นข้อมูลเหล่านี้เข้าใจผิดหรือรู้สึกไม่ดีได้ รวมถึงอาจเป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่นอีกด้วย


ตัวอย่างการแชร์ข้อมูลผิดๆ

"คิดก่อนเชื่อ เช็คก่อนแชร์ #ตั้งสติหน่อยค่อยโซเชียล"




5. ไม่สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น


เวลาที่เรามาเจอเพื่อนๆ ที่โรงเรียน เราคงเคยบอกว่าเพื่อนคนไหนน่ารำคาญจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น เพื่อนพูดมาก เพื่อนขี้บ่น หรือเพื่อนชอบเซ้าซี้ขอให้เราทำอะไรสักอย่างให้ไม่ยอมหยุด


ส่วนในโลกอินเทอร์เน็ต การสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่นก็ไม่ได้แตกต่างไปมากนัก ยกตัวอย่างเช่น การสแปมข้อความซ้ำๆ การส่งจดหมายลูกโซ่ หรือการส่งคำเชิญเล่นเกมไปให้คนอื่นบ่อยจนเกินไป


ตัวอย่างการสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่นในโลกอินเทอร์เน็ต

"อย่าชวน ถ้าเขาไม่เล่น #ตั้งสติหน่อยค่อยโซเชียล"




6. ไม่ละเมิดสิทธิและไม่กลั่นแกล้งผู้อื่น


ปัจจุบันการละเมิดสิทธิและกลั่นแกล้งผู้อื่นบนโลกอินเทอร์เน็ตมีเยอะมาก เช่น การแอบถ่ายรูปคนอื่นโดยที่เจ้าตัวไม่ได้อนุญาต แล้วนำรูปแอบถ่ายไปอัปขึ้น Facebook พร้อมวิจารณ์เขาเสียๆ หายๆ หรือการไปโพสต์แสดงความคิดเห็นด้วยคำหยาบคาย ด่าทอผู้อื่นแบบไม่มีเหตุผล (ภาษาง่ายๆ ที่เราเรียกกัน คือ “พวกนักเลงคีย์บอร์ด”) เป็นต้น



กรณีศึกษา เช่น ข่าวที่มีคนแอบถ่ายผู้ชายรองเท้าขาดบนรถไฟฟ้า BTS แล้วอัปโหลดรูปภาพดังกล่าวขึ้นบัญชีเฟสบุ๊คส่วนตัว พร้อมพิมพ์ข้อความกล่าวหาว่า ผู้ชายในภาพติดกล้องไว้ที่รองเท้าเพื่อถ่ายภาพใต้กระโปรงหญิงสาว ทั้งๆ ที่ผู้ชายคนนั้นแค่รองเท้าขาดเฉยๆ ซึ่งมันทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกตราหน้าว่าเป็นคนโรคจิตในชั่วข้ามคืน