ตำบลหนองตีนนก สภาพโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับทำการเกษตร ทำนา แต่ปัจจุบันการทำนาลดน้อยลง ประชาชนหันมาเลี้ยงกุ้ง,เลี้ยงปลา เป็นอาชีพหลักมากขึ้น  อีกทั้งชาวบ้านเพาะเลี้ยงปลานิลกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เนื่องจากต้นทุนที่ไม่สูงมาก เลี้ยงง่าย ใช้ระยะเวลาการเพาะเลี้ยงไม่นานนักก็สามารถนำผลผลิตมาขายได้ ซึ่งผลผลิตปลานิลนี้ก็สามารถขายได้ทั้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลา 

ผู้ประกอบอาชีพ  แน่งน้อย   เกิดผล (ป้าน้อย)

ประธานวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์และพัฒนาการแปรรูปปลานิล

ต.หนองตีนนก   อ.บ้านโพธิ์   จ.ฉะเชิงเทรา

ความเป็นมาของปลานิล

เมื่อวันที่  25  มีนาคม  2508  พระจักรพรรดิอากิฮิโต  เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่นทรงจัดส่งปลานิลจำนวน  50  ตัว  ความยาวเฉลี่ยตัวละประมาณ  9  เซนติเมตร  น้ำหนักประมาณ  14  กรัม  มาทูลเกล้าฯ  ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ระยะแรกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดิน  เนื้อที่ประมาณ  10  ตารางเมตร  ในบริเวณสวนจิตรลดา  พระราชวังดุสิต  เมื่อเลี้ยงมาได้  5  เดือนเศษ  ปรากฎว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เจ้าหน้าที่สวนหลวงขุดบ่อขึ้นใหม่อีก  6  บ่อ  มีเนื้อที่เฉลี่ยบ่อละประมาณ  70  ตารางเมตร  ซึ่งในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ได้ทรงย้ายปลาด้วยพระองค์เอง  โดยย้ายจากบ่อเดิมไปปล่อยในบ่อใหม่ทั้ง  6  บ่อ  เมื่อวันที่  1  กันยายน  2508  ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  มอบหมายให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน โดยที่ปลาชนิดนี้เป็นปลาจำพวกกินพืช  เลี้ยงง่าย  มีรสดี  ออกลูกดก เจริญเติบโตได้รวดเร็ว  ในเวลา 1 ปี จะมีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมและมีความยาวประมาณ  1  ฟุต  จึงได้มีพระราชประสงค์ที่จะให้ปลานี้แพร่ขยายพันธุ์  อันจะเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ต่อไป

      ดังนั้น  เมื่อวันที่  17  มีนาคม  2509  ซึ่งนับเป็นระยะเวลาเกือบครบ  1  ปี  ที่มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นได้จัดส่งพันธุ์ปลามาทูลเกล้าฯ  ถวายพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า  “ปลานิล”  และได้พระราชทานปลานิลขนาดยาว  3-5  เซนติเมตร  จำนวน  10,000  ตัว  ให้แก่กรมประมงนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยง  ในบริเวณเกษตรกลางบางเขน  และที่สถานีประมงต่างๆ  ทั่วราชอาณาจักรอีกจำนวน  15  แห่ง  เพื่อดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ไปพร้อมกัน  ซึ่งเมื่อปลานิลนี้แพร่ขยายพันธุ์ออกมาได้มากเพียงพอแล้ว  ก็จะได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการต่อไป

การเตรียมบ่อ 

บ่อใหม่  

หากเป็นบ่อที่ขุดใหม่  ดินมักมีคุณภาพเป็นกรด  ควรใช้ปูนขาวโรยให้ทั่วบ่อ  ในอัตรา  1  กิโลกรัม  ต่อเนื้อที่  10  ตารางเมตร

บ่อเก่า 

จำเป็นต้องปรับปรุงบ่อ  โดยกำจัดวัชพืชออกให้หมด  เช่น  ผักตบชวา  จอก  บัว  และหญ้าต่างๆ  เพราะวัชพืชเหล่านี้จะปกคลุมผิวน้ำเป็นอุปสรรค์ต่อการหมุนเวียนของอากาศซ้ำยังจะเป็นที่หลบซ่อนอยู่อาศัยของศัตรูที่เป็นอันตรายต่อปลา และเป็นการจำกัดเนื้อที่ซึ่งปลาต้องใช้อยู่อาศัยอีกด้วย ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง  ต้องกำจัดศัตรูของปลานิลให้หมดเสียก่อน  ได้แก่  พวกปลากินเนื้อ  เช่น  ปลาช่อน  ปลาชะโด  ปลาบู่  และปลาดุก  ถ้ามีสัตว์จำพวกเต่า พบ เขียด  งู  ก็ควรกำจัดให้พ้นบริเวณบ่อนั้นด้วยวิธีกำจัดอย่างง่ายๆ  คือ  โดยการระบายน้ำออกให้แห้งบ่อ  แล้วจับสัตว์ชนิดต่างๆ  ขึ้นให้หมด  แต่ถ้าบ่อนั้นไม่อยู่ใกล้ทานน้ำ  ไม่สะดวกแก่การระบายน้ำออกก็ควรใช้โล่ติ๊นสด  ในอัตราส่วน  1  กิโลกรัม  ต่อปริมาณน้ำ  100  ลูกบาศก์เมตร  วิธีใช้คือทุบหรือบดโล่ติ๊นให้ละเอียด  นำลงแช่น้ำสัก  1  หรือ  2  ปี๊บ  ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้น้ำสีขาวออกมาหลายๆ  ครั้งจนหมด  แล้วนำไปสาดให้ทั่วบ่อ  ศัตรูประหลาดังกล่าวก็จะตายลอยขึ้นมาหมด  แล้วเก็บออกทิ้งเสียอย่าปล่อยให้เน่าอยู่ในบ่อเพราะจะทำให้น้ำเสียได้  ก่อนที่จะปล่อยปลาลงเลี้ยงควรทิ้งบ่อนั้นไว้ประมาณ  7-10  วัน  เพื่อรอฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัวไปหมดเสียก่อน

การปล่อยปลาลงเลี้ยง 

จำนวนปลาที่ปล่อย เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว  ดังนั้นจำนวนปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยงในบ่อครั้งแรกจึงไม่จำเป็นต้องปล่อยให้มากนัก  สำหรับบ่อขนาดเนื้อที่  1  งาน  (400  ตารางเมตร)  ควรใช้พ่อแม่ปลานิลเพียง  50  คู่  หรือถ้าเป็นลูกปลาซึ่งมีขนาดเล็กก็ควรปล่อยเพียง  400  ตัว  หรือ  1  ตัวต่อ  1  ตารางเมตร โดยเวลาปล่อยปลา  เวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปล่อยปลา  ควรเป็นเวลาเช้าหรือเวลาเย็น  เพราะระยะเวลาดังกล่าวนี้อุณหภูมิของน้ำไม่ร้อนเกินไป  ก่อนที่จะปล่อยปลา  ควรเอาน้ำในบ่อใส่ปนลงไปในภาชนะที่บรรจุปลา  แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ  2-3  นาที  เพื่อให้ปลาคุ้นกับน้ำใหม่เสียก่อน  จากนั้นจึงค่อยๆ  จุ่มปากภาชนะที่บรรจุปลานิลลงบนผิวน้ำพร้อมตะแคงภาชนะปล่อยให้ปลาแหวกว่ายออกไปอย่างช้าๆ

การให้อาหาร 

ปลานิลเป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกชนิด  ดังนั้นปลาชนิดนี้จึงเป็นปลาที่ให้ผลผลิตสูง  โดยเฉพาะพวกอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ  เช่น  ไรน้ำ  ตะไคร่น้ำ  ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์เล็กๆ  ที่อยู่ในบ่อ  ตลอดจนสาหร่ายและแหน  ถ้าต้องการให้ปลาโตเร็วควรให้อาหารสมทบ  เช่น  รำ  ปลายข้าว  กากถั่วเหลือง  กากถั่วลิสง  กากมะพร้าว  แหนเป็ดและปลาป่น  เป็นต้น  การให้อาหารแต่ละครั้งไม่ควรให้ปริมาณมากจนเกินไปควรกะให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของปลาเท่านั้น  ส่วนมากควรเป็นน้ำหนักราว  5%  ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง  ถ้าให้อาหารมากเกินไป  ปลาจะกินไม่หมด  เสียค่าอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์  และยังทำให้น้ำเน่าเสีย  เป็นอันตรายแก่ปลาได้ 

การเจริญเติบโต

ปลานิลเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตเร็ว  

เลี้ยงในเวลา  1  ปี  จะมีน้ำหนักถึง  500  กรัมและเป็นปลาที่แพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว  พ่อแม่ปลาซึ่งมีขนาดโตเต็มที่  เมื่อปล่อยลงเลี้ยงในบ่อ  จะเริ่มว่างไข่ภายใน  2-3  สัปดาห์  ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ชุดนี้จะเริ่มวางไข่ได้ต่อไปอีกเมื่อมีอายุประมาณ  3-4  เดือน ด้วยเหตุที่ปลานิลแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว  ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะปล่อยให้จำนวนของปลาในบ่อมีปริมาณมากจนเกินไป หากพบว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  ควรจะจับลูกปลาแบ่งออกไปเลี้ยงยังบ่ออื่นบ้าง เพราะถ้าปล่อยให้อยู่กันอย่างหนาแน่น  ปลาก็จะไม่เจริญเติบโตและจะทำให้อัตราการแพร่พันธุ์ลดน้อยลงอีกด้วย

ข้อมูลเนื้อหา nbdcthailand.com
เรียบเรียง นางสาวสุริษา  กิ่งวงค์ษา

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ นางสาวสุริษา  กิ่งวงค์ษา

ข้อมูล TKP อ้างอิง https://shorturl.asia/yzUrp