แหล่งเรียนรู้ การทำน้ำหมักชีวภาพ


น้ำหมักชีวภาพ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดจากเกษตรกรนำเศษพืช สัตว์ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นไปหมักกับกากน้ำตาล และนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายท้องถิ่น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีการผลิตการนำน้ำหมักไปใช้แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของวัตถุดินที่ใช้กรรมวิธีในการหมัก ระยะเวลาที่หมัก ตลอดจนวิธีใช้กับพืชและการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ พอจะแยกชนิดและอัตราส่วนในการผลิตตามวัสดุหลักที่ใช้ผลิตน้ำหมักชีวภาพได้ 2 ประเภท คือ

1. น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากพืช ได้แก่ ผักต่างๆ ผลไม้ วัชพืช ตลอดจนพืชสมุนไพร ที่ใช้อัตราส่วน ผัก ผลไม้ วัชพืช พืชสมุนไพร 3 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน

2. น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากสัตว์ ได้แก่ ปลาเล็ก หอยเชอรี่ เปลือกกุ้ง กระดองปู แมลง เศษชิ้นส่วนของสัตว์ ไข่ ในอัตราส่วนของสัตว์ 3 ส่วน กากน้ำตาล 3 ส่วน

กระบวนการที่เกิดขึ้นจุลินทรีย์ต่างๆมีทั้งที่ต้องการและไม่ต้องการออกซิเจนจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยใช้กากน้ำตาลเป็นแหล่งพลังงาน ผลิตเอนไซม์ออกมาทำการย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ต่างๆ จากวัสดุที่นำมาใช้เป็นวัสดุหลักในการหมักเหล่านั้นให้มีโมเลกุลเล็กลง บางส่วนถูกนำไปใช้ในการสร้างเซลล์ใหม่ ส่วนที่เหลือจะปะปนอยู่ในของเหลวที่เกิดจากการหมัก ดังนั้น ในน้ำหมักชีวภาพที่ได้จะประกอบด้วย น้ำ จุลินทรีย์ต่างๆ ทั้งที่มีชีวิต และซากจุลินทรีย์ สารประกอบอินทรีย์ต่างๆ ธาตุอาหารพืช และเศษชิ้นส่วนวัสดุที่นำมาหมัก ปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาหมัก ชนิดของจุลินทรีย์ที่ทำการย่อยสลาย สภาพแวดล้อมในการหมักและระยะเวลาที่ทำการหมัก

ประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพด้านการเกษตร ใช้ฉีดพ่นหรือเติมในดินหรือน้ำ ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ในดินและน้ำ ช่วยปรับสภาพโครงสร้างของดินทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี ช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในดิน ช่วยเพิ่มอัตราการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดินและน้ำ ใช้รดต้นพืชหรือแช่เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์เพื่อเร่งการเกิดราก และการเจริญเติบโตของพืช เป็นสารที่ทำหน้าที่เหมือนฮอร์โมนพืชกระตุ้นการเกิดราก ใช้ฉีดพ่นในแปลงเกษตรช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ช่วยในการแตกตาดอก เพิ่มความแข็งแรง ช่วยต้านแมลงศัตรูพืช และลดจำนวนแมลงศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตและคุณภาพสูงขึ้น ปัจจุบันน้ำหมักชีวภาพที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและได้รับความนิยมในการปลูกผักอินทรีย์

ดังนั้นแล้ว เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา รวมทั้งต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต แหล่งผลิต และบรรจุภัณฑ์หีบห่อด้วย แต่ถ้าหากจะนำ "น้ำหมักชีวภาพ" มาใช้ในครัวเรือน หรือการเกษตร ลองทำง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ก็จะปลอดภัยและประหยัดที่สุด