ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนตำบลนาขมิ้น

ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอผ้ามัดหมี่ตำบลนาขมิ้น อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม การทอผ้ามัดหมี่ในพื้นที่ตำบลนาขมิ้น โดยทั่วไปการทอผ้ามัดหมี่ของผู้ทอผ้า ส่วนใหญ่จะเลือกใช้เส้นไหมจากผู้ผลิตเส้นไหมในชุมชน ไหมที่ใช้เป็นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน ลายมัดหมี่ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ การมัดหมี่และย้อมสีจะทำด้วยตนเอง ใช้สีเคมีในการย้อมเส้นไหม ประสบการณ์ในการทอผ้ามัดหมี่มากกว่า 10 ปี ลายผ้าไหมมัดหมี่ที่ทอเป็นลวดลายพืชพันธุ์ดอกไม้ ขั้นตอนที่ชำนาญที่สุดคือการทอลวดลายผ้า ในการทำผ้ามัดหมี่จะมีการรวมกลุ่มหรือจัดตั้งกลุ่ม ผ้ามัดหมี่ที่ทอได้จะมีไว้เพื่อขายและใช้ในครัวเรือน ส่วนการถ่ายทอดความรู้การทอผ้าไหมมัดหมี่จะใช้วิธีการถ่ายทอดโดยการช่วยฝึกให้ทำ
คำว่า “ผ้ามัดหมี่” เป็นชื่อที่เรียกกรรมวิธีการทอผ้าอย่างหนึ่ง ที่นำเอาเส้นด้ายมามัดเป็นเปลาะๆ ตามลายแล้วนำไปย้อมสีให้เกิดสีสัน และลวดลายตามที่ต้องการเรียกวิธีการมัดย้อมแบบบ้านหมี่ ต่อมาจึงเหลือเพียง “มัดหมี่” ผ้าที่ทอจากเส้นด้ายที่มัดหมี่ จึงเรียกว่า “ผ้ามัดหมี่” ซึ่งความงดงามและความเป็นเอกลักษณ์ของผ้ามัดหมี่ คือ รอยสีที่ค่อย ๆ ซึมในเนื้อผ้าที่ติดกับลวดลาย ทำให้ได้ลวดลายที่แปลกตา เพิ่มความงดงามและความมีเสน่ห์ให้แก่ผ้ามัดหมี่ ในสมัยก่อนจะทอกันในช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากฤดูทำนา ผ้าที่นำมาทอจะเป็นผ้าซิ่นลายมัดหมี่ ผ้าขาวม้า และเครื่องนุ่งห่ม เพื่อใช้ในครัวเรือน
การทอผ้ามัดหมี่ถือเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยมีแรงจูงใจในการอนุรักษ์ลายโบราณ และเพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และเป็นการสืบทอดเอกลักษณ์ ภูมิปัญญาของท้องถิ่นในการทอผ้ามัดหมี่ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้นิยมใช้ผ้าไทยกันอย่างแพร่หลาย สร้างสรรค์ลวดลายให้มีความหลากหลายและทันสมัย แต่ยังคงคุณลักษณะผ้าทอพื้นเมืองแบบดั้งเดิมอยู่ โดยการผสมผสานลวดลายโบราณตามความเชื่อ ความศรัทธา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชาวบ้าน และตามจินตนาการ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทออันประณีตและทรงคุณค่า อีกทั้งเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาควรค่าแก่การอนุรักษ์โดยในแต่ละชุมชน ครัวเรือน ในหมู่บ้านในพื้นที่ทั้ง 16 หมู่บ้านของตำบลนาขมิ้น ก็จะมีอย่างน้อย 1 กลุ่ม หรือ 2-3 ครัวเรือนที่จะยังประกอบอาชีพการทอผ้ามัดหมี่ เป็นอาชีพหลักเพื่อยังคงเป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอบทอดต่อกันมา ไม่ให้เลือนหายไปตามยุคสมัย และยังคงส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับลูกหลาน และผู้ที่สนใจได้มาศึกษาและสืบทอดต่อไป