ทีแคส รอบ 1 ได้ไม่ตามเป้า เหตุเด็กไม่อ่านคู่มือ

“พีระพงศ์”เผยทีแคสรอบ1 ได้เด็ก 45.7% เหตุเด็กไม่อ่านคู่มือทีแคส ส่งผลยืนยันสิทธิ –สละสิทธิ ฝากรอบ2 อ่านคู่มือให้ละเอียด ส่วนทีแคสรอบ2 เริ่มสมัคร 6 ก.พ.-23 มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ทปอ. ได้ประกาศผลการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส ปีการศึกษา 2563 รอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน ไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2563 เปิดให้ยืนยันสิทธิในวันที่ 30-31 ม.ค.2563 และสละสิทธิ ในวันที่ 1-2 ก.พ .2563 ส่วนผลทีแคสรอบ 1 พบว่าจากจำนวนรับ 138,230 คน มีผู้สมัคร จำนวน 127,190 คน คิดเป็น 92%ของจำนวนรับมีผู้ผ่านการคัดเลือก 78,094 คน คิดเป็น 61.4% ของผู้สมัคร ผู้ยืนยันสิทธิในระบบ 63,934 คนผู้เลือกไม่ใช้สิทธิ หรือ ไม่เข้าระบบ 14,160 คน สละสิทธิ 830 คน เหลือคนที่ยืนยันสิทธิรอบ 1 หลังปิดระบบสละสิทธิ 63,104 คน ดังนั้นสรุปว่าคนที่ผ่านรอบ 1 แต่ไม่ต้องการเรียน 14,990 คน คิดเป็น 19.2% ของคนที่ผ่านการคัดเลือก และรอบ 1 ได้คนเข้าศึกษา 45.7% ของจำนวนรับ

ดร.พีระพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนปัญหาที่พบ คือเด็กลืมยืนยันสิทธิ ลืมสละสิทธิ ยืนยันสิทธิแล้วกดไม่ใช้สิทธิ แต่พอปิดระบบ กลับเปลี่ยนใจจะเรียน จึงมาแจ้งทปอ.ว่าไม่ได้เป็นคนกดไม่ใช้สิทธิ แต่เมื่อทปอ.ตรวจสอบแล้ว พบว่าทุกรายใช้อุปกรณ์เครื่องเดียวกับที่ขอรหัส otp ในการยืนยันสิทธิ ส่วนตอนยืนยันสิทธิมีปัญหาเล็กน้อยที่มหาวิทยาลัยส่งผลเข้าระบบผิด แต่ได้แก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามปัญหาที่กิดขึ้นเนื่องจากเด็กไม่อ่านคู่มือการยืนยันสิทธิและสละสิทธิ ฝากย้ำทีแคสรอบ 2 โควตา ขอให้เด็กอ่านคู่มือให้เข้าใจก่อนดำเนินการใด ๆ ในระบบ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดเหมือนรอบ 1 สำหรับปฎิทินการรับสมัครทีแคส ประจำปี2563 รอบ2 โควตา มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ดำเนินการเองโดยจะรับสมัครในวันที่ 6 ก.พ.-23 มี.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัย ประกาศผลวันที่ 22 เม.ย.2563 ยืนยันสิทธิวันที่ 22-23เม.ย.2563 สัมภาษณ์ ตามที่ มหาวิทยาลัยกำหนด สละสิทธิ วันที่ 24 -25 เม.ย.2563

สพฐ.ชงทบทวนมติครม.จัดครูลงรร.ขนาดเล็ก

สพฐ.เตรียมชง ครม.ทบทวนมติไม่ให้จัดสรรอัตรากำลังครูลงในโรงเรียนมีเด็กน้อยกว่า 120 คน โดยให้จัดสรรครูได้ หลังควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้ตามแผน “ณัฏฐพล”ชี้ต้องจัดครูให้เพียงพอ เพื่อให้การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดสรรตำแหน่งลงในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไม่ให้จัดสรรอัตรากำลังลงในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน และให้ยุบตามอัตราเกษียณ ขณะที่การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กก็ยังไม่เป็นไปตามแผนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กำหนดไว้

ดังนั้น สพฐ.จึงได้เสนอให้จัดสรรอัตรากำลังครูที่เหมาะสมที่ลงไปในโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น โรงเรียนที่มีนักเรียน 40 มีนักเรียน 80 และมีนักเรียน 120 คน ว่า ควรต้องมีครูจำนวนเท่าไร ให้เพียงพอเพื่อให้การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ด้าน ดร.อำนาจ กล่าวว่า ตนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในเรื่องการจัดสรรอัตรากำลังครูให้แก่โรงเรียนขนาดเล็ก เพราะหากไม่จัดสรรลงไปให้การจัดการเรียนการสอนก็จะมีปัญหา โดยเฉพาะโรงเรียนห่างไกลที่อยู่โดดเดี่ยว โดยจะเสนอแผนการจัดสรรอัตราครูต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กให้บอร์ด ก.ค.ศ.พิจารณา เพื่อให้เสนอ ครม. เห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตามจากการรายงานต่อ รมว.ศึกษาธิการ นั้น นายณัฎฐพล ไม่ได้ห่วงว่าจะต้องควบรวมโรงเรียนให้ได้ตามแผน แต่ห่วงเรื่องคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ดีขึ้น ทั้งนี้ สพฐ. มีโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด 29,871 โรงเรียน โดยข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่ปี 2559 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 มีโรงเรียนที่ถูกยุบแล้วประมาณ 1,000 แห่ง

“เมื่อเร็วๆนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดร้อยเอ็ด และพบว่า มีหลายโรงเรียนที่อยู่ใกล้กันการคมนาคมสะดวก สามารถควบรวมกันได้ โดยตนได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ไปตรวจสอบ ว่า ในพื้นที่มีโรงเรียนลักษณะดังกล่าวจำนวนเท่าไร เพื่อดำเนินการควบรวม แต่จะต้องได้รับการยินยอมจากชุมชน ขณะเดียวกัน รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้มอบหมายให้ สพฐ.ไปพัฒนาโรงเรียนหลักที่จะไปควบรวมให้ดี มีคุณภาพ ให้เด็กอยากไปเรียน โดยให้ทำเป็นต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่าง ซึ่งสพฐ. ก็จะไปคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบ 1-2 แห่ง เพื่อจัดสรรงบประมาณลงไปพัฒนาเป็นพิเศษ ” ดร.อำนาจ กล่าว ส่วนกรณีที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)ขอใช้พื้นที่โรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบรวม และยุบเลิกมาจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัยของ กศน. นั้น สพฐ.ไม่ขัดข้องเพราะเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานภายใน ศธ.

เด็กยุคใหม่ต้องก้าวทันโลก และเรียนรู้ได้ในทุกบริบท

ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึง แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้สอดคล้องกับยุค Thailand 4.0 ว่า แนวคิดการพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้เข้าถึงและพัฒนาศักยภาพของตนเอง สามารถบูรณาการองค์ความรู้มาสู่การสร้างอาชีพได้อย่างมั่นคง ต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ตลอดช่วงวัย เรียนรู้ได้ในทุกบริบท เป็นสิ่งที่ในฐานะผู้จัดการศึกษาให้ความสำคัญสูงสุด รวมถึงแนวคิดการพัฒนาผู้เรียนนอกห้องซึ่งไม่ใช่แนวคิดใหม่ หากแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานแนวคิดการสนับสนุนให้เด็กหญิง-ชาย ได้ฝึกฝนทักษะความถนัด เพิ่มพูนความรู้ความสามารถเฉพาะด้านของตนเองให้สามารถเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตัวได้ ไม่ใช่เพียงมุ่งเรียน เพื่อเป็นเสมียนหรือเข้ารับราชการเพียงด้านเดียว พระปรีชาญาณของพระองค์ท่านได้ก่อเกิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนมาจนถึงปัจจุบัน