หลักการและเหตุผล

การคิดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่สำคัญ ที่มีผลและรากฐานของการเปลี่ยนแปลงในชีวิตแต่ละบุคคล ความคิดของมนุษย์เป็นผลที่เกิดจากกลไกของสมองซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าแต่ละคนคิดดี คิดถูกต้อง คิดเหมาะสม การดำเนินชีวิตและความเป็นไปของสังคมก็จะดำเนินไปอย่างมีคุณค่าสูง การคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมที่ซับซ้อน การที่รู้จักคิดป้องกันหรือคิดแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันและพัฒนาปรับปรุงภาวะต่างๆ ให้ดีขึ้น การคิดเป็นกระบวนการทางจิตใจมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ แม้ว่าทุกคนจะมีความคิด แต่ก็มองไม่เห็นได้โดยตรง ต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรม การแสดงออกและการกระทำ การใช้ความคิดของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และประสบผลสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ผลของการใช้ความคิดจะแสดงให้เห็นในลักษณะของ การสรุปเป็นความคิดรวบยอด การจำแนกความแตกต่าง การจัดกลุ่ม การจัดระบบการแปลความหมายของข้อมูล รวมทั้งการสรุปอ้างอิง การเชื่อมโยงสัมพันธ์ของข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับข้อมูลที่ได้มา

แต่จากข้อมูลผลการประเมินในระดับนานาชาติ พบว่าเด็กไทยก็มีความสามารถด้านการคิดในระดับต่ำ จึงถือว่าเป็นจุดอ่อนในการจัดการศึกษาของไทย ถึงแม้จะมีความพยายามจากหลายฝ่าย หลายหน่วยงาน และพยายามทำมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดในระดับสูงขึ้น มีเพียงการสอนเพื่อจำและเข้าใจเท่านั้น ส่งผลให้ผลผลิตคือนักเรียนไม่สามารถสร้างเสริมความคิดได้เท่าที่ควรขาดการเชื่อมโยงการคิดจากชั้นเรียนสู่ชีวิตจริง ขาดความสามารถในการเรียนรู้และการแก้ปัญหา และขาดกระบวนการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เกิดวิกฤตการศึกษาไทยในปัจจุบัน ส่งผลให้มาตรฐานที่ 5 ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตรหรือด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไทยต่ำไปด้วย ด้วยมีสาเหตุหลักจากการ ที่ผู้เรียนไม่สนใจใฝ่เรียนรู้ ไม่สนใจสืบเสาะหรือแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ไม่เข้าใจว่าตนคือคนที่ต้องสร้างความรู้ด้วยตนเอง และให้ทันต่อการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21 ด้านการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วย ถึงแม้ประเทศไทยจะจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ที่มุ่งให้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการพัฒนาคนและสังคม โดยให้ความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสม เพื่อสร้างคนให้มีความคิด มองกว้าง ใฝ่ดี มีคุณธรรมรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก เป้าหมายหลักของการจัดการศึกษามุ่งเน้นไปที่การให้ผู้เรียนเป็นสำคัญและมีทักษะการคิดและการเรียนรู้ หลักการในการจัดการศึกษา จึงควรมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้แสดงถึงความ มีศักยภาพในตัวเอง มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และพัฒนาตนเอง แต่จนบัดนี้การจัดการศึกษา ของชาติก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ครูผู้สอน” เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในชั้นเรียนที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ครูผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความคิดและพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนากระบวนการคิดและการเรียนรู้ของผู้เรียนต่อไป ดังนั้นครูจึงต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหลักการและการพัฒนาการทักษะการคิดและการเรียนรู้ที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้ ทั้งทักษะการคิดวิเคราะห์ (Analytic Thinking), การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking), การคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking), การคิดเชิงระบบ (Systematic Thinking), การคิดแก้ปัญหา (Problem Solving), และ การคิดเกี่ยวกับการรู้ (Metacognition) ต้องมีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในความเฉพาะเจาะจงของแต่ละทักษะ รู้และเข้าใจการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละทักษะ รู้และเข้าใจการวัดและประเมินผลทักษะการคิดแต่ละชนิด รวมทั้งสามารถสืบเสาะแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนของตนด้วยความมุ่งมั่น จนสามารถทำวิจัยในทิศทางที่ถูกต้องตามหลักการวิจัย จนกลายเป็น “ครูนักวิจัยด้านการคิด (Thinking Teacher Researcher)” และควรมีเวทีเพื่อให้ครูนักวิจัยด้านการคิดได้นำเสนองานที่ตนได้พัฒนาการคิดของนักเรียนในชั้นเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนผู้สนใจได้เข้าร่วมในเวทีดังกล่าว

“โครงการพัฒนาทักษะการคิดเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน” ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 (ขอนแก่น) เป็นโครงการพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนที่เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียง เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี (2558-2560) โดยได้ดำเนินการโครงการย่อยดังนี้ 1) โครงการการพัฒนาครูนักวิจัยด้านการคิด (Thinking Teacher Researcher) 2) โครงการโรงเรียนการคิด (Thinking School) 3) โครงการศูนย์วิจัยด้านการคิดและการส่งเสริมการคิด (Centre for Thinking Research and Improving Thinking Skills) 4) โครงการการประชุมวิชาการการวิจัยด้านการคิด (The Thinking Research Conference (TRC) และ 5) โครงการรายงานวิจัยด้านการพัฒนาการคิดของผู้เรียน (Thinking Skills Research Journal) โครงการย่อยที่ 1-3 มีการดำเนินการมาแล้ว และกำหนดให้มี “การประชุมวิชาการการวิจัยด้านการคิด (The Thinking Research Conference (TRC) (โครงการย่อยที่ 4) ขึ้น ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 จึงเกิดการประชุมวิชาการในครั้งนี้ขึ้น

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ครูนักวิจัยด้านการคิด ครูโรงเรียนการคิด ครูโรงเรียนส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สังกัด สพม 25 และครูอื่นๆ ตลอดจนศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และผู้สนใจการพัฒนาการคิดของผู้เรียน มีเวทีนำเสนอผลการวิจัยในชั้นเรียน

2. เพื่อให้ครูนักวิจัยด้านการคิด ครูโรงเรียนการคิด ครูโรงเรียนส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สังกัด สพม 25 และครูอื่นๆ ตลอดจนศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และผู้สนใจการพัฒนาการคิดของผู้เรียน มีโอกาสได้รับความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากครูด้วยกัน จากนักวิชาการ จากนักวิจัย และจากผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ