เทศกาล “ดูปูแป้น ชื่นชมธรรมชาติ” มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสัมผัสธรรมชาติป่าชายเลนจำนวนมากมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การแข่งขันกินส้มตำปูแป้น แข่งขันกินก๋วยเตี๋ยวผัดปูแป้น แข่งขันลอกใบจาก แข่งขันต่อจิ๊กซอทะเล ชักเย่อพระบาทเกวียน ตกปู ตกกุ้ง ตกปลา และการหาหอยพอก การจัดเทศกาลดูปูแป้น ในครั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนตำบลเกวียนหัก ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ส่งเสริมการเรียนรู้และศึกษาระบบนิเวศน์ป่าชายเลน และ เป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของตำบลเกวียนหักให้เป็นที่รู้จักกัน อย่างแพร่หลาย สำหรับป่าชายเลนในตำบลเกวียนหักนี้ จะมีความอุดมสมบูรณ์มากจึงทำให้มีปูแป้น และสัตว์น้ำต่าง ๆ มากมาย ด้วยเหตุนี้เองพอถึงฤดูวางไข่ ปูแป้นก็จะลอยออกมาในช่วงที่น้ำใหญ่ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เห็นปูแป้นจำนวนมากมายออกมาลอยเพื่อออกไปวางไข่บริเวณปากแม่น้ำ นอกจากจะเห็นปูแป้นนับพันๆ ตัวแล้วนักท่องเที่ยวยังได้สัมผัสกับแสงที่สวยงามของหิ่งห้อยจำนวนมากที่เกาะอยู่บนต้นลำพูท่ามกลางป่าชายเลน ที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย


เทศบาลตำบลเกวียนหัก ร่วมกับชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ประกอบการเรือเล็กและกลุ่มชาวบ้าน จัดงานดูปูแป้นชมธรรมชาติ ได้รับความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชนในท้องถิ่น โดยมีกิจกรรมนั่งเรือดูปูแป้นเป็นไฮไลต์ แปลกไม่เหมือนใครและได้พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชาวบ้านได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่ใช้ป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ โดยการท่องเที่ยวจะพัฒนาตามวิถีชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เสริม


ตำบลเกวียนหัก มีทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนผืนใหญ่ เป็นเขตอนุรักษ์ลุ่มน้ำชั้นเอ ก่อนหน้านี้เคยมีการทำนากุ้งจนสภาพแวดล้อมเสียไป เมื่อนากุ้งหมดไปร่องรอยความสมบูรณ์กลับคืนมา การจัดกิจกรรม ดูปูแป้น ชมธรรมชาติ เป้าหมายหลัก ต้องการให้ชุมชนและนักท่องเที่ยวเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและช่วยกันรักษ์ไว้ให้คงอยู่และรายได้เสริมคือสิ่งที่ตามมา และการอนุรักษ์ต้องสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนจึงจะเป็นการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

ปูแป้น คือ อะไร ปูแป้น มีหลายชื่อ นอกจากชื่อปูแป้น แล้วยังมีปูจาก หรือปูใบไม้ มีขนาดตัวเล็ก ประมาณ 5-7 เซนติเมตรเท่านั้น กระดอง มีสีน้ำตาลแซมสีเหลือง เนื่องด้วย ความที่กระดอง มีลักษณะแบนและแป้น จึงถูกชาวบ้านเรียกว่าปูแป้น



ปูแป้น ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับปูแสม แต่ว่าผิวของกระดองเรียบกว่า และมีขนาดตัว ที่เล็กกว่าปูแสม แต่เป็นปูที่ไม่มีการขุดรูอยู่ จะอาศัย หลบอยู่ตามโคนต้นไม้ ในช่วงกลางวัน และในช่วงกลางคืน ปูแป้น ก็จะทำการออกหากินส่วนมาก สามารถพบได้ทั่วไป ของหลายจังหวัดในประเทศไทย ไม่ว่า จะเป็นทั้งทางภาคตะวันออก แม้กระทั่งทางฝั่งอ่าวไทย ยาวไปจนถึง ภาคใต้ทั้ง 2 ฝั่งทะเลด้วย ปูแป้น ซึ่งถือเป็นปู 2 น้ำ เพราะว่า ตอนที่เป็นตัวอ่อน ตอนเป็นปูเด็ก ๆ ก็จะอาศัยอยู่ในทะเล

จากนั้น เจ้าปูแป้น ก็จะลอยตามน้ำ ขึ้นมาอาศัย ในน้ำจืดหรือน้ำกร่อย จน โตเต็มวัย เข้าสู่ฤดูสืบพันธุ์ เจ้าปูแป้น ก็จะไปผสมพันธุ์ แล้วก็ไปปล่อยไข่ ไว้ในทะเล ช่วงสืบพันธุ์ของปูแป้น ก็จะอยู่ในช่วง เดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม โดยจะพบมากที่สุด ในประเทศไทย แถว ๆ บริเวณ ลำคลองที่อยู่ใน ต.เกวียนหัก อ.ขลุง จ.จันทบุรี เนื่องจากสาเหตุนี้ จึงทำให้ เกิดงาน เทศกาล ดูปูแป้น ของจังหวัดจันทบุรี นั่นก็คืองานนี้นี่เอง


ข้อมูล:ข่าวชาวบ้าน

ภาพ:ข่าวชาวบ้าน,ไร่เราเองเวลลี่คัม

เรียบเรียง:นายคุ้มเกล้า แสงคำหมี