ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

การสานตะกร้าทางมะพร้าว

สาขา หัตถกรรม

ชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น การสานตะกร้าทางมะพร้าว

เจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น นางสม อุปรี

วัน/เดือน/ปีเกิด พ.ศ. 2496 อายุ 68 ปี

การศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 5/1 หมู่ 11 ต.ป่ามะคาบ

อ.เมืองพิจิตร จ.พิจิตร

ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้ของชาวบ้าน ซึ่งเรียนรู้มาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง หรือผู้มีความรู้ในหมู่บ้านในท้องถิ่นต่างๆ ความรู้เหล่านี้สอนให้เด็กเคารพผู้ใหญ่ มีความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ และผู้มีพระคุณ มีความเอื้ออาทรต่อคนอื่น รู้จักช่วยเหลือแบ่งปันข้าวของของตนให้แก่ผู้อื่น ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่มีคุณธรรม สอนให้คนเป็นคนดี สอนให้คนเคารพธรรมชาติ รู้จักพึ่งพาอาศัยธรรมชาติโดยไม่ทำลาย ให้เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และคนที่ล่วงลับไปแล้ว ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นความรู้เรื่องการทำมาหากิน เช่น การจับปลา การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การทอผ้า ทอเสื่อ การสานตะกร้าและเครื่องใช้ด้วยไม้ไผ่ ด้วยหวาย การทำเครื่องปั้นดินเผา การทำเครื่องมือทางการเกษตร นอกจากนั้น ยังมีศิลปะดนตรี การฟ้อนรำ และการละเล่นต่างๆ การรักษาโรคด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้ยาสมุนไพร การนวด เป็นต้น ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นความรู้ความสามารถที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ และถ่ายทอดมาให้เรา

การจักสานตะกร้าทางมะพร้าวคือภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่คนไทยเรารู้จักคิดค้นหาวิธีประดิษฐ์ขึ้นจนสำเร็จและสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ในปัจจุบันต้นมะพร้าวเพียง 1 ต้น สามารถนำมาใช้เกิดประโยชน์ได้หลายอย่าง นอกจากจะนำน้ำมะพร้าวมาดื่ม เอาเนื้อมะพร้าวมารับประทานทั้งรับประทานเนื้อสด ๆ หรือนำมาคั้นเป็นกะทิใส่ในอาหารคาว หวาน ได้หลายอย่างแล้ว กะลามะพร้าวยังสามารถนำมาประดิษฐ์สิ่งของได้เช่นกัน อาทิ เครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ สร้อยแขน แหวน กำไล เข็มขัด ของใช้ เช่น กะลาก๊อบแก๊บ เปลือกของลูกมะพร้าวสามารถนำมาปลูกต้นไม้ได้ เช่น ปลูกต้นกล้วยไม้ ยอดอ่อนของมะพร้าวก็สามารถนำมาทำอาหารได้หลายเมนูเด็ด เช่น แกงไก่ใส่ยอดมะพร้าวอ่อน ยำยอดมะพร้าวอ่อน ยอดมะพร้าวอ่อนผัดกุ้ง ตำยอดมะพร้าวอ่อน เป็นต้น เยื่อหุ้มต้นมะพร้าวสามารถนำมาทำเป็นกระเป๋าได้ ลำต้นก็สามารถนำมาทำเก้าอี้ ทำรั้วก็ดูเก๋ไก๋ไม่แพ้กัน ใบมะพร้าวก็สามารถนำมาสานปลาตะเพียน ตั๊กแตน และเอามาห่อขนมได้ ส่วนทางมะพร้าว ก็สามารถนำมาทำ ไม้กวาดปัดหยากไหย้ แจกัน ขันโตก ไม้กลัดห่อขนมหรือของต่าง ๆ และทำตะกร้า วิธีการทำตะกร้าและวัสดุอุปกรณ์ในการทำก็ไม่ยุ่งยาก

วัสดุอุปกรณ์

1. ทางมะพร้าว เป็นผลผลิตจากมะพร้าวซึ่งอยู่ที่ใบของมะพร้าว สามารถหาได้ง่ายตามท้องถิ่นบ้านเรา สามารถนำมาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการใช้มีดเฉาะใบออกและเอาแต่ทางมะพร้าวมาขึ้นรูปทรงต่าง ๆ ตามที่เราต้องการ

2. ไม้ไผ่ เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่หาได้ง่าย ส่วนใหญ่ชาวบ้านปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา และที่สวนต่าง ๆ เราก็เอามาใช้โดยการผ่าออกเป็นเส้นแล้วนำมาจักสานตามที่เราต้องการ

3. หวาย ใช้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม

4. อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น มีด ค้อน สิ่ว กรรไกร ลวด และสี


ขั้นตอนการสานตะกร้าทางมะพร้าว

1. เลือกก้านมะพร้าวเหลือง ๆ ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป จะทำให้ได้ตะกร้าที่แข็งแรง มีสีสวย ถ้าเป็นก้านที่แก่มาก จะทำให้สีคล้ำ หรืออ่อนเกินไปจะออกสีเขียวอ่อนและไม่แข็งแรง มะพร้าวน้ำหอมจะมีก้านที่สั้นกว่ามะพร้าวใหญ่หรือมะพร้าวที่ใช้ทำขนมและแกง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชิ้นงานว่าต้องการตะกร้าใบใหญ่หรือใบเล็ก

2. นำก้านมะพร้าวมาเหลาใบออก ใช้มีดขูดให้เกลี้ยง จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งเพราะจะทำให้สานตะกร้าได้แน่น ไม่หลวม และช่วยป้องกันไมให้ขึ้นราได้ง่าย

3. เหลาไม้ไผ่ให้เป็นเส้นแบน ๆ ความหนาแล้วแต่ความต้องการ เพื่อใช้ขดเป็นวงสำหรับทำโครงตะกร้าต้องการให้เป็นรูปทรงใดอยู่ที่ขั้นตอนนี้ ตะกร้า 1 ใบ ใช้โครงไม้ไผ่ 5 อัน ประกอบเป็นส่วน ก้นตะกร้า 2 อัน ตัวตะกร้า 1 อัน (ส่วนกลาง) และปากตะกร้า 2 อัน

4. นำก้านมะพร้าวที่เหลาและตากแดดเรียบร้อยแล้วมาสานไขว้กันไปมา ให้มีความถี่ ห่าง แล้วแต่ความต้องการ โดยเริ่มสานกับโครงไม้ไผ่ส่วนที่เป็นตัวตะกร้า ใช้ปอทอเสื่อที่ร้อยเข็มแล้วมัดให้ก้านมะพร้าวกับโครงไม้ไผ่ติดกัน ขั้นตอนนี้ต้องพยายามจัดก้านมะพร้าวให้เรียงเสมอกันและมัดด้วยปอทอเสื่อให้แน่นหนา

5. เมื่อสานส่วนตัวตะกร้าจนรอบแล้ว จึงสานก้นตะกร้าโดยใช้โครงไม้ไผ่ประกบ 2 วง และมัดด้วยลวดและหวายเทียม

6. จากนั้นนำโครงไม้ไผ่อีก 2 อัน ประกบตรงส่วนปากตะกร้า ใช้ลวดและหวายเทียมมัดเช่นกันขั้นตอนนี้จะตกแต่งปากตะกร้าด้วยการสานหวายเทียม

7. รวบก้านมะพร้าวส่วนที่เหลือทั้งสองข้างไว้ด้วยกัน แล้วนำก้านมะพร้าวทั้งสองข้างมัดเชื่อมต่อกันด้วยหวายเทียมเพื่อเป็นหูตะกร้า ตัดก้านมะพร้าวที่ยาวเกินไปออกและตกแต่งให้เรียบร้อย

8. นำยูรีเทนเคลือบให้ได้ความแข็งแรง และสวยงาม

ประโยชน์

1. ใช้สำหรับใส่ของใช้ เช่น เสื้อผ้า และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ หรือใช้ใส่ของเวลาไปจ่ายตลาด เป็นต้น

2. ใช้ตกแต่งบ้าน หรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม

บรรพบุรุษของเราเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัวและสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด ดังนั้นเราในฐานะที่เป็นลูกหลานคนไทยเราก็ต้องรู้จักสืบทอดศิลปะอันดีงามนี้ไว้และสืบทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อตราบนานเท่านาน

ผู้ให้ข้อมูล นางสม อุปรี

ผู้เขียน นางสาวปภัสรา ขวัญหอม