อาชีพทอผ้า

บ้านหนองนกยาง

“การทอผ้า” อาชีพท้องถิ่น ของชาวตำบลหนองปล้อง

การทอผ้า หรือ "การทอ" ถือเป็นศิลปะและหัตถกรรมหรืองานฝีมืออย่างหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นกรรมวิธีการผลิตผืนผ้าโดยใช้เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนมาขัดประสานกันจนได้เป็นผืนผ้า ทั้งนี้ต้องมีเครื่องมือในการทอ เรียกว่า หูก หรือกี่ กิจกรรมการทอผ้านั้น นอกจากเป็นขั้นตอนการผลิตเครื่องนุ่งห่ม หนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์แล้ว ยังถือเป็นงานศิลปะประเภททัศนศิลป์ด้วย เนื่องจากมีการให้สีสันและลวดลายต่างๆ ในผืนผ้า ปัจจุบันแม้จะมีการใช้เครื่องจักรสำหรับทอผ้า ใช้คอมพิวเตอร์สำหรับการควบคุมการผลิตและออกแบบลายผ้า แต่การทอผ้าด้วยมือก็ยังเป็นศิลปะที่ได้รับการยกย่องและชื่นชมเสมอมา การทอผ้าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่คนไทยรุ่นปัจจุบันต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ในสมัยก่อน ผู้หญิงไทยจะทำเครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านเอง งานสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำเสื้อผ้า ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ไว้ใช้กันในครอบครัว ในพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย ก็ต้องใช้ผ้า ผ้าทอจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตคนไทย

อาชีพ “ทอผ้า”นั้นเป็นอาชีพแต่ดั้งแต่เดิมของชาวตำบลหนองปล้อง หมู่ 5 บ้านหนองนกยาง โดยมีโครงการส่งเสริมอาชีพและมีวิทยากรมาสอนในการทอผ้า และเกิดการรวมกลุ่มการทำอาชีพการทอผ้าของกลุ่มสตรีบ้านหนองนกยาง นั้น ก็ได้ทำสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น จึงกลายเป็นอาชีพในชุมชนรองลงมาจากอาชีพหลักคืออาชีพเกษตรกรรม หลังจากที่ได้ทำไร่ทำนาเสร็จแล้ว กลุ่มสตรี หมู่ 5 บ้านหนองนกยาง ก็ช่วยกันทอผ้าและประดิษฐ์คิดค้นลายใหม่ๆแกะลวดลายบนผ้าทออยู่เสมอ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด บ้างก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาเลือกซื้อ นำไปตัดเป็นเสื้อทีม หรือผ้าไทยไว้ใส่วันศุกร์ของหน่วยงานราชการรวมถึงเอกชน ทางกลุ่มสตรีทอผ้า จะไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง จะออกจำหน่ายตามงานอำเภอเคลื่อนที่และงานตามจังหวัด และก็มีช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ ผ้าทอขนาด 2 เมตร ราคา 600 บาท และ 300 บาท แล้วแต่เนื้อผ้าที่ทอและลวดลายบนผืนผ้า

กรรมวิธีและเทคนิคในการทอผ้าให้เกิดลวดลายต่างๆ เป็นเทคนิคและ ความสามารถของแต่ละคน หลักใหญ่ของการทอผ้าก็คือ การนำเส้นฝ้ายหรือไหมมาขัดกันให้เป็นลาย โดยขึงเส้นกลุ่มหนึ่งเป็นหลัก เรียกว่า เส้นยืน แล้วใช้อีกเส้นหนึ่ง เรียกว่าเส้นพุ่ง สอดตามขวางของเส้นยืน เมื่อสานขัดกันก็จะเกิดลวดลายต่างๆ ผ้าบางชนิดผู้ทอจะคิดหาวิธีสอดด้ายและสอดสีสลับกัน บางวิธีก็จะจับผูกและมัดเน้นเป็นช่วงๆ หรืออาจจะยกด้ายที่ทอเป็นระยะๆ ทำให้เกิดลวดลายสวยงาม ผู้ทอผ้าต้องสามารถจดจำลวดลายที่ตนคิดประดิษฐ์ได้ ถึงแม้แต่ละลวดลายจะมีความซับซ้อนและหลากหลาย แต่เขาก็สามารถนำมาประสานกันได้อย่างเหมาะเจาะงดงามแสดงถึงภูมิปัญญา,อาชีพท้องถิ่น และความสามารถของชาวชนบทเป็นอย่างดี ผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยที่ทอกันตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยลวดลายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งผู้ใช้ผ้าในยุคปัจจุบันอาจไม่เข้าใจความหมายและมองไม่เห็นคุณค่า ลวดลายและสัญลักษณ์เหล่านี้ บางลายก็มีชื่อเรียกสืบต่อกันมาหลายชั่วคน สัญลักษณ์และลวดลายบางอย่างก็เชื่อมโยงกับคติและความเชื่อของคนไทยพื้นบ้านที่นับถือสืบต่อกันมาหลาย ๆ ชั่วอายุคน และยังสามารถเชื่อมโยงกับลวดลายที่ปรากฏอยู่ในศิลปะอื่น ๆ เช่น บนจิตรกรรมฝาผนัง และสถาปัตยกรรม หรือบางทีก็มีกล่าวถึงใน ตำนานพื้นบ้าน และในวรรณคดี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ศิลปะผ้าทอไทยอันมีประวัติยาวนานและมีความมั่งคั่งหลากหลาย ซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณจนทุกวันนี้ ตกอยู่ในมือของคนรุ่นเราและรุ่นหลังจะรักษาต่อไป

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวเหมือนฝัน มีสวัสดิ์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวเหมือนฝัน มีสวัสดิ์