แหล่งเรียนรู้ชุมชน

ที่มาของภาพ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

แหล่งเรียนรู้ในอำเภอบางบัวทอง : วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ ฝ่ายมหายาน

สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่เลขที่ 75 หมู่ 4 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัด นนทบุรี 11110 โทร. 0-2571-1155 หรือ 0-2920-2131 โทรสาร. 0-2571-1155 เว็บไซต์ www.watboromracha.org


ประวัติความเป็นมา

วัดแห่งนี้เดิมเป็นเพียงโรงเจขนาดเล็ก ต่อมาพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง

มหาเถระ) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาสและเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย ได้พัฒนาโรงเจและวัดโพธิ์ทองซึ่งเป็นวัดจีนเล็ก ๆ ได้ซื้อที่ดินบริเวณนั้นเพื่อขยายพื้นที่สำหรับสร้างวัดขึ้นใหม่ในเนื้อที่รวม 12 ไร่

คณะสงฆ์จีนนิกายได้มอบหมายให้พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (เย็นเซี้ยว) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างวัด พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) เป็นประธานที่ปรึกษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จทรงเป็นประธานวางศิลาฤกษ์วัด เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างถึง 12 ปีจึงแล้วเสร็จ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า “วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์” สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา มาทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2551

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จทรงประกอบพิธีตัดลูกนิมิตอุโบสถ

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สิ่งสำคัญภายในวัด

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ สร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรม

จีนประเพณี ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมจีนยุคราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง โดยจำลองมาจากพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน การตกแต่งทั้งภายนอกและภายในอาคารทุกหลัง เป็นศิลปะจีนที่มีความสวยงาม และมีรายละเอียดการตกแต่งที่ประณีตยิ่ง โดยทางวัดได้เชิญช่างฝีมือชั้นครูจากประเทศจีนมาดำเนินการก่อสร้างโดยตรง การกำหนดพื้นที่และการตั้งอาคารต่าง ๆ ภายในวัดเป็น 4 ชั้น คือ

ชั้นที่ 1 เป็นที่ตั้งของอาคารหอฉัน กุฏิพระสงฆ์สามเณร

ชั้นที่ 2 เป็นที่ตั้งของวหารจัตุโลกบาล หอกลอง หอระฆัง หอธรรม วิหารบูรพาจารย์

ชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งของอุโบสถ วิหารพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ

ชั้นที่ 4 วิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ เมื่อเดินผ่านประตูวัดด้านหน้าเป็นทางเดิน สองข้างทางเดินเป็นสวนที่ปลูกต้นไม้ไว้ร่มรื่น และสวนหย่อมที่สวยงาม บันไดขึ้นสู่วิหารจัตุโลกบาลมีหอกลองตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวิหารจัตุโลกบาล กลองที่อยู่ในหอกลองนั้นเป็นกลอง 2 หน้า ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทางทิศตะวันตกของวิหารจัตุโลกบาล เป็นที่ตั้งของหอระฆัง ภายในวิหารจัตุโลกบาลมีรูปหล่อขนาดใหญ่ 4 องค์เทพ ผู้เป็นหัวหน้าเหล่าเทวดาบนสวรรค์และมีหน้าที่รักษาทิศทั้ง 4 นอกจากนั้นยังมีรูปหล่อเทพต่าง ๆ อีก 8 องค์


อุโบสถ

ตั้งอยู่บนฐานไพทีชั้นที่ 3 เป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่กว่าอาคารอื่น มีกำแพงแก้วล้อม 2 ระดับ ผนังด้านหน้าอุโบสถประดับด้วยแผ่นหินสลักพุทธประวัติ เป็นงานของช่างจีนจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีความสวยงามมาก ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ คือ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตตาภพุทธเจ้า และพระไภษัชคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ แต่ละองค์มีขนาดใหญ่ ปิดทองแลเหลืองอร่ามสีทองสุกปลั่งประทับนั่งบนดอกบัวมีประภามณฑลอยู่ด้านหลัง ด้านขวาและด้านซ้ายของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 องค์ มีรูปหล่อพระมหากัสสปะและพระอานนท์ยืนถวายอภิวาทแด่พระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ที่ผนังอุโบสถประดิษฐานรูปหล่อพระอรหันต์ 18 องค์ และแผ่นไม้ขนาดใหญ่แกะสลักเป็นภาพพุทธประวัติ อดีตพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์และพระอรหันต์ต่าง ๆ ภายในและภายนอกอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมเขียนสีแบบศิลปะจีนที่งดงามและเขียนคาถาศักดิ์สิทธิ์ตัวอักษร 6 ตัว คือ “โอม มา นี ปะ หมี่ ฮง”

อุโบสถได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2549 ตรงมุมผนังอุโบสถมีใบเสมาหินอ่อนแบบเสมาไทยติดอยู่ แสดงเขตของการทำสังฆกรรมของพระสงฆ์จีน ซึ่งเป็นการอนุโลมตามพระวินัยที่คณะสงฆ์ไทยฝ่ายเถรวาทถือปฏิบัติ


วิหารพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่หลังอุโบสถ ชั้นล่างเป็นที่ประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์หรือพระกวนอิมมหาโพธิสัตว์ ปางพันมือพันตา องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ทำจากไม้สัก พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์สหัสเนตรสหัสกรหรือปางพันตาพันมือนี้ เปรียบเสมือนว่าพระองค์ได้ใช้พระเนตรพันดวงตรวจดูเหล่าสรรพสัตว์ทั่วสากลโลกว่า มีความสุขความทุกข์ประการใด พระองค์พร้อมที่จะช่วยโอบอุ้มเหล่าสรรพสัตว์ทั่วสากลโลกให้พ้นจากความทุกข์เข็ญ ด้วยพระหัตถ์พันกรของพระองค์ ซึ่งเป็นความเมตตากรุณาและเป็นความอนุเคราะห์ของพระมหาโพธิสัตว์ที่ทรงบำเพ็ญช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากวัฏสงสารอันเป็นทุกข์นั้นได้

วิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ

วิหารสุขาวดีหมื่นพุทธอยู่บนชั้น 2 ของอาคารที่อยู่ด้านหลังอุโบสถ ที่ชั้นล่างเป็นวิหารพระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์พันเนตรพันกร วิหารนี้ประดิษฐานองค์พระอมิตตาภพุทธเจ้า พระอวโลกิเตศวร และพระมหาสตามปราบตโพธิสัตว์ ปางประทับยืนทั้ง 3 องค์ ที่ผนังวิหารประดิษฐาน นอกจากนี้ยังมีอาคารอื่น ๆ อาทิ หอธรรม วิหารบูรพาจารย์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม


การบริหารการปกครอง

ปัจจุบัน พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (เย็นเซี้ยว) รองเจ้าคณะใหญ่คณะสงฆ์จีนนิกาย เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส

ที่มา : พิศาล บุญผูก. วัดในอำเภอบางบัวทอง = Temples in Bangbuathong. Nonthaburi. นนทบุรี : โครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษา เพื่อส่งเสริมบริการ ห้องสมุดสู่ชุมชน สำนักบรรณ สารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2551.

ที่มาของภาพ : travelkapook.com

ที่มาของภาพ : tiewgan.com

ที่มาของภาพ : TrueID Travel