ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง

การฟ้อนต้อนรับแขกไปเยี่ยมเยือน (ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง )







การฟ้อนแหย่ใข่มดแดงสื่อถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน ในการประกอบอาหารและการเสาะหาแหล่งอาหารของชาวไทอีสานในความเป็นอยู่แบบพอเพียงไม่ได้ซื้อหาจากตลาดหรือร้านค้าดั่งเช่นในปัจจุบัน ชาวอีสานในอดีตจึงออกแสวงหาอาหารในแหล่งธรรมชาติใกล้ชุมชน เช่น ในท้องนา ป่าชุมชน ป่าทาม รวมไปถึงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แม้ว่าปัจจุบันวิถีชีวิตบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม ด้วยกระแสบริโภคนิยม บางท้องที่หรือบางชุมชนก็ยังหาอยู่หากินอย่างพอเพียงตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกันอยู่

“ไข่มดแดง” รวมถึงตัวอ่อนของมดแดง ก็ถือได้ว่าเป็นอาหารอีสานที่หารับประทานได้ในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นอาหารตามฤดูกาลแม้ในปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมในการบริโภคกันอยู่ ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และสามารถหาได้ง่ายๆในท้องถิ่น ซึ่งกรรมวิธีการหาไข่มดแดงจะต้องมีอุปกรณ์ คือ ไม้ไผ่ยาวผูกปลายด้วยตะกร้า และมีคุใส่น้ำเตรียมไว้ใส่ไข่มดแดงที่แหย่ได้ แล้วใช้เศษผ้ากวนเอาตัวมดแดงแยกออกจากไข่ เพื่อนำไปประกอบอาหารต่อไป

การแหย่ไข่มดแดงของชาวบ้าน แสดงให้แขกบ้านแขกเมืองได้เห็นถึงขั้นตอนในการหาอาหารเพื่อดำรงชีวิตโดยแสดงผ่านดนตรี“เซิ้งแหย่ไข่มดแดง” ซึ่งมีความสนุกสนานเร้าใจในแบบศิลปการแสดงแบบชาวอีสาน ซึ่งได้แสดงออกถึงการออกไปหาไข่มดแดง ซึ่งได้มาอย่างยากลำบาก ทั้งต้องถูกมดแดงกัดหรือไต่ตามเสื้อผ้า การกวนแยกตัวมดแดงออกจากไข่ ทำให้ชุดการแสดงนี้บอกเล่าวิธีการได้อย่างละเอียด

การแสดงฟ้อนแหย่ไข่มดแดง

- เดินทางออกจากบ้าน ฝ่ายหญิงจะถือคุใส่น้ำและเศษผ้าเหน็บไว้ที่เอว ชายถือไม้ยาวผูกตะกร้าที่ปลายไม้สำหรับแหย่รังมดแดง

- มองหารังมดแดง

- แหย่มดแดงได้เทลงในครุใส่น้ำ

- นำผ้ากวนมดแดง เพื่อแยกตัวมดออกจากไข่มดแดง

- เทน้ำออกจากครุ

- เก็บอุปกรณ์เดินทางกลับบ้าน