แหล่งเรียนรู้ตาม

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

แหล่งเรียนรู้ชุมชนด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บ้านหนองโสน

แหล่งเรียนรู้ชุมชนด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งอยู่บ้านหนองโสนบ้านเลขที่ 163 หมู่ 10 ตำบลหนองปล้อง อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีนายเสกสรร ยอดธูป ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 ตำบล หนองปล้อง เป็นบุคคลต้นแบบในด้านการเกษตรพอเพียง และได้นำเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบแนวคิด ซึ่งมุ่งให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเกิดความยั่งยืน คำว่า พอเพียง คือ การดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง โดยตั้งอยู่บนหลักสำคัญสามประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยการดำรงชีวิตตามหลักการทั้งสามข้อนั้น จำเป็นต้องมีความรู้และคุณธรรมประกอบด้วย ความรู้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม เช่น ความรู้ในการประกอบวิชาชีพช่วยให้ธุรกิจและการงานเจริญก้าวหน้า หรือความรู้ในการลงทุนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้นักลงทุน ทั้งนี้ ความรู้และประสบการณ์ จะช่วยทำให้เราตัดสินใจได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ถึงแม้ว่า พื้นฐานความคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างกันอาจทำให้เหตุผลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่หากทุกคนยึดมั่นอยู่ในหลักคุณธรรมก็จะทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างสงบสุข

อย่างที่กล่าวมาข้างต้น การพึ่งพาตัวเองได้เป็นเพียงส่วนเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเมื่อทุกคนสามารถดูแลตัวเอง และครอบครัวได้แล้ว จะเห็นได้ว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ด้วยการใช้ความรู้และคุณธรรม เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้ และเผื่อแผ่ไปถึงสังคม ซึ่งเราสามารถนำหลักการปฏิบัติไปปรับใช้ได้ทั้งในชีวิตการทำงาน และการดำรงชีวิต นายเสกสรร ยอดธูป ได้มีการเล่าว่าก่อนที่จะมาเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เดิมด้านหลังเป็นที่โล่งกว้าง ไม่ได้ปลูกอะไรไม่เกิดประโยชน์จนกระทั่งนายเสกสรร ยอดธูป ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้และมีแนวคิดริเริ่ม ปรับเปลี่ยนพื้นที่จนบ้านนายเสกสรร ยอดธูป ได้มีการบริหารจัดการพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ 30:30:30:10 ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยพื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่างๆ พื้นที่ส่วนที่สอง 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน สำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปีเพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์และโรงเรือนอื่น ๆ แหล่งเรียนรู้ชุมชนแห่งนี้ ได้มีการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างชัดเจน มีการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำและเลี้ยงปลา มีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน และสามารถนำไปจำหน่ายได้ โดยที่ผักที่ปลูกนั้น เป็นผักปลอดสารพิษตามวิถีเกษตรธรรมชาติไม่พึ่งสารเคมี นอกจากนี้ยังมีการปลูกไม้ผลยืนต้น เช่น มะละกอ ฝรั่ง มะม่วง มะนาว ฯลฯ ไว้บริโภคในครัวเรือนโดยที่ ไม่ต้องไปซื้อตามท้องตลาด และยังมีการเลี้ยงกบไว้บริโภคและจำหน่ายภายในชุมชน แหล่งเรียนรู้แห่งนี้เคยได้เข้าร่วมประกวดตามโครงการหน้าบ้านสวยหลังบ้านสวนของหมู่บ้านได้ลำดับที่ 1 ของชุมชน มีหน่วยงานต่างๆได้มาขอดูงานอย่างมากมาย

ความโดดเด่นของแหล่งเรียนรู้ชุมชนแห่งนี้ คือมีการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างชัดเจน แบ่งเป็นสัดส่วนและน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวบ้าน หรือหน่วยงานต่างๆ สามารถติดต่อขอดูงานที่บ้านนายเสกสรร ยอดธูป ได้โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือติดต่อได้ที่ เบอร์โทร 089-6434814

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวเหมือนฝัน มีสวัสดิ์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวเหมือนฝัน มีสวัสดิ์